ทำไมไทยไม่มี Unicorn
ไขคำตอบ ทำไมสตาร์ทอัพไทยยังไปไม่ถึงระดับยูนิคอร์นสักที?
ผมได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ทำหน้าที่ดูแลการบ่มเพาะวิสาหกิจ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการและธุรกิจโดยเฉพาะในธุรกิจประเภท Startup
Startup มีความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปสามประเด็น
หนึ่ง เป็นธุรกิจที่มีการใช้นวัตกรรม และสามารถป่วนธุรกิจดั้งเดิมได้ (Disruption) เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพสินค้าและบริการที่ดีขึ้น
สอง เนื่องจากเป็นการสร้างธุรกิจในแบบจำลองใหม่ จึงเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเจ๊งสูง แต่ถ้าผ่านไปได้จะกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
สาม จากความเสี่ยงของธุรกิจ Startup นี่เอง ทำให้รูปแบบการจัดหาเงินทุนของ Startup แตกต่างจากธุรกิจดั้งเดิม คือมีลักษณะเป็นการแบ่งการจัดหาเงินทุนเป็นขั้น ๆ (Stage Financing) โดยมีตัวชี้วัดผลงานที่สะท้อนความสำเร็จในขั้นต่าง ๆ และไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผลประกอบการของธุรกิจ
ข้อกังขาที่หลายคนมักสงสัยคือทำไม Startup ยิ่งขาดทุน ยิ่งโต
อันนี้ผมว่าเป็นความเข้าใจผิดที่มองจากผลไปหาเหตุ
การโตของ Startup ไม่ใช่เกิดจากการ “ขาดทุน” แต่มาจากการ “ลงทุน”
เมื่อ Amazon เข้าตลาดหุ้นใหม่ ๆ ก็รายงานผลการขาดทุนแทบจะทุกไตรมาส แต่ราคาขยับขึ้นเอา ๆ ทั้งนี้เพราะผลการขาดทุนมาจากการตัดค่าเสื่อมที่ Amazon เอาไปลงทุนพัฒนาระบบคลังสินค้า จัดส่งสินค้า ตลอดจนสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์แม่ข่ายขนาดใหญ่
นักลงทุนให้ความสำคัญกับปัจจัยการลงทุนเหล่านี้ที่เป็นการ “สร้างอนาคต” ของบริษัท และมองข้ามผลขาดทุนปัจจุบันได้ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะนวัตกรรมเหล่านี้ทำให้ในที่สุด Amazon สามารถสร้างผลกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะระบบ Cloud ของ Amazon ที่ให้บริการบริษัทอื่นจากประสิทธิภาพที่เหลือทำกำไรให้ Amazon มากกว่าการขายหนังสือหรือสินค้าที่เป็นจุดกำเนิดด้วยซ้ำ
- ทำไมไทยไม่มี Unicorn
ก่อนอื่นทำความเข้าใจว่า Unicorn คือ Startup ที่มีมูลค่าบริษัท (Market Valuation) มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือสามหมื่นล้านบาท ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี Startup รายใดที่จัดว่าเป็น Unicorn
มูลค่าบริษัทเกิดจากมูลค่าของหุ้นบวกหนี้สิน
เนื่องจาก Startup เป็นธุรกิจเสี่ยงสูง การจัดหาเงินทุนส่วนใหญ่มาจากทุนหรือหุ้นล้วน ๆ ดังนั้นผมจะตัดส่วนหนี้สินออกไป
มูลค่าหุ้นเกิดจากอะไร เจ้าของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์รวมทั้ง Startup จะได้สัมผัสเพียงการประเมินมูลค่าหุ้นจากมูลค่าทางบัญชีหรือที่เรียกว่า Book Value เท่านั้น ทำให้ Startup ไทยไปไม่ถึงไหน
ในขณะที่มูลค่าหุ้นทางบัญชีเกิดจากสิ่งที่ทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน เกมสร้าง Unicorn ในระดับโลกมองมูลค่าของหุ้น Unicorn แบบเดียวกับหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และมีสภาพคล่อง ซึ่งเป็นการประเมินจากสิ่งที่จะเกิดในอนาคต แน่นอนการใส่ฝันเข้าไปในการประเมินมูลค่าหุ้นย่อมให้ราคาที่ดีกว่า แม้กระทั่งบริษัทที่มีผลการขาดทุนสะสมไปจนมูลค่าส่วนของเจ้าของติดลบไปแล้วก็อาจถูกบรรยายให้มีราคาสูงเหลือเชื่อได้
จึงไม่ประหลาดใจว่าเมื่อ Startup ไทยเข้ามาต่อรองกับกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ มักจะวาดฝันราคาหุ้นของตนโดยขาดพื้นฐาน และทำให้การเจรจาทั้งหมดล้มเหลว ชะตากรรมของบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่พบว่าเจ๊งในไม่กี่เดือนถัดมา เพราะนักลงทุนโดยเฉพาะจากจีนเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทคู่แข่งและอัดเงินจนบริษัทไทยพันธ์แท้อยู่ไม่ได้
ผมได้รวบรวมบทเรียนและสร้างหลักสูตร TUnicorn ขึ้น สำหรับ Startup ไทย โดยการเข้าอบรมเป็นเพียงด่านแรก แต่ Startup หรือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจะมีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพันธมิตรเพื่อใช้เป็นฐานในการสร้างธุรกิจให้ประสพความสำเร็จ ผู้สนใจเข้าไปดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ http://facebook.com/tuipitu
หลักสูตรนี้จะเปิดปีละครั้ง และหมดเขตรับสมัครวันจันทร์ที่ 27 มกราคมนี้ครับ