'5จี' ระอุ-รุมชิงเค้กแสนล้าน
จับตาแข่งประมูล 5จี เดือด 5 โอเปอเรเตอร์วางกลยุทธ์เคาะราคาหวังชิงแต้มต่อ กสทช.มั่นใจรัฐได้เงิน 70,000 ล้าน คาดลงทุนสร้างโครงข่ายทะลุ 2 แสนล้าน ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ 12 ก.พ.นี้ เผยคลื่น 2600 ระอุ “เอไอเอส-ดีแทค-ทรู-ทีโอที" ชิงดุเดือดแน่
การประมูล 5จี ที่จะเกิดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 16 ก.พ.นี้ นับเป็น "งานใหญ่" ซึ่งภาครัฐตั้งความหวังว่า 5จี จะพลิกโฉมประเทศและสร้างแต้มต่อให้เศรษฐกิจไทยจากการนำไปประยุกต์ต่อยอดสร้างความอัจฉริยะให้ภาคการผลิต ขณะที่เม็ดเงินกว่า "แสนล้านบาท" ที่คาดว่าสะพัดจากผลประโยชน์ของ 5จี ถือเป็นความหวังสำคัญของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางปัจจัยลบ ในขณะนี้ที่การประมูล 5จี คาดจะแข่งขันกันดุเดือด เพราะทั้ง 5 โอเปอเรเตอร์ตัดสินใจยื่นซองประมูลครบ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ (พีคิว) สำหรับเข้าประมูลคลื่นความถี่ 5จี วันที่ 12 ก.พ.นี้ โดยสำนักงาน กสทช.กำหนดวันที่ 16 ก.พ.ดีเดย์ประมูลใน 4 ย่านความถี่ ได้แก่ 700 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยหลังประกาศว่ารายใดผ่านคุณสมบัติจากการยื่นคำขอเพื่อเข้าประมูล และคณะกรรมการพิจารณาตรวจเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการสาธิตการประมูลให้แก่เอกชน (ม็อค ออคชั่น) ก่อนเข้าสู่วันประมูลจริง
รายงานข่าวระบุว่า การที่เอกชนทั้ง 5 ราย ยื่นคำขอเพื่อเข้าประมูลนั้น ขณะนี้ทราบแล้วว่า รายใดสนใจเข้าประมูลในคลื่นย่านใดบ้าง โดยเริ่มจากบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) คาดว่ายื่นประมูลเพียงย่านเดียว คือ 26 กิกะเฮิรตซ์
ต่อมาบริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่ายื่นประมูล 3 ย่านคือ 700 กับ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งยื่นใน 3 ย่านเท่ากับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)
ส่วน บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม มีข้อจำกัดที่ต้องไม่ยื่นประมูลคลื่นในย่านเดียวกัน เพราะสถานะของบริษัทมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% จึงน่าจะยื่นคนละย่าน โดยทีโอทีคาดว่ายื่นประมูลคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ ส่วน บมจ.กสท โทรคมนาคม ยื่นคลื่น 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์
- คลื่น 700-2600 ส่อแววเดือด
หากผลสรุปเป็นจริงตามนี้เท่ากับว่า คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่เปิดประมูล 190 เมกะเฮิรตซ์ 19 ใบอนุญาตๆ ละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ต้องเคาะราคาแย่งชิงหนักเพราะพื้นฐานการให้บริการ 5จี ของคลื่นดังกล่าว ต้องมีคลื่นให้บริการขั้นต่ำ 60 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป หรือถ้าต้องการให้บริการมีคุณภาพสูงสุดต้องมีคลื่น 100 เมกะเฮิรตซ์
ดังนั้น เมื่อมีคนเข้าประมูล 3 ราย หากไม่ต้องดันราคาให้สูงมาก ก็อาจได้ไปคนละ 60 เมกะเฮิรตซ์ 2 ราย และอีกรายได้ 70 เมกะเฮิรตซ์ แต่หากมีเอกชนรายใดต้องการคลื่น 100 เมกะเฮิรตซ์ ก็จะได้เห็นการเคาะราคาหนี เพื่อให้สุดท้ายมีคนได้คลื่นเพียง 2 ราย คือ รายที่ 1 จำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ และ รายที่ 2 จำนวน 90 เมกะเฮิรตซ์
