อนันดาแตะเบรกโครงการใหม่ โละสต็อก 38 โครงการ 2 หมื่นล้าน
อนันดา พลิกเกมรับมรสุมอสังหาฯ เบรกโครงการใหม่ไตรมาสแรก เร่งระบายสต็อกพร้อมโอน 38 โครงการมูลค่า2หมื่นล้าน จับเรียลดีมาน์ - ซื้อปล่อยเช่าคอนโดแนวรถไฟฟ้า ปัดฝุ่นไอดีโอ คิว พหลฯ-สะพานควาย เป็น ไอดีโอ เปิดขายเม.ย.นี้ ตั้งยอดขายลงเหลือ 2หมื่นล้านบาท
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยลบตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันนี้ 50 วันแรกของปี2563 ไม่ว่าสงครามการค้าสหรัฐ จีน เบร็กซิท ไวรัสโควิค -19 เสมือนมรสุมที่เข้ากระทบธุรกิจ ความรู้สึกขณะนี้เหมือนคนขับรถบัสที่ต้องพยายามขับให้ผ่านมรสุมความไม่แน่นอน ไปให้ได้ แม้ว่าใจจะอยากขับซิ่งเต็มที่แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ต้องลดคันเร่งลงเหลือ 80 , 60 หรือไม่ก็หยุดจิบกาแฟ
ดังนั้น ในปีนี้แนวทางการทำธุรกิจของบริษัทจะให้ความสำคัญธุรกิจหลัก คือ คอนโดมิเนียม ด้วยการนำสินค้าพร้อมขายในมือทั้งหมด ที่มีอยู่มูลค่า 124,000 ล้านบาท ประกอบด้วย คอนโด 108,000 ล้านบาท แนวราบ 16,000 ล้านบาท แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมาจากสินค้าที่เหลือ 95,400 ล้านบาทที่เปิดตัวแล้ว แยกเป็นยอดขายรอโอน 31,000 ล้านบาท และสร้างเสร็จพร้อมโอน 38 โครงการ 20,000 ล้านบาท มาจากคอนโด 30 โครงการจำนวน 2,700 ยูนิต มูลค่า 18,000 ล้านบาท ที่เหลือกว่า 44,000 ล้านบาทอยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนที่สองมาจาก 7 โครงการ มูลค่า28,600 ล้านบาทพร้อมเปิดตัวใหม่หากสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว
“อนันดาเรามีของที่เทิร์นเป็นเงินได้เร็วมากที่พร้อมจะเสิร์ฟให้ลูกค้าเทียบเหมือนกับเซเว่นฯที่เป็นเจ้าตลาดในคอนวีเนียนสโตร์ ที่มีสินค้าให้ลูกค้าเลือกมากที่สุดอนันดาเช่นกันเราเป็นเจ้าตลาดคอนโดติดรถไฟฟ้า เพราะ90% คอนโดเราติดรถไฟฟ้า ที่ตอบโจทย์คนใช้ชีวิตในเมืองช่วงนี้เนื่องจากดอกเบี้ยขาลง ขายในราคาปิดโครงการ บวกส่วนลดพิเศษ ฟรีโอน ฟรีส่วนกลาง ฟรีฟอร์นิเจอร์ สามารถลดหย่อนภาษีได้ ”
โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มเจน Cที่ใช้ชีวิตในเมืองที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัย และกลุ่มผู้ซื้อที่ต้องการลงทุนซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่าคอนโดแนวรถไฟฟ้าในราคา8,000-15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่รายได้ 60,000-80,000 บาท ในช่วงราคา 4 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งมีสต็อกอยู่ทั้งสิ้น 2,600 ยูนิต โดยนำดาต้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขาย รวมทั้งการลดต้นทุนในการทำโครงการจากการลงถึง35% จากการใช้เทคโนโลยี
นายชานนท์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้วางแผนการเปิดโครงการ ไอดีโอ พหลฯ-สะพานควาย ซึ่งเป็นโครงการที่มีการปรับเปลี่ยนจากโครงการไอดีโอ คิว พหลฯ-สะพานควาย เดิม ในราคาเริ่มต้น139,000 บาท/ตรม. ซึ่งจะเปิดโครงการนี้จะเปิดในเดือนเม.ย.นี้
ส่วนที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาอีก 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวม28,600ล้านบาท ซึ่งจะทยอยสร้างเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ประกอบด้วย 1.โครงการไอดีโอ คิว วิคตอรี่ 2.โครงการ เอลลิโอ เดล เนสต์ 3.โครงการแอชตัน อโศก-พระราม 9 4.โครงการ ไอดีโอ คิว สุขุมวิท 36 5.โครงการ Ideo Mobi Sukhumvit Eastpoint 6.โครงการ ไอดีโอ รัชดา-สุทธิสาร) และ 7.โครงการ เอลลิโอ สาทร-วุฒากาศ หากสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นก็พร้อมที่จะเปิดโครงการเพิ่ม
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายแหล่งรายได้ใหม่และสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลักด้วยการลงทุนในโครงการมิกซ์ยูสครั้งแรกร่วมกับกลุ่มบีทีเอสภายใต้บริษัทใหม่ บนที่ดินกว่า 200 ไร่ บริเวณหน้าโครงการ ธนาซิตี้ ติดถนนบางนา - ตราด โดยตั้งเป้าให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ที่มีจุดขายการศึกษา ในรูปแบบเทคแคมปัส สำหรับทุกในยุคดิจิทัลเพื่อพลิกโฉมวงการที่อยู่อาศัยให้สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองยุคใหม่ รวมทั้งการทำอินดิเพนเด้นท์ ลิฟวิ่ง สำหรับผู้สูงอายุแบบให้เช่า ซึ่งโครงการนี้ใช้ระยะเวลาพัฒนา 5-7 ปี โดยแบ่งออกเป็นเฟสๆ และจะขยายไปในโซนอีอีซี สำหรับกลุ่มดุสิตขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและพัฒนาร่วมกัน
นายชานนท์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะมีรายได้จากประจำ 300 ล้านบาท จากการเปิดให้บริการเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ SOMERSET RAMA9 เปิดตัว และโครงการ LYF SUKHUMVIT 8 และในอนาคตรายได้ประจำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มสินทรัพย์ในกลุ่มเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ เข้ามาในพอร์ต ปีละ 2 โครงการ ซึ่งในปี 2564 จะมีรายได้ประจำเพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาท จากการเปิดให้บริการโครงการ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ Ascott Thonglor และโครงการ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ Ascott Embassy Sathorn และในปี 2565 จะมีรายได้ประจำเพิ่มเป็น 1,800 ล้านบาทโดยในปี 2563 บริษัทวางเป้าหมายยอดขาย (Presale) ไว้ที่ 20,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 26,654 ล้านบาท