'สนธิรัตน์' คลอด 2 มาตรการสกัดลักลอบนำเข้า 'ซีพีโอ' สุ่มตรวจทางเคมีถังเก็บบี100
“สนธิรัตน์” คลอด 2 มาตรการสกัดลักลอบนำเข้า “ซีพีโอ” เตรียมสุ่มตรวจทางเคมีที่ถังเก็บบี100 คาดเริ่มดำเนินการไตรมาส 2 ปีนี้ จ่อติดตั้งมิเตอร์ที่ถังบี100 คาดเสร็จสิ้น ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 63 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงนเตรียมดำเนินการใน 2 มาตรการสำคัญป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มอย่างยั่งยืน โดยมาตรการแรกจะนำเทคนิคทางวิทยาศาสตร์และสถิติขั้นสูงมาวิเคราะห์ข้อมูล หรือ การวิเคราะห์โครงสร้างองค์ประกอบทางเคมีในน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบอย่างบูรณาการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา พัฒนาระบบที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของน้ำมันปาล์มดิบ
โดยกระทรวงพลังงาน จะใช้มาตรการดังกล่าวเข้าไปกำกับดูแลสต็อก CPO ในโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100%(B100) ที่จะนำไปสู่การผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเกรดต่างๆ ทั้ง ดีเซล บี7,ดีเซล บี10 และดีเซล บี20 ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้รู้ถึงที่มาของ CPO ว่ามาจากประเทศไทย หรือ เป็นการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่า จะเริ่มดำเนินการสุ่มตรวจได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ให้สอดรับกับมาตรการกำหนดให้ทุกสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม)ทั่วประเทศจะต้องมีการจำหน่ายดีเซล บี10 ครบทุกปั๊มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 เป็นต้นไป
ขณะนี้ กรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวเพื่อนำมาสุ่มตรวจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีราคาต่อเครื่องประมาณ 3-5 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณของกระทรวงพลังงาน โดยหากตรวจสอบพบว่า เป็น CPO ที่เกิดจากการนำเข้าทางกระทรวงพลังงานจะมีบทลงโทษสูงสุดตามอำนาจคือ ปฏิเสธการสั่งซื้อCPO ดังกล่าว และส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการลงโทษตามข้อกฎหมายต่อไป
ส่วนมาตรการที่สอง คือ การติดตั้งมิเตอร์ Automatic Tank Gauge (ATG) ในการตรวจวัดปริมาณ B100 ทุกถังเก็บในคลังผู้ผลิต เพื่อติดตามปริมาณ B100 แบบเรียลไทม์ โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลฐานข้อมูลออนไลน์ เพื่อดูปริมาณ B100 ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน ได้สำรวจข้อมูลของโรงงานผลิต B100 ที่ปัจจุบันมีอยู่ 13 บริษัท 14 โรงงาน มีถังเก็บ B100 รวม 76 ถัง และได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 42 ถัง เหลืออีก 34 ถัง คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. และติดตั้งเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ เนื่องจากมีขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องใช้เวลา โดยการติดตั้งมิเตอร์ ATG จะใช้งบประมาณของกระทรวงพลังงานหลักสิบล้านบาท