สกพอ.ผนึก“ออสเตรีย” ต่อยอดสัตหีบโมเดล
เป้าหมายหลักของอีอีซี คือ การยกระดับทักษะขีดความสามารถของแรงงานไทย และสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยการยกระดับการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การเดินหน้าไปในแนวทางดังกล่าว กพอ.ได้ขยายความร่วมมือกับประเทศชั้นนำ เพื่อยกระดับการศึกษาของไทย โดยเฉพาะออสเตรียก้าวหน้าด้านอาชีวศึกษาและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมชั้นสูง
ทั้งนี้ จะร่วมมือกับออสเตรียพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการบุคลากรในอีอีซี ที่จะเพิ่มขึ้น 4.7 แสนคน ภายใน 5 ปี ในจำนวนนี้ 60% จะเป็นบุคลากรระดับอาชีวศึกษาและอีก 40% ระดับปริญญาตรีขึ้นไป
สำหรับความร่วมมือระหว่างไทย-ออสเตรีย คือ การขยายระบบการศึกษาอาชีวะในแนวทางสัตหีบโมเดลไปสู่อีอีซีโมเดล ที่ได้มาตรฐานเหมือนกับออสเตรีย ซึ่งจะนำไปใช้ในโรงเรียนอาชีวศึกษาในอีอีซี ซึ่งในอดีต 40 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรียมาช่วยวางรากฐานหลักสูตรการศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โดยความร่วมมือต่อจากนี้ออสเตรียจะเข้ามาช่วยขยายสัตหีบโมเดลไปสู่โรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งอื่น
ล่าสุดมีโรงเรียนอาชีวศึกษาในอีอีซี 14 แห่ง เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งวิทยาลัยอาชีวศึกษาประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนทำหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกงานที่รองรับความต้องการของภาคเอกชน โดยวิทยาลัยอาชีวะแต่ละแห่งที่เข้าร่วมจะมุ่งไปตามความเชี่ยวชาญของแต่ละแห่ง เช่น แมคคาทรอนิกส์หุ่นยนต์ อากาศยาน เทคโนโลยีการเกษตร
ส่วนความร่วมมือกับออสเตรียมี 5 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้บุคลากรไทย 2.การสร้างศูนย์ความเป็นเลิศรองรับอุตสาหกรรม S Curve
3.เชื่อมโยงเครือข่ายด้านการวิจัยและแลกเปลี่ยนอาจารย์ระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยกับออสเตรีย และการยกระดับแรงงานในทุกระดับ ซึ่งต้องเร่งพัฒนาความรู้ผ่านเครือข่ายระหว่างประเทศ
4.สร้างหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรและมาตรฐานหลักสูตร รวมทั้งทักษะที่จำเป็นสอดคล้องกับอุตสาหกรรม S Curve และ 5.พัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับออสเตรียให้เป็นโซลูชั่นที่ใช้ได้จริง
“โครงการอาชีวะตามแนวสัตหีบโมเดล เริ่มจากการคัดนักศึกษาระดับ ปวส.ที่มีศักยภาพเข้ามาเรียนในหลักสูตรที่ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนา โดยโรงงานจะให้ทุนการศึกษาเด็กเดือนละ 4,000 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้ให้ผู้ปกครอง และในปีที่ 2 จะเข้าฝึกงานจริงในโรงงานที่สถานประกอบการจะจ่ายค่าแรงวันละ 300 บาท และหลังจากจบการศึกษาจะรับเข้าทำงานทั้งหมด ซึ่งจะทำให้พัฒนาศักยภาพนักศึกษาได้ตรงจุด และโรงงานก็ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ มีทักษะที่ตรงกับงานเข้ามาทำงาน”
ความต้องการบุคลากรระดับอาชีวะของอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า จะมีไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน ซึ่งวิทยาลัยอาชีวศึกษาป้อนได้เพียง 6,000 คนต่อปี ดังนั้นจึงต้องขยายการศึกษาในแนวทางอีอีซี โมเดลไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษาในอีอีซีและพื้นที่รอบอีอีซี เพื่อสร้างแรงงานให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะช่วยยะระดับทักษะแรงงานของไทยให้เพิ่มขึ้น
เกออร์ค โคเนจสกี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจ ออสเตรีย กล่าวว่า ไทยกับออสเตรียมีความสัมพันธ์กับมายายนาน 150 ปี โดยออสเตรียจะขยายความร่วมมือกับไทยในทุกด้านในอนาคต ซึ่งหลังจากเข้ามาเยือนไทยใน 1 สัปดาห์นี้ ได้หารือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อขยายความร่วมมือการฝึกอบรมและการพัฒนาสถาบันการศึกษา
“วันศุกร์ที่ 28 ก.พ.นี้ จะเข้าหารือกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือในการอัพสกิล และรีสกิล ให้กับแรงงานไทยเพื่อให้เกิดทักษะใหม่”
รวมทั้งกำลังทำข้อตกลงกับรัฐบาลไทยเพื่อขยายความร่วมมือที่หลายหลายไม่ใช่เพียงด้านการศึกษา แต่จะขยายความร่วมมือการค้าและการลงทุนในไทยด้วย โดยมีบริษัท เลนซิง จากออสเตรียได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง มีมูลค่าลงทุน 200 ล้านยูโร และจะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มขึ้น
ทำให้ต้องร่วมมือกับไทยผลิตบุคลากรทักษะชั้นสูงรองรับ รวมทั้งจะร่วมมือกับไทยตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาร่วมกัน ซึ่งไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการเชื่อมต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งออสเตรียจะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับไทย
“โลกาภิวัฒน์และอุตสาหกรรม 4.0 ภาคผลิตต้องปรับทักษะแรงงานรองรับความเปลี่ยนแปลง และนักลงทุนที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตล้วนต้องการแรงงานทักษะสูง เดียวกัน ออสเตรียมีแผนร่วมกับหน่วยงานการศึกษาของไทยเพื่อผลิตแรงงานที่มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต”
อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า วิทยาลัยฯ มีนักศึกษารวม 5,800 คน ในจำนวนนี้อยู่ในโครงการสัตหีบโมเดล 367 คน แบ่งเป็นระดับ ปวช. 189 คน และระดับ ปวส. 367 คน โดยหลักสูตรการศึกษาของสัตหีบโมเดลจะร่วมมือกับโรงงานตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร การคัดเลือกนักศึกษาเข้าโครงการ การฝึกอบรมทั้งภาคการเรียนในห้องเรียนและการฝึกงานในโรงงานที่เข้มข้น ซึ่งโรงงานที่เข้าร่วมจะรับนักศึกษาที่จบออกมาเข้าทำงานทั้งหมด
โดยหลักสูตร สาขา ที่เปิดสอนจะอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งล่าสุด บริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ ผู้ผลิตชิ้นส่วนกลีบใบพัดเครื่องยนต์อากาศยาน และชิ้นส่วนปีกเครื่องบิน จากประเทศอังกฤษ ได้เข้ามาร่วมจัดทำหลักสูตรสาขาชิ้นส่วนอากาศยาน ในระดับ ปวส. เนื่องจากผู้บริหารบริษัทต้องการแรงงานที่จบออกมาทำงานได้ทันที จากปัจจุบันจะต้องรักผู้ที่จบ ปวส. เข้ามาฝึกอบรมทักษะต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้ ซึ่งหากมีแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ก็จะทำให้การดำเนินงานมีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูง