ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความหวังของอุตฯเหล็ก
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เพียงเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังส่งอานิสงส์ไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ
เหล็ก จัดเป็นโลหะพื้นฐานที่จำเป็นต่อกิจกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลากหลาย ได้แก่ ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมเหล็กในไทยมุ่งเน้นผลิตเพื่อใช้ในประเทศมากกว่าส่งออก โดยสัดส่วนความต้องการใช้เหล็กในประเทศต่อปริมาณเหล็กที่ส่งออกประมาณ 91:9 ปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กในไทยสามารถผลิตเหล็กทรงยาวได้มากกว่าเหล็กทรงแบนในสัดส่วน 60:40 โดยเหล็กทรงยาวส่วนมากใช้ในภาคก่อสร้าง ขณะที่การใช้เหล็กทรงแบนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นธุรกิจต่อเนื่อง ของกลุ่มบริษัทในเครือต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
สินค้าเหล็กโดยรวมถูกนำไปใช้ในธุรกิจก่อสร้างมากที่สุดในสัดส่วน 57% ของการใช้ในประเทศทั้งหมด
ส่วนใหญ่เป็นประเภทเหล็กเส้น เหล็กโครงสร้าง รูปพรรณ และตะปู/น็อต รองลงมาเป็นธุรกิจยานยนต์ 18%
ธุรกิจเครื่องจักร 11% ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า 9% ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 4% และอื่นๆ 1%
ความต้องการใช้เหล็กทั้งปี 2562 คาดหดตัว โดยความต้องการเหล็กเส้น และเหล็กรูปพรรณมีแนวโน้มหดตัว 10.0% YoY อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการเหล็กแผ่นรีดร้อนคาดหดตัวประมาณ 9.0% YoY อยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่ลดลงของตลาด ภายในประเทศตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และความล่าช้าของการลงทุน ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ความต้องการใช้เหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณ (สินค้าหลักในกลุ่มเหล็กทรงยาว) อยู่ที่ 3.0 ล้านตัน หดตัว 10.1% YoY เนื่องจากคำสั่งซื้อจากภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ใช้เหล็กประเภทนี้ยังชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เผชิญอุปทานส่วนเกินที่สูงขึ้นตามภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐส่วนใหญ่จะเร่งก่อสร้างในปี 2563
เช่นเดียวกับความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อน (สินค้าหลักของผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน) ในช่วง 8 เดือนแรกที่หดตัว 8.2% YoY อยู่ที่ 4.4 ล้านตัน ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงในอุตสาหกรรมหลักที่ใช้เหล็กแผ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งยอดขายลดลงทั้งในประเทศและส่งออก ทั้งนี้ คาดว่าราคาเหล็กเส้น และราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งปี 2562 จะหดตัวจากปีก่อน ตามทิศทางราคาเหล็กในตลาดโลกและความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่ลดลง
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า วิจัยกรุงศรีคาดความต้องการเหล็กจากภาคเอกชนยังแผ่ว แรงหนุนสำคัญน่าจะมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยความต้องการใช้เหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำ 0-1% อยู่ที่ระดับ 4.5-4.7 ล้านตันต่อปี คำสั่งซื้อส่วนใหญ่จะมาจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเร่งการลงทุนด้านก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการใช้สำหรับงานก่อสร้างระยะแรก เช่น งานวางฐานราก และเสาของทางยกระดับโครงการรถไฟฟ้า
ขณะที่คำสั่งซื้อจากงานก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง จากสต๊อกเดิมที่ยังคงสูงและกำลังซื้อที่อาจยังกระเตื้องขึ้นไม่มากนัก ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อน มีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ประมาณ 6.3-6.5 ล้านตันต่อปี โดยคำสั่งซื้อหลักมาจากภาคการผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะยังทรงตัวตามภาวะกำลังซื้อในประเทศ อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟทางคู่ยังมีความต้องการใช้เหล็กรางและผลิตภัณฑ์เหล็ก จึงอาจช่วยเสริมความต้องการใช้เหล็กได้บ้าง
ดังนั้น การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ "ให้เกิดขึ้นจริง" จึงไม่เพียงมีความสำคัญต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว แต่ยังช่วยให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศเติบโตได้ต่อไป...