'จัสมิน' รีดจ่ายปันผลสูงปริ๊ด 'พิชญ์ โพธารามิก' รับ 8,000 ล้าน
การเดินหน้าประมูลคลื่น 5G ยังดำเนินการตามแผนที่วางไว้ หากแต่ภาพวานนี้โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายต่างตบเท้าเข้ายื่นซองประมูล กันอย่างคึกคักเท่ากับเป็นการการันตรีได้ว่า การแข่งขันที่รุนแรงจะรอกลุ่มสื่อสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อไล่ดูผู้ประกอบการที่เข้ายื่นซองนอกจาก 3 รายหลักในตลาดแล้ว ก็มีผู้ให้บริการโครงข่าย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศชัดเจนต้องการเข้าร่วมประมูลด้วยแน่นอน
เปรียบเทียบกับการประมูล 4จี เมื่อปี 2558 เท่ากับขาด บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เพียงบริษัทเดียว ในการเข้าร่วมประมูล 5จี ในครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้เหนือคาดหมายเพราะมีการคาดการณ์ไว้บ้างแล้วว่ารอบนี้ไม่น่าจะมีชื่อ JAS เข้าร่วมประมูล
เมื่อไม่ปรากฎว่าเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ด้วย ประเด็นดังกล่าวยังเป็นข่าวบวกให้กับ JAS ไม่น้อย เพราะหากต้องเข้าไปแข่งประมูลต้นทุนการเงินจะกลายเป็นภาระที่หนักเอาการ เพราะธุรกิจ ทีมีดิจิทัล บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ยังประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องท่ามกลางกระแสอาจจะเป็นหนึ่งในช่องที่ต้องการคืนใบอนุญาตเพิ่มเติม
รวมทั้งราคาหุ้นยังได้ปัจจัยบวกจากการเล่นประเด็นกำไรพิเศษและเงินปันผล ซึ่งตัวเลขมาตามนัด ล่าสุดบริษัทได้ประกาศกำไรปี 2562 อยู่ที่ 7,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.87% จากปีก่อน เป็นผลมาจากรายการพิเศษการขายสินทรัพย์ ให้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต (JASIF) ทำให้รับรู้กำไรในส่วนนี้ 10,441 ล้านบาท และรับรู้ในงบการเงินรวม 7,233 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังจ่ายปันผลสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เป็นเงินรวม 12,315 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของกำไรสุทธิจะขึ้นเครื่องหมาย วันที่ 21 เม.ย. และจ่ายจริง 12 พ.ค. เป็นจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 1.26-1.50 บาท (ขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นจากการแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ JAS-W3 ในเดือน มี.ค.) แบ่งเป็นอัตราสูงสุด 1.50 บาท และอัตราขั้นต่ำสุดอีก 1.26 บาท
เมื่อโฟกัสไปยังเฉพาะผู้ถือหุ้นใหญ่ 'พิชญ์ โพธารามิก' ที่ขึ้นชื่อแชมป์ที่ได้รับเงินจากหุ้นปันผลสูงสุดในงวดปี 2561 ซึ่งการถือหุ้นตามรายชื่อล่าสุดอยู่ที่จำนวน 4,602 ล้านหุ้น จากหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด 8,210 ล้านหุ้น ส่งผลทำให้ได้เงินปันผลรอบนี้ได้รับเม็ดเงินไป 5,798.52-6,903 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาล 0.30 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเม็ดเงิน 1,380 ล้านบาท รวมทั้งปี 2562 ได้รับเม็ดเงินปันผล 7,179- 8,283 ล้านบาท อัตราจ่ายเงินปันผล 28-32%
การจ่ายปันผลที่สูงต่อเนื่องมีมาตั้งแต่ปี 2560 -2562 ส่งผลทำให้อัตราการจ่ายเงินปันผลของ JAS สูงมากกว่า 10 % มาตลอด ส่วน JAISIF เช่นกันปันผลงวดปี 2562 มาแล้ว 3 ครั้ง รวม 0.70 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราปันผล 6.38%
อย่างไรก็ตามหากมาดูแนวโน้มธุรกิจหลักอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ กำลังอยู่ในตลาดที่กำลังมีการแข่งขันที่สูงเพิ่มมากขึ้น จากผู้เล่นรายใหญ่ 2 ค่าย คือ 3BB ของ JAS กับบริษัท ทรู คอรปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่ขับเคี่ยวกัน เพราะ มีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เข้ามาขอส่วนแบ่งการตลาดด้วย
ปัจจุบันตามข้อมูล กสทช. สิ้น 9 เดือนปี 2562 มีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ 9.68 ล้านราย มาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 กลุ่มทรู ที่ 37.5% อันดับ 2 คือ 3BB อยู่ที่ 32.4% อันดับ 3 ทีโอที 16.1% ส่วน แอดวานซ์อยู่ที่ 9.5 % ซึ่งรายหลังก็ประกาศต้องการขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน
ยิ่งการมีคลื่น 5จี ในมือจะทำให้โอเปอเรเตอร์ได้เปรียบในตลาดบรอดแบรนด์มากขึ้น จึงทำให้ JAS ต้องหันไปจับมือกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เพื่อทำตลาดร่วมกันไว้รองรับการแข่งขันกับ 2 ค่ายใหญ่ ในอนาคต
ดังนั้นจึงน่าหนักใจไม่น้อยสำหรับ JASเพราะที่ผ่านมาธุรกิจบรอดแบนด์ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้กับกลุ่ม ท่ามกลางกำไรจากธุรกิจที่ไม่ใช่มาจากกำไรพิเศษในการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน ในช่วงรายไตรมาส 1-3 ปี 2562 เริ่มเห็นอาการสะดุด 559.50 ล้านบาท 2,221.20 ล้านบาท และ 342.29 ล้านบาท ตามลำดับ จนทำให้รอบ 9 เดือนอยู่ที่ 3,122 ล้านบาท ลดลง 32% ทำให้ดำเนินธุรกิจอาจเผชิญความยากลำบากมากไม่น้อย