จับตา ‘ธนาคารกลาง’ หั่นดอกเบี้ย สู้ผลกระทบ ‘โควิด’ ระบาดทั่วโลก
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ หรือ โควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศต้องอัดฉีดมาตรการเพื่อประคองเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการการเงินและการคลัง ควบคู่ไปกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมหาภัย
ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ( เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉิน 0.5% เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย จะทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่าเฟดน่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1-2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เพื่อพยุงภาวะเศสร้างความเชื่อมั่นแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟด จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม 0.25% ในรอบประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ และลดอีก 0.25% ภายในเดือนมิ.ย.ปีนี้
" EICมองว่าFedมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจต่อไป เชื่อว่าการสื่อสารของเฟดในรายงาน FOMC ที่ระบุว่าเฟด พร้อมจะใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม(act as appropriate)เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในระยะต่อไปได้"
ด้านธนาคารกลางยุโรป ( ECB) คาดว่า ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับECB (Deposit Facility Rate: DFR) จาก -0.5%เป็น -0.6%ต่อปี ในรอบประชุมวันที่ 12 มี.ค.นี้ จากเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ค่อนข้างมาก ผนวกกับการสื่อสารของ "Christine Lagarde" ประธาน ECB ที่ระบุว่