รู้จัก ‘DR’ เครื่องมือช่วย ‘ลงทุนต่างประเทศ’
ทำความรู้จักกับ "DR" (Depositary Receipt) ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ หนึ่งในตัวช่วย "ลงทุน" ในตลาด "หุ้นต่างประเทศ" สำหรับรายย่อย ที่ทำให้ลงทุนได้สะดวกขึ้น มีโอกาสรับผลตอบแทนจากตลาดอื่นๆ
นับตั้งแต่ขึ้นปี2563 มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างชะลอตัว กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% การระบาดของไวรัสโคโรนาที่กระจายไปแทบทุกประเทศ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีส่วนให้ตลาดไทยหุ้นดิ่ง และผันผวน จนหลายคนเริ่มมองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ หรือปรับพอร์ต เพื่อรับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งที่กำลังเป็นอยู่ และคาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น
"การลงทุนในต่างประเทศ" จึงกลับมาอยู่ในความสนใจของนักวิเคราะห์ และนักลงทุนมากขึ้น สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงการจากลงทุนได้สูง มีความรู้ความเข้าใจ และมีเงินสำหรับลงทุนมาก สามารถเลือกกระจายความเสี่ยงเพื่อหาโอกาสตลาดหุ้นต่างประเทศได้ในช่วงนี้
แต่ความยากของการลงทุนต่างประเทศ คือมีข้อจำกัดสำหรับ "นักลงทุนรายย่อย" อยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การเปิดบัญชีลงทุนต่างประเทศเพิ่ม ความยุ่งยากจากอัตราแลกเปลี่ยน ข้อจำกัดด้านภาษา การหาความรู้เกี่ยวกับสภาวะตลาดหุ้นของประเทศที่ต้องการลงทุน รวมถึงการประเมินหุ้นที่น่าลงทุน มีพื้นฐานดี หรือเหมาะสมกับความต้องการ และอีกหลายๆ อุปสรรค
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพิ่มเครื่องมือที่เข้ามาลดข้อจำกัดในการลงทุนต่างประเทศที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ลง ผ่านผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “DR” ย่อมาจากคำว่า Depositary Receipt หรือที่มีความหมายในภาษาไทยว่า “ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ”
DR ถือเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น โดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศมา แล้วเสนอขายหุ้นต่างประเทศนั้นให้กับผู้ลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาท โดยมีสัดส่วน 1 DR = หุ้นต่างประเทศ 1 หลักทรัพย์ ดังนั้นผู้ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เสมือนไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศโดยตรง
รูปแบบของผลตอบแทนจากการลงทุนใน DR
- กำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital gain) หากผู้ลงทุนขาย DR ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตอนที่ซื้อมา ก็จะได้รับกำไรจากส่วนต่างราคา
- เงินปันผล (Dividend) และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ผู้ถือ DR มีโอกาสได้รับเงินปันผลหรือสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์ต่างประเทศ หลังหักค่าใช้จ่ายของการดำเนินการ (ถ้ามี) ตามที่ระบุไว้ในสัญญารับฝาก*
(*สัญญารับฝาก หมายถึง สัญญาว่าด้วยสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ และผู้ถือตราสารดังกล่าว)
กลไกที่มาของ DR
ผู้ออกจะเสนอขาย DR ให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) โดยจะนำเงินที่ได้ทั้งหมดไปซื้อหลักทรัพย์ในต่างประเทศ แล้วนำมาจดทะเบียนให้ซื้อขายได้แบบ Real-time ในตลาดหลักทรัพย์ฯเหมือนหุ้นทั่วไป
ข้อดีของการลงทุนใน DR
- ลงทุนในหุ้นหรือ ETF (Exchange Traded Fund) ต่างประเทศ โดยไม่ต้องเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ
- สามารถใช้บัญชีซื้อขายหุ้นไทย ซื้อ DR ได้ทันที
- ไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพราะ DR ซื้อขายในสกุลเงินบาท
- สามารถซื้อขาย DR ที่อ้างอิงหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศได้
ได้รับผลตอบแทนโดยอ้างอิงกับหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศ - ใช้เงินลงทุนน้อย เพราะจำนวนหน่วยของการซื้อขายคือ 1 หน่วย DR
- ติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้จากการรายงานข่าวของผู้ออก DR ได้
ความเสี่ยงที่ควรระวังของ DR
- ความเสี่ยงที่เกิดจากการผันผวนของราคา เนื่องจากเป็นการลงทุนใน ETF มีความผันผวนเหมือนหุ้น ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด
- ความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะหุ้นที่ลงทุนจะซื้อขายในสกุลเงินของประเทศนั้นๆ เมื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทย่อมมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามากระทบ
- ความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออก DR ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร
- สภาพคล่องการซื้อขาย เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนเรื่องของเวลาตลาดที่แตกต่างกัน
DR เหมาะกับใคร
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นหรือ ETF ที่อยู่ในต่างประเทศ
- ผู้ที่ไม่ต้องการความยุ่งยาก จากการเปิดบัญชีลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ รวมถึงเรื่องภาษี และการจัดการเงินตราต่างประเทศ
- ผู้ที่ไม่ต้องการการติดตามข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศตัวเอง
- ผู้ที่ต้องการลงทุนระยะกลาง-ยาว มากกว่าการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรรายวัน
นับตั้งแต่เริ่มมีการอนุมัติให้ออก DR ช่วงปลายปี 2561 จนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2563) มีผู้ออก DR มาแล้ว 1 ราย คือ BLS (บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง) ออก DR หลักทรัพย์ชื่อ E1VFVN3001 สินทรัพย์อ้างอิง E1VFVN30 ตลาดหลักทรัพย์ที่สินทรัพย์อ้างอิงคือ Hochiminh Stock Exchange ประเทศเวียดนาม มีปริมาณ 30,388 หุ้น มูลค่า 58,331 ล้านบาท
ซึ่งในอนาคตเป็นที่น่าจับตาว่าจะมีผู้ให้บริการรายอื่นๆ ออกผลิตภัณฑ์ DR มาเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนหรือไม่ และเป็นไปในทิศทางใดต่อไป