2020 ทศวรรษแห่ง Transformative Growth
ทันทีที่เข็มนาฬิกาของทศวรรษใหม่เริ่มเดิน การคาดการณ์อนาคตในอีกสิบปีข้างหน้าก็ตามมา ความเปลี่ยนแปลงของทศวรรษที่แล้วกำลังนำไปสู่สิ่งที่ทำให้ผู้คนสัมผัสได้ทั้ง “ความหวัง” และ “ความกลัว”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยีที่ได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงมากมายในทศวรรษที่ผ่านมา ปี 2010-2019 คือยุคของ Digital Transformation ยุคที่ทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆได้เข้าสู่กระแสหลัก เช่น AI IoT Blockchain ยุคที่ E-Commerce และบริการแบบ On-Demand กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมืองใหญ่ ยุคที่ทำให้เกิด Unicorn และ Decacorn สตาร์ทอัพที่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Uber Grab Instagram Airbnb Spotify ยุคที่ Corporate ใหญ่ถูก Disrupt ในช่วงแรกแต่ในที่สุดกลับตัวทันหันมา Disrupt ตัวเอง ด้วยการเร่งพัฒนานวัตกรรมหรือซื้อกิจการสตาร์ทอัพที่เป็น Disruptor เพื่อลงมือสร้างฐานธุรกิจใหม่ที่เข้มแข็งกว่าเดิม ยุคที่ IPO กลายเป็นจุดตายมากกว่าจุดโตของธุรกิจสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่หลายรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมา ยุคที่หลายคนบอกว่า Digital Startup กำลังจะถึงทางตัน เพราะยุคของ Mobile Application กำลังจะผ่านไปแล้ว
มีคำถามต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย กับก้าวใหม่ทศวรรษใหม่เช่น สปีดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความเร็วในการเปิดรับสิ่งใหม่ของผู้คนจะรวดเร็วกว่าเดิมแค่ไหน ? เราต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร? 5G จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่และพลิกโฉมอุตสาหกรรมเดิมอย่างไร? ธุรกิจอะไรจะหายไปและจะมีโมเดลธุรกิจอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นมาในโลกนี้บ้าง? บริษัทยักษ์ใหญ่และสตาร์ทอัพรายไหนจะ Grow หรือ Go (out of business)? โมเดลการสร้างธุรกิจพันล้านหรือการระดมทุนในทศวรรษใหม่นี้จะเดินตามเดิมหรือเปลี่ยนรูปแบบไปโดยสิ้นเชิง? องค์กรธุรกิจจะเดินไปสู่การผูกขาดทางนวัตกรรมหรือไม่ในทศวรรษใหม่ Post Disruption? ทั้งหมดนี้อาจยังเป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้รับรู้ว่า เส้นทางข้างหน้ามีไว้สำหรับผู้ที่พร้อมจะ Transform ตัวเองเท่านั้น เพราะแค่ “Change” ก็อาจไม่เพียงพอที่จะประคับประคองสถานะและสร้างความเติบโตให้เกิดขึ้นได้ทั้งในมุมธุรกิจและเทคโนโลยี
บทวิเคราะห์ล่าสุดของ Harvard Business Review ที่เอาข้อมูลการสำรวจของบริษัท Innosight ที่นำเอาผลประกอบการขององค์กรธุรกิจในโลกหลายร้อยบริษัทในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (2010-2019) มาประเมินและสรุปผลหาองค์กรที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุด 20 บริษัทในการ “Transform” นั่นคือมีผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่องและยังสร้าง Business Impact โดยทำให้เกิดนวัตกรรมและโมเดลใหม่ในการทำธุรกิจ ความน่าสนใจของผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็คือ องค์กรที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นองค์กรที่ 1) สร้าง “New Growth” 2) ปรับเปลี่ยนจุดยืนทางการแข่งขันของธุรกิจเดิม (Repositioning) แบบมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ผลประกอบการทางการเงินพลิกฟื้นจากขาดทุนเป็นเติบโตและสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนถึงแม้จะต้องผ่านวิกฤติและสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ตัวอย่างของสามบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการ Transform ตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ Netflix ที่พลิกธุรกิจจากการเป็นแค่ผู้ให้บริการ Video Streaming มาเป็นผู้ผลิต Original Content ของตัวเอง ตั้งแต่ปี 2012 และปัจจุบันรายได้กว่า 44% ของธุรกิจทั้งหมดมาจากคอนเทนต์ที่ผลิตเอง ทำให้มีการเติบโตของผลกำไรเฉลี่ยเกือบ 30% จากปี 2012 จนถึงปัจจุบัน ORSTED จากเดนมาร์กเป็นอีกบริษัทที่ Transform ตัวเองแบบที่ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจพลังงานดั้งเดิมที่ผลิตก๊าซ น้ำมันและถ่านหินจะกลับตัวมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจะมีโครงสร้างธุรกิจพลังงานที่เป็นพลังงานทางเลือกถึง 99% ภายในห้าปี ปัจจุบันผลกำไรของ ORSTED กว่า 93% มาจากพลังงานทดแทนและเติบโตเฉลี่ยกว่า 30% ตั้งแต่ปี 2017 อีกหนึ่งบริษัทที่น่าสนใจมากกับเส้นทางการ Transform ตัวเองคือ Philips ที่เราคุ้นเคยกันดีกับธุรกิจหลักคือ Philips Lighting ปัจจุบัน Philips ผันตัวเองไปเป็นบริษัทที่โฟกัสเรื่อง Health Tech แบบเต็มรูปแบบโดยใช้เวลา สิบปีที่ผ่านมา Transform ธุรกิจ เปลี่ยนชื่อธุรกิจ Lighting เป็นชื่อบริษัท Signify และคงถือหุ้นอยู่ในธุรกิจ Lighting เพียงแค่ 16% ในขณะที่ธุรกิจหลักปัจจุบันคือ Health Tech ทำรายได้เกินกว่า 65% ของภาพรวมธุรกิจทั้งหมด
องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Transformative Growth มีจุดร่วมเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ การมี Leadership Team บอร์ดบริหารและผู้ถือหุ้นที่เชื่อมั่นในทิศทางใหม่ที่ต้องการจะไป เพราะ Pain ใหญ่ที่สุดของการสร้าง New Growth และการปรับเปลี่ยน Core Business ก็คือความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงในช่วงแรกสำหรับทุกองค์กร แต่ข่าวดีสำหรับทศวรรษใหม่นี้ก็คือผู้บริหารองค์กรคงไม่จำเป็นต้องโน้มน้าวบอร์ดหรือผู้ถือหุ้นอีกแล้ว เพราะความจริงที่ไล่ล่าอยู่ในขณะนี้ก็คือ ทางเลือกเดียวที่จะทำให้ธุรกิจยังยืนหยัดต่อไปได้ในอีกสิบปีข้างหน้าหมายถึงการบริหารความเสี่ยงด้วยการสร้าง Transformative Growth และหาจุดแลนดิ้งที่เหมาะสมให้กับธุรกิจดั้งเดิมที่ยังต้องดิ้นรนเพื่อจะให้เติบโตทั้ง Top line และ Bottom line !