'Moonshot' ปฏิบัติการ เปิดเมืองจันท์สู่ดวงจันทร์
การผสมผสานหลากหลายโมเดลยั่งยืนจากท้องถิ่นและระดับโลก Moonshot มาประกอบร่างผ่านเวที Sustainable Brand ครั้งที่ 6 ระดมนักคิดนักสร้างแบรนด์ยั่งยืนแนวหน้าทั้งไทยและระดับโลกกว่า 40 ราย ภายใต้ธีม “SB’20 Chantaboon- Moonshots to Dream Food” ชูอาหารเป็นโอกาส
แบรนด์ยั่งยืน (Sustainable Brand) กลายเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ทุกองค์กรจะต้องนำมาวางให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจ หากแบรนด์นั้นต้องการทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืนในโลกธุรกิจจะต้องคำนึงถึง 3 เสา P คือ ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม(Profit-People-Planet) แบรนด์จึงเดินเพียงลำพังไม่ได้อีกต่อไป ต้องเปิดใจออกไปดูโลกภายนอก รับรู้ปัญหา หาเพื่อนธุรกิจ ทำให้แบรนด์เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าใจปัญหา และสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกับสังคม
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Director of Sustainable Brands Thailand และหนึ่งในผู้นำแนวทางการสร้างแบรนด์ยั่งยืน ผ่านการสัมมนา “Sustainable Brand” (SB) ที่ตั้งเป้าหมายทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนในการจัด SB ในไทยมาแล้ว 5 ครั้ง เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดจากนักธุรกิจ นักการตลาด ผู้ทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) และผู้บริหารจากองค์กรธุรกิจชั้นนำในทุกขนาด สร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรธุรกิจชั้นนำ ธุรกิจขนาดเล็ก และชุมชน
การจัดเวทีสัมมนา SB มาแล้วหลายครั้ง ทำให้เห็นผลกระทบของการตระหนักรู้ และความเข้าใจด้านการทำธุรกิจ กับความยั่งยืนของแบรนด์ ถือเป็นสิ่งที่จะต้องเดินไปควบคู่ความร่วมมือกับสังคม สิ่งที่เห็นชัดเจนมากขึ้นคือการที่ทุกบริษัททั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับซีเอสอาร์ว่าเป็นคำตอบในการสร้างแบรนด์ยั่งยืน
“เรื่องของความยั่งยืน เกือบเป็นภาคบังคับของธุรกิจที่จะแสวงหาผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีมิติของสังคม และสิ่งแวดล้อมมาพร้อมกัน”
ผู้นำแนวทางการสร้างแบรนด์ยั่งยืน มองถึงเทรนด์แบรนด์ยั่งยืนมาถึงไทยก็มีความตื่นตัวไม่ต่างกันกับทั่วโลก หลายแบรนด์มีแนวทางการทำงานคู่กับชุมชนได้อย่างดี ซึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมในสังคม ที่เติบโตมาจากสังคมแห่งการเกื้อกูล และมีศาสตร์พระราชา เป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้ภาคธุรกิจได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ
“ประเทศไทยได้ปฏิบัติด้านความยั่งยืนไม่แพ้ใครในโลก เพราะเติบโตมากับวิถีพุทธ ที่รู้จักความเมตตา กรุณา รวมถึงมีศาสตร์พระราชา ที่ยึดหลักความพอเพียง พอประมาณตั้งแต่เด็กๆ ปลูกฝังให้เราเข้าใจการแบ่งปัน สังคมเกื้อกูล องค์กรไทยจึงปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีดัชนีตัวชี้วัดที่เป็นสากล”