เช่นเดียวกับคลื่นย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีคนเข้าประมูล 3 ราย โดยสำนักงาน กสทช.เปิดประมูล 3 ใบอนุญาตๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งรายที่อยากได้มากอาจเคาะราคาเพื่อเอาทั้ง 3 ใบเลยก็ได้ แต่ราคาจะแพงแน่นอน หรือแบ่งกันไปละใบอนุญาต
และสุดท้ายคลื่นย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ที่มี 27 ใบอนุญาตๆละ 100 เมกะเฮิรตซ์ และเป็นย่านที่มีราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำสุด อาจเคาะราคาเอาคลื่นไปเก็บไว้รายละ 4-5 ใบอนุญาต เพื่อให้ได้ชื่อว่าบริษัทตัวเองมีคลื่น 5 จี
ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ แน่นอนจะไม่มีผู้ประมูล เพราะราคาเริ่มต้นที่ยึดตามฐานราคาสุดท้ายของครั้งที่แล้วที่อยู่ที่ 12,486 ล้านบาทต่อใบอนุญาต เป็นราคาที่สูงมากจึงไม่มีเอกชนรายใดสนใจ
- มั่นใจทำเงินเข้ารัฐเกิน 7 หมื่นล.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ 3 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท รวม 26,376 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ 7 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 35 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้าน รวม 87,402 ล้านบาท
คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ 19 ชุด ชุดละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ 27 ชุด ชุดละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2700 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท รวม 11,421 ล้านบาท
ทั้งนี้ เดิมเคยประมูลไว้ว่าการประมูล 5จี ครั้งนี้ จะทำเงินเข้ารัฐได้ 54,654 ล้านบาท จากการประมูล 25 ใบอนุญาต แต่จากการมายื่นซองประมูลครั้งนี้พบว่า ความต้องการคลื่นความถี่สูงโดยเฉพาะคลื่นย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเปิดประมูล 19 ใบอนุญาตและน่าจะประมูลออกทั้งหมด และมีแนวโน้มอาจจะประมูลไม่จบในวันเดียว ทำให้คาดการณ์ใหม่ว่า การประมูลครั้งนี้ จะนำเงินเข้ารัฐได้มากว่า 70,000 ล้านบาท ประมูลได้ทั้งสิ้น 32 ใบอนุญาต
เนื่องจากคาดว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้ครบทั้ง 3 ชุด คิดเป็นเงิน 26,376 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้ทั้งหมด 19 ชุด คิดเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้จำนวน 10 ชุด คิดเป็นเงิน 4,230 ล้านบาท ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะไม่เป็นที่น่าสนใจเท่าไรในครั้งนี้ จึงอาจจะไม่มีการประมูล เพราะราคาที่ตั้งไว้อยู่ในเกณฑ์ที่สูง
โดยคาดว่าปี 2563 จากการขับเคลื่อน 5จี คาดว่ามีมูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของจีดีพี 17.32 ล้านล้านบาท และจากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้าและการเงิน ภาคโทรคมนาคม ภาคบริการสาธารณะ ภาคขนส่ง ภาคการศึกษา ภาคการแพทย์ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 476,062 ล้านบาท
- ลงทุนโครงข่ายพุ่ง 1.3 แสนล.
นายฐากร กล่าวว่า เพื่อต้องการให้ไทยเปิดบริการ 5จี เร็วที่สุด เบื้องต้นจะเปิดได้ต้นเดือน ก.ค.นี้ แม้เงื่อนไขจะบอกให้มารับใบอนุญาตภายใน 90 วัน แต่เอกชนต้องการได้ใบอนุญาตทันที ซึ่งสำนักงาน กสทช.จะพยายามให้จบภายใน ก.พ.นี้ และให้ใบอนุญาต มี.ค.นี้ โดยคาดว่าปีนี้จะมีลงทุนโครงข่ายเพื่อให้บริการ 5จี ของทั้งอุตสาหกรรม 133,000 ล้านบาท ปี 2564 จะลงทุน 200,000 ล้านบาท
ดังนั้น สำนักงาน กสทช.จะเร่งให้เอกชนติดตั้ง 5จีบนเสาเดิมที่มีอยู่ทั้งระบบ 130,000 สถานีฐานได้ทันที ไม่ต้องผ่านเวทีประชาพิจารณ์เพื่อลดขั้นตอนให้เปิดบริการเร็วขึ้น
- ค่ายมือถือหวัง 5จี จุดเปลี่ยน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนและโอเปอเรเตอร์ พร้อมผลักดันและสนับสนุนให้ 5จี เกิดขึ้น แม้จะยืนยันที่เคยให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า 5จี ควรจะเกิดในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปลายปี 2564
ทั้งนี้ เอไอเอสมองว่า 5จี จะเป็นจุดเปลี่ยนให้อุตสาหกรรมอีกครั้งในบรรดาผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย โดยปัจจุบันเอไอเอสมีลูกค้าโทรศัพท์มือถือมากที่สุด 42 ล้านเลขหมาย และมีแนวโน้มลูกค้าเติมเงินเปลี่ยนไปใช้บริการระบบรายเดือน รวมทั้งมีสถานีฐานมากที่สุด 158,000 สถานีฐาน
นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กลุ่มทรูฯ กล่าวว่า การร่วมประมูลนี้บริษัทได้ประเมินอย่างละเอียดรวมทั้งได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกมาศึกษาความเหมาะสม และความคุ้มค่าการลงทุนแต่ละย่านคลื่นความถี่ โดยคำนึงถึงลูกค้าสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน
ทั้งนี้ นับเป็นเรื่องดีที่ครั้งนี้กำหนดเงื่อนไขการประมูลแบบมัลติแบนด์ มีความหลากหลายของคลื่นรวมทั้งมีปริมาณแบนด์วิธมากพอที่ผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายจะเลือกพิจารณาได้ตามความเหมาะสมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา การมีปริมาณแบนด์วิธที่มากขึ้นจะเสริมความแข็งแกร่งและรักษาความเป็นผู้นำตลาดด้านเน็ตเวิร์ค ของทรูมูฟ เอช
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้เปิดให้บริการบนคลื่นความถี่รวม 110 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนครั้งสำคัญในการใช้เทคโนโลยี 4จี ทีดีดี ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมกับทีโอที สำหรับการให้บริการบนคลื่นใหม่ยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าการประมูลครั้งนี้เป็นโอกาสให้ดีแทคเพิ่มความแข็งแกร่งชุดคลื่นความถี่ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
- 'ทีโอที-แคท' หวังต่อยอดธุรกิจ
นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ บมจ.ทีโอที รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การประมูลคลื่น 5จีครั้งนี้ เป็นตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อผลักดันนโยบายให้ประเทศทันกับการให้บริการและการผลิตสมัยใหม่ เป็นการยกระดับโครงการพื้นฐานของประเทศ กระจายความเจริญสู่ประเทศไทย อาทิ มุ่งพัฒนาบริการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเมืองอัจฉริยะ พร้อมการพัฒนาบริการเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ กล่าวว่า บริษัท จำเป็นต้องประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้หลังปี 2568 เมื่อสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแล้ว จะมีคลื่นความถี่สำหรับให้บริการต่อ ซึ่งได้ทำข้อตกลงกับทีโอทีในการเข้าประมูลคลื่นความถี่ในย่านที่ต่างกัน เพื่อให้อนาคตเมื่อรวมองค์กรกันแล้ว จะมีหลายคลื่นความถี่ในการให้บริการและต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต