เปิดโผบจ.ส่อ ‘ซื้อหุ้นคืน’ กลุ่ม ‘แบงก์-โรงกลั่น’ เข้าข่ายสุด

เปิดโผบจ.ส่อ ‘ซื้อหุ้นคืน’ กลุ่ม ‘แบงก์-โรงกลั่น’ เข้าข่ายสุด

กระแสของการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีจำนวนรวม 19 บริษัท ต่อเนื่องถึงปี 2562 ที่มีบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนรวม 21 บริษัท ส่วนปี 2560 มีเพียง 3 บริษัท เท่านั้น

สำหรับปี 2562 บริษัทที่ประกาศซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและเล็กที่เคยเติบโตเร็ว แต่หลังจากภาวะฟองสบู่แตก ในปี 2557 – 2559 ราคาหุ้นเหล่านี้ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของช่วงที่ร้อนแรง และราคาหลังจากนั้นแทบจะไม่ขยับไปไหน เพราะสภาพคล่องที่ลดลง และด้วยภาวะตลาดช่วงปี 2562 ที่ชะลอตัว ทำให้ผลจากการซื้อหุ้นคืนโดยเฉลี่ยเป็นเพียงการพยุงราคาไม่ให้ปรับตัวลงแรงเท่านั้น

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า การซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆ น่าจะเป็นเชิงบวกมากกว่า เพราะเป็นการจำกัดความเสี่ยงขาลงให้กับหุ้นนั้นๆ โดยการลงทุนในปัจจุบันจะมีทั้งสองด้าน คือ ด้านซื้อปกติ และด้านขาย (Short sell) หากหุ้นนั้นๆ ประกาศซื้อหุ้นคืนออกมา นักลงทุนที่มีแนวโน้มจะขายชอร์ตหุ้นเหล่านั้นอาจจะชะลอแผนออกไป เพราะจะมีแรงซื้อจากบริษัทเข้ามาพยุงไว้

จากสถิติที่ผ่านมา หุ้นที่ประสบความสำเร็จในการซื้อหุ้นคืน คือ ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงที่ซื้อคืน คือ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เพิ่มขึ้น 6% บมจ.บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี (BJCHI) เพิ่มขึ้น 9.6% บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เพิ่มขึ้น 10.3% บมจ.แสนสิริ (SIRI) เพิ่มขึ้น 20.3% บมจ.ซัสโก้ (SUSCO) เพิ่มขึ้น 11.4% บมจ.เอสวีไอ (SVI) เพิ่มขึ้น 5.9% บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เพิ่มขึ้น 7%

158082652275

ส่วนหุ้นที่น่าผิดหวังกับการซื้อหุ้นคืน คือ ผลตอบแทนเป็นลบในช่วงการซื้อคืน ได้แก่ บมจ.บ้านปู (BANPU) ลดลง 10.2% บมจ.บางกอกแร้นช์ (BR) ลดลง 9.6% บมจ.มัดแมน (MM) ลดลง 20.7% บมจ.ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (SYNTEC) ลดลง 17.7% และบมจ.ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ (TITLE) ลดลง 21.6%

ทั้งนี้ ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยวงเงินการซื้อหุ้นคืน หุ้นทั้ง 21 ตัว ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 1.1% ในช่วงที่ซื้อคืน ใกล้เคียงกับดัชนี SET ที่ให้ผลตอบแทน 1% ในปี 2562 สะท้อนว่าผลลัพธ์ของการซื้อหุ้นคืนไม่ได้หนุนให้ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้นมากนัก แต่ยังช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงไม่ให้รุนแรงกว่าอุตสาหกรรม หรือดัชนี SET

หากอ้างอิงจากแนวโน้มปี 2561-2562 ซึ่งมีบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนเพิ่มต่อเนื่อง และภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เป็นใจ ทำให้คาดว่าปี 2563 จะมีจำนวนบริษัทที่ทำการซื้อหุ้นคืนมากกว่าปี 2562 โดยประเมินความเป็นไปได้ที่บริษัทจะประกาศซื้อหุ้นคืนจาก 5 เหตุผล ได้แก่ ราคาหุ้นปรับตัวลงจนมูลค่าอยู่ในโซนถูก ทั้งในแง่ของ P/E และ P/BV เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง

ถัดมาคือ ผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตของตัวเองและของตลาด ซึ่งการซื้อหุ้นคืนจะช่วยหนุน ROE ในกรณีที่ความสามารถในการทำกำไรยังเท่าเดิม ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งชะลอตัว ทำให้หลายบริษัทขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนช่วงนี้ 

นอกจากนี้ เงินสดในมือที่อยู่ในระดับสูง และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง วัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การซื้อหุ้นคืนไม่เป็นภาระทางการเงินและการลงทุนในอนาคต

โดยสรุปแล้ว มองว่า หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีโอกาสซื้อหุ้นคืนมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มโรงกลั่น ปิโตรเคมี ท่องเที่ยว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรอาหาร ล้วนเป็นกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมามากในปีนี้ โดยหุ้นที่เราประเมินว่ามีโอกาสซื้อหุ้นคืนถัดจากนี้ ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็กโทรนิคส (HANA) และบมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE)

ด้าน จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า การซื้อหุ้นคืนทำให้จำนวนหุ้นลดลง จึงทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น อย่างในกรณีของ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ประกาศซื้อหุ้นคืนด้วยวงเงิน 4.6 พันล้านบาท หากทำได้ตามเป้า จะช่วยให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ขณะที่ ROE น่าจะเพิ่มขึ้นราว 0.06%

“โดยปกติแล้วหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมี ROE สูงกว่า นักลงทุนมักจะให้มูลค่าสูงกว่า เนื่องจาก ROE สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทสามารถนำเงินทุนไปหมุนให้เกิดเป็นกำไรได้มากหรือน้อยแตกต่างกันอย่างไร โดยยิ่งมี ROE มากจะยิ่งดี จากตัวอย่างของธนาคารกรุงเทพ มี ROE ราว 9% ซื้อขายบน P/BV 0.6 เท่า ธนาคารกสิกรไทย มี ROE 10% มี P/BV 0.8 เท่า ธนาคารไทยพาณิชย์ มี ROE 11% มี P/BV 0.9 เท่า”