จะเห็นได้จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากเวทีสัมมนา SB ที่จัดมาแล้ว การรวมพลของเหล่านักคิด นักสร้างแบรนด์ยั่งยืน จะไม่จบสิ้นแค่เพียงงานสัมมนา แต่มีการต่อยอดขับเคลื่อนโครงการดีๆมากมาย โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบงานสัมมนา นอกจากการเรียนรู้ในห้องสัมมนาแล้ว ยังขยายวงไปสู่การร่วมมือกันทำงานกับชุมชน
“การทำซีเอสอาร์ในอดีตคนทำธุรกิจแต่ไม่เคยสัมผัส ดังนั้นการนำภาคธุรกิจได้พบกับชุมชน เป็นการได้รับโจทย์จากการสัมผัสของจริง ทำให้เข้าใจชุมชนได้เร็วขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาได้เร็ว และส่งมอบถูกจุด และส่งเสริมให้ชุมชนเข้าใจตัวเอง ผลักดันทำให้ชุมชนพร้อมขยับเขยื้อนไปสู่เป้าหมาย”
ภายในงานเวทีเสวนายังมีส่วนจุดประกายทำให้ทั้งแบรนด์เล็ก กลางใหญ่ รวมถึงชุมชนได้ต่อยอดไปสู่ระดับโลกได้ เมื่อเกิดการรวมตัวของคนที่มีจิตสาธารณะ จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งระดับชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ นักธุรกิจ และนักคิดและสร้างโมเดลระดับโลก ทำให้เกิดการลับคมแนวคิดของไทยให้มีโอกาสต่อยอดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ไปสู่ระดับโลกได้
“การสัมมนาเป็นการเชื่อมต่อความรู้ระดับโลกกับท้องถิ่น ทำให้เข้าใจความเคลื่อนไหวด้านความยั่งยืนระดับโลกเปลี่ยนแปลงไปถึงไหน ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญระดับโลกก็ได้เรียนรู้สิ่งที่เราคนไทยได้ทำมาด้วย เพราะเรามีดีที่จะอวดถึงโมเดลที่ท้องถิ่นต้นแบบความยั่งยืนให้กับคนทั่วโลกได้”
จาก 3 ปีแรก ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ มีผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์ยั่งยืนมาแบ่งปันความรู้ ตั้งแต่ระดับแบรนด์ใหญ่จนถึงแบรนด์เล็กจนขยายมาระดับชุมชน เริ่มต้นจัดที่ชุมชนบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ในปี 2561 ต่อด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร เขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ในปี 2562 เป็นมิติใหม่ในการออกไปเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิต ทำให้เกิดความเข้าใจปัญหาและสร้างร่วมมือที่ใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น
“แบรนด์ทุกแบรนด์ไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ทุกคนยิ่งใหญ่ได้ด้วยพลังที่จะช่วยสังคม ด้วยความร่วมมือที่เชื่อมต่อในซัพพลายเชน สร้างโครงข่าย ไม่มีใครทำคนเดียวได้ เพราะไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ทุกภาคส่วนจึงเสริมพลังกัน เป็นส่วนหนึ่งของการดิสรัป อาทิ หมูทอดเจ๊จง กับเบทาโกร ร่วมมือเป็นพันธมิตรกันพัฒนาอาหารให้มีสร้างเครือข่ายส่งต่ออาหารคุณภาพ จนวันนี้นำไปสู่การสร้างโอกาสให้คนในเรือนจำ รวมไปถึงความร่วมมือระหว่าง บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และมูลนิธิ อีโคอัลฟ์ (Ecoalf) ร่วมมือกันจัดการขยะในท้องทะเลไทยเป็นผลิตภัณฑ์ (Upcycling the Oceans) จนเกิดเป็นแบรนด์ Upcycling the Oceans
