คุม ‘มาร์เก็ตคอนดักท์’ แบงก์รัฐมิ.ย.นี้
"ธปท." จ่อออกเกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักท์กำกับแบงก์รัฐ นาโนไฟแนนซ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เริ่มใช้ไม่เกินกลางปีนี้ นำร่อง "5 แบงก์รัฐ" ก่อน คือ ออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. ไอแบงก์ และ ธพว. หวังสร้างความเป็นธรรมทางการเงินให้ครอบคลุมทั้งระบบ ทำผิดปรับผู้บริหารระดับสูง
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เตรียมออกประกาศเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ตคอนดักท์) ให้ครอบคลุมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) นาโนไฟแนนซ์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซี จากปัจจุบันเกณฑ์ถูกใช้กับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้
เกณฑ์ดังกล่าวจะบังคับใช้กับแบงก์รัฐทุกแห่ง แต่ระยะเริ่มต้นครอบคลุม 5 แบงก์รัฐที่ทำผลิตภัณฑ์รายย่อยก่อน คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) ก่อนขยายไปสู่ธนาคารอื่นๆต่อไป ส่วนการออกมาร์เก็ตคอนดักท์กำกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ อาจแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ เพราะการกำกับดูแลต้องให้เหมาะกับธุรกิจและขอบเขตของธุรกิจนั้นๆด้วย
ทั้งนี้ หากพบการกระทบความผิด หรือมีข้อร้องเรียนทางการเงินจนนำไปสู่การตรวจสอบ และพบว่าผู้ให้บริการทางการเงินเหล่านี้ผิดจริง จะมีการเปรียบเทียบปรับตามกฏหมาย และถูกประกาศลงในเว็ปไซต์ของธปท.เหมือนธนาคารพาณิชย์ด้วย
อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบปรับแบงก์รัฐ จะแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ โดยไม่สามารถเปรียบเทียบปรับเป็นรายธนาคารได้ เพราะติดกฏหมายจัดตั้งของแต่ละธนาคารรัฐ ดังนั้นการเปรียบเทียบปรับในอนาคต จะเอาผิดได้เป็นรายบุคคลเท่านั้น จึงจะเปรียบเทียบปรับผู้บริหาร 3 ระดับด้วยกัน ตั้งแต่ ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ และกรรมการผู้จัดการ
“มาร์เก็ตคอนดักท์ของแบงก์รัฐมาช้ากว่าแบงก์พาณิชย์ 1 ปี เพราะต้องรอกระทรวงการคลัง และรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาด้วย ซึ่งกฏหมายที่จะออกมาจะครอบคลุมแบงก์รัฐทั้งหมด และก่อนออกเกณฑ์เรามีการเดินสายพบแบงก์รัฐแล้ว เพื่อให้เตรียมพร้อมในการรองรับเกณฑ์ดังกล่าว ที่ผ่านมาบางแบงก์อาจไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น พอเราไปกระตุกเขาก็เริ่มให้ความสำคัญ หลังเกณฑ์มีผลบังคับใช้ ต้องไปตรวจอีกครั้งว่านโบบายเหล่านี้ได้ลงลึกไปถึงระดับปฏิบัติการ ถึงสาขาหรือไม่ เจ้าหน้าที่มีการควบคุมเรื่องนี้สม่ำเสมอหรือไม่"
นางธัญญนิตย์ กล่าวต่อว่า เกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักท์ที่ธปท.ออกมา และกำลังจะออกมาเพิ่ม ถือว่าครอบคลุมผู้ให้บริการทางการเงินทั้งหมดแล้ว ทั้งแบงก์พาณิชย์ แบงก์รัฐ นอนแบงก์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้การให้บริการที่เป็นธรรมมีความครอบคลุมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ครอบคลุมไปถึง ธุรกิจที่ทำเกี่ยวระบบชำระเงินต่างๆ ที่อยู่ภายใต้สายงานนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินของธปท. เพราะการประกอบธุรกิจดังกล่าว มีรูปแบบธุรกิจที่
แตกต่างกับกับธุรกิจสถาบันการเงินข้างต้น ซึ่งการเข้าไปดูแลมาร์เก็ตคอนดักท์กลุ่มนี้ ทางสายงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณากฏเกณฑ์ในการดูแลต่อไป