ธุรกิจภูเก็ตขอซอฟท์โลน2หมื่นล้าน เยียวยาผลกระทบ ‘ไวรัสโคโรน่า’

ธุรกิจภูเก็ตขอซอฟท์โลน2หมื่นล้าน เยียวยาผลกระทบ ‘ไวรัสโคโรน่า’

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เสนอขอซอฟท์โลน วงเงินเบื้องต้น 2 หมื่นล้านบาท เยียวยาผลกระทบ “ไวรัสโคโรน่า” 2019 พร้อมเสนอมาตรการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ดึง นทท.คนไทยและสัญชาติอื่นๆ

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.63 ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมมาตรการลดผลกระทบจากปรากฏการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้, หอการค้าจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น เข้าร่วม เพื่อนำเสนอผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 และมาตรการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำเสนอรัฐบาลช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่อไป

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดผลกระทบกับการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถสรุปได้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเมื่อใด หากประเทศจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมของประเทศจีน หากไม่กลับมาในช่วงนี้ ก็จะเลยไปจนเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงวันชาติจีน

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคาดว่า แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่นักท่องเที่ยวจีนก็จะกลับมาแค่บางส่วนประมาณ 30% เท่านั้น ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วง 3-6 เดือนนั้นคาดว่านับหมื่นล้านบาท และจำเป็นต้องดึงนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพ เช่น เยอรมัน อินเดีย เป็นต้น ซึ่งเป็นความท้าทายค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกันสิ่งที่ภาคเอกชนด้านท่องเที่ยวต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยทำมาแล้วในช่วงที่เกิดเหตุสึนามิ โรคซาร์ หรือไข้หวัดนก ทั้งมาตรการด้านการเงิน การคลัง และแรงงาน โดยเฉพาะเรื่องของซอฟท์โลน เบื้องต้นคำนวณไว้ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ซึ่งเท่ากับในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ นอกจากนี้ยังอยากให้หน่วยงานภาครัฐได้เร่งความเชื่อมั่นและความปลอดภัย

เนื่องจากขณะนี้ก็มีนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นๆ ก็สอบถามเข้ามาเช่นกัน และมีบางส่วนที่ยกเลิกการจองห้องพักไปแล้ว รวมทั้งยังอยากให้นำสล๊อตการบินของจีนที่ถูกยกเลิกในช่วงนี้มาจัดให้กับสายการบินที่มีความต้องการ โดยเฉพาะเมืองที่เป็นตลาดใหม่ๆ และมีศักยภาพ เช่น อินเดีย เป็นต้น เพื่อจะได้มาทดแทนตลาดที่หายไปด้วย
ไม่ต่างจากนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่านักท่องเที่ยวจีนที่มาเป็นกรุ๊ปหรือเป็นหมู่คณะได้ยกเลิกการจองห้องพักไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนของนักท่องเที่ยว FTI ก็คาดว่าจะมีการยกเลิกห้องพักไปไม่ต่ำกว่า 50% หรืออาจจะเป็น 80-90% ส่วนของนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นๆ มีการสอบถามและมีการยกเลิกการจองห้องพักแล้วบางส่วน ขณะที่ยังไม่ได้จองก็มีการชะลอการเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอันดามัน

“ในขณะที่เรามีมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยการสกรีนผู้ที่เดินทางเข้ามาของทางกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดเป็นอย่างดี โยเรายังมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงอยากให้ภาครัฐทำการกระตุ้นการท่องเที่ยวในหลายๆ ตลาด เช่น ตลาดไทยผ่านกิจกรรมไทยเที่ยวไทยที่ชัดเจน โดยส่งเสริมให้คนไทยออกมาเที่ยวด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ หรือมาตรการด้านภาษีแก่ผู้ที่มาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น”

ขณะที่ มาตรการด้านการคลังก็จำเป็น เพราะในช่วง 1-2 ปีนี้เราเจอวิกฤตหลายอย่าง เช่น เรือฟินิกซ์ล่ม เป็นต้น ทำให้เงินคงคลังของหลายๆ สถานประกอบการเริ่มสะดุด เช่น ซอฟท์โลน เงินดอกเบี้ยต่ำ ภาษีทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องนำส่งภาครัฐ เป็นต้น อาจจะมีการยกเลิกหรือผ่อนผันละเว้นในช่วงเดือนที่วิกฤตหนักๆ โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม นายก้องศักดิ์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ก็จะต้องหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพมาเพิ่ม เช่น ตลาดอินเดีย เป็นต้น