การสัมมนา SB ยังขยายไปสู่การพัฒนาชุมชนให้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาและสร้างคุณค่า ทำให้ชุมชนแข็งแรง อย่างชุมชนบางกระเจ้า ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ที่นักท่องเที่ยวต่างแวะเวียนไปสัมผัส ครั้งล่าสุดจัด SB ยังขยายไปต่างจังหวัด ทะเลชุมพรภาคใต้ เกิดการปรับเปลี่ยนชุมชนให้ยั่งยืน เช่น ชุมชนบ้านเกาะพิทักษ์ เกิดการแปลงฐานทุนท้องถิ่นสร้างคุณค่า จากหมู่บ้านชาวประมงสู่การสร้างรายได้ สร้างชุมชนน่าอยู่ แบ่งปัน รวมถึงความร่วมมือการพัฒนากาแฟพันธุ์โรบัสต้า โดยมีเจ้าของแบรนด์กาแฟรุ่นเก่าผสมกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ช่วยกันต่อยอดกาแฟให้สร้างคุณค่ายั่งยืนกันทั้งซัพพลายเชน
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งที่ 6 ภายใต้ธีม “SB’20 Chantaboon- Moonshots to Dream Food” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จ.จันทบุรี ระหว่าง 22-23 ก.พ.2563 ยังคงชูเรื่องอาหารเชื่อมชุมชน แบรนด์ และสร้างโอกาสเพราะเมืองไทยถือเป็นครัวของโลก มีจุดแข็งคือแหล่งอาหาร โดยเฉพาะจันทบุรี เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีภูมิประเทศธรรมชาติครบทั้ง แม่น้ำ ป่า เขา และทะเล จึงมีของดีขึ้นชื่อด้านอาหารมากมายที่สร้างการมีส่วนร่วมได้ทั้งห่วงโซ่
เช่นเคยว่าการผลักดันสร้างความยั่งยืนครั้งนี้ ได้ระดมนักคิดระดับโลกกว่า 40 ชีวิตมาร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อนำแบรนด์ไทยไปสู่สังคมที่ยั่งยืน โดยใช้”อาหาร” ผ่านการร่วมการขับเคลื่อนความฝันไปสู่ความเป็นจริง มีผู้บรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความยั่งยืน พร้อมอัพเดทเทรนด์การทำงานของเครือข่ายระดับโลก (Keynote speaker) จากหลากหลายด้าน
อาทิ ทางด้านอาหารเพื่อความยั่งยืนระดับโลก มาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley) นักปฏิวัติด้านอาหารและตัวแทนความยั่งยืนจากองค์การสหประชาชาติ ( UN SDG), ผู้ที่ทำงานร่วมกับสถาบัน Futurio แนวโมเดล คิดข้ามขีดจำกัด ฝันไกลไปสู่ดวงจันทร์ (Moonshot) มาร่วมเวิร์คช็อปแปลงความฝันถึงโลกสวยในอนาคตให้กลายเป็นจริง, มาร์ค แบรนด์ (Marc Brand) เชฟชื่อดังที่แจ้งเกิดจาก“อาหาร”ทำให้เปลี่ยนชีวิตเขา, ชาร์ลส์ อี. แมคจิลตัน (Charles E. McJilton) ผู้ก่อตั้ง Second Harvest ธนาคารอาหารเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ยากไร้แห่งแรกของประเทศญี่ปุ่น และคริส อุสเตอร์ไรค์ (Chris Oestereich) ผู้ก่อตั้ง Linear to Circular เพื่อช่วยบริษัทเกี่ยวกับกลยุทธ์ circular economy
นอกจากนี้ ยังมีการผสมผสานกับองค์ความรู้จากคนแนวทางด้านความยั่งยืนแบบไทย รวมพลังระหว่างคนในชุมชนของเมืองจันทบุรี ความยั่งยืนระดับท้องถิ่น โดยปราชญ์ชาวบ้าน และนักธุรกิจในจังหวัดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมไปการชิมผลงานสุดพิเศษ จากเชพชื่อดังของประเทศ ถ่ายทอดวิทยายุทธ์การปรุงให้กับผู้ก้าวพลาดจากเรือนจำจันทบุรี มาปรุงอาหารให้คนในงานได้ชิม ภายใต้ธีม Chefs for Chance และที่สำคัญยังพาออกไปสัมผัส 4 ชุมชน จาก4 ทริปที่พาไปชมชุมชนยั่งยืน อัญมณีที่มีคุณค่ายั่งยืนของจันทบุรี