'ภาษี' กับการปรับตัวในยุคดิจิทัล ปี 63
ปี 2563 การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเปลี่ยนไปแค่ไหน เพื่อให้เข้ากับยุคดิจิทัล รูปแบบไหนเริ่มดำเนินการไปแล้วบ้าง และประชาชนต้องปรับตัวหรือไม่?
จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรมีความตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษี รวมถึงขั้นตอนและกระบวนการจัดเก็บให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อให้ทันกับภาคเอกชนและกระแสโลกในยุคดิจิทัล ในฝั่งผู้เสียภาษีก็มีแนวโน้มที่จะทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
โดยสรรพากรได้เริ่มเชื่อมโยงข้อมูลประเภทต่างๆ จากหน่วยงานเจ้าของข้อมูล เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต องค์กร สาธารณกุศล ฯลฯ เพื่อนำมารวบรวมไว้ในฐานข้อมูลของสรรพากรเอง โดยบทความนี้จะมาเล่าสู่กันฟังว่าในปี 2563 กรมสรรพากรมีการออกนโยบายและกระบวนการจัดเก็บภาษีอะไรบ้าง ทั้งที่มีผลใช้บังคับและดำเนินการไปแล้ว รวมถึงนโยบายใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ ที่ผู้เสียภาษีควรรู้เพื่อประโยชน์ของตัวเองในการวางแผนจัดการภาษีของตน
- เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจกันมากในช่วงปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ กฎหมายภาษี e-Payment
กฎหมายนี้ได้กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ นำส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มี "ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ" ให้แก่กรมสรรพากร โดยธุรกรรมลักษณะเฉพาะคือ ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป (2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป
โดยสรรพากรได้กำหนดข้อมูลที่จะให้สถาบันการเงินนำส่ง ได้แก่ ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน/เลขประจำตัวนิติบุคคล, ชื่อ นามสกุล (บุคคลธรรมดา) / ชื่อห้างหุ้นส่วนสามัญ / ชื่อคณะบุคคล / ชื่อนิติบุคคล, จำนวนครั้งการฝาก หรือรับโอนรวมใน 1 ปี (ม.ค. ถึง ธ.ค.), จำนวนเงินฝากหรือรับโอนรวม ใน 1 ปี (ม.ค.-ธ.ค.) และเลขที่บัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้องกับการฝากหรือรับโอนนั้น
ซึ่งในปี 2563 นี้ ถือเป็นปีแรกที่มีการเก็บข้อมูลเต็มปี (ม.ค.-ธ.ค.) โดยจะนำส่งให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มี.ค.2564 โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปประมวลผลและวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่น ทั้งข้อมูลภายในและข้อมูลภายนอกกรมสรรพากร เพื่อหารายที่มีความเสี่ยงที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีไม่ถูกต้องเพื่อใช้ในการติดตามแนะนำให้เสียภาษีให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มช่องทางนำส่งรายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทยอยเริ่มใช้ในช่วงปีที่ผ่านมา และที่กำลังจะมีผลเริ่มใช้บังคับในปี 2563 ที่น่าสนใจ ได้แก่
- e-Donation ปัจจุบันเราสามารถบริจาคให้วัด โรงเรียน โรงพยาบาล โดยผ่าน QR Code บริจาคเข้าบัญชีหน่วยรับบริจาคได้โดยตรง และข้อมูลบริจาคจะถูกส่งให้สรรพากรทันทีโดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคไว้ และยังสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่า เช่น การบริจาคให้โรงพยาบาลรัฐ
- กลุ่มเบี้ยประกันเพื่อลดหย่อนภาษี จากปี 2561 ที่กำหนดให้ผู้เอาประกันที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพ จะต้องแจ้งความประสงค์การใช้สิทธิต่อหน่วยงานผู้รับประกันเฉพาะเบี้ยประกันภัยสุขภาพของตนเองเท่านั้น และให้หน่วยงานผู้รับประกันภัย เป็นผู้นำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากร
ในปี 2563นี้ สรรพากรได้เพิ่มเติมเกณฑ์การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในกลุ่มเบี้ยประกันฯ ตามจดหมายข่าวกรมสรรพากรเลขที่ ปชส.11/2563 วันที่ 20 ม.ค.2563 เรื่องการเตรียมความพร้อมใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ค่าเบี้ยประกัน สำหรับปีภาษี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ยังต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
- สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ โดยกรมธรรม์ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่อหน่วยงานผู้รับประกันภัย และให้หน่วยงานผู้รับประกันภัยนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ม.ค.ของปีถัดไป ทั้งนี้สำหรับกรมธรรม์ที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 ผู้เอาประกันสามารถเลือกที่จะแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนต่อหน่วยงานผู้รับประกันภัย หรือจะใช้หลักฐานการจ่ายเบี้ยประกันที่ออกโดยหน่วยงานประกันภัยก็ได้
- สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมถึงทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ กรมธรรม์ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่อหน่วยงานผู้รับประกันภัย และให้หน่วยงานผู้รับประกันภัยนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ม.ค.ของปีถัดไป