‘เอื้อวิทยา’ งัดมาตรา 100 จัดประชุมผู้ถือหุ้น ‘ไดเมท’
“เอื้อวิทยา” ใช้สิทธิมาตรา 100 เรียกประชุมผู้ถือหุ้น “ไดเมท” หลังบอร์ดเปลี่ยนมติจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนพีพีไปมา พร้อมเสนอตั้งกรรมการเพิ่มอีก 9 ราย ด้านผู้ถือหุ้นรายย่อย ร้องศาลฯระงับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน-จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นายมณฑล เชตุวัลลภกุล กรรมการ บมจ.เอื้อวิทยา (UWC) ในฐานะผู้ถือหุ้น บมจ.ไดเมท (สยาม)(DIMET) ซึ่งถือหุ้นไม่น้อยกว่า 10% เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ (บอร์ด) DIMET เพื่อขอจัดประชุมผู้วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 โดยอาศัยมาตรา 100 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 และ มาตรา 89/28 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 เนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 ก.พ. DIMET แจ้งมติบอร์ดเรื่องการนำหุ้นเหลือจากขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 537.44 ล้านหุ้น จัดสรรให้แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 4 ราย ในราคา 0.315 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมและต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท และเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 บอร์ด DIMET แจ้งข่าวยกเลิกมติทีประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2563 และมีมติจัดสรรหุ้นดังกล่าวใหม่แก่นักลงทุน PP 2 ราย ในราคาพาร์
ดังนั้นทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมเกิดความสับสนและผลการดำเนินงานของ DIMET ขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี ประกอบกับกรรมการเดิมที่มีอยู่ไม่เป็นไปตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทจึงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัท
การจัดประชุมฯครั้งนี้เพื่อเสนอบอร์ดพิจารณาใน 2 วาระ คือ 1.พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการบริษัทเพิ่มอีก 9 ราย เพราะ DIMET ขาดทุนติดต่อกัน 3 ปี และมีการใช้เงินลงทุนในธุรกิจอื่นๆ จำนวนมาก โดยยังไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้น จึงจำเป็นต้องมีกรรมการที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และ 2.วาระการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อและจำนวนกรรมการซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท
ด้านนายชัชวาล อัศวกนกศิลป์ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อย DIMET ได้ยื่นฟ้อง บริษัท ไดเมท และ กรรมการบริษัท 8 ราย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2563 ฐานความผิดละเมิด ขอให้ระงับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง และระงับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จนกว่าคณะกรรมการบริษัทจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ดำเนินการได้ เนื่องจากพบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่อาจเข้าข่ายตามประกาศของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่กจ.3/2560 ที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ เนื่องจาก บอร์ดมีมติในการประชุมวันที่ 3 ก.พ.2563 นำหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือจากการเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จัดสรรให้แก่นักลงทุนในวงจำกัด (PP) 4 ราย ที่ราคาต่ำพาร์ โดยที่ไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2562
ทั้งนี้การกระทำดังกล่าว ขัดต่อพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ 2535 ที่กำหนดให้การเสนอขายหุ้นใดๆ ที่ต่ำกว่าราคาพาร์ ต้องกำหนดส่วนลดจากราคาพาร์ที่ชัดเจนและต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น แม้ที่ประชุมบอร์ดครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. มีมติยกเลิกมติที่ประชุมบอร์ด บริษัทครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. และมีมติจัดสรรหุ้นหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวแก่บุคคลในวงจำกัด 2 ราย ที่ราคาหุ้น 0.50 บาท ซึ่งการดำเนินการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแก่บุคคลในวงจำกัดนั้น ไม่ถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ทจ.73/2558 โดยขณะนี้ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้รับฟ้องไว้แล้ว นอกจากนี้ได้ร้องเรียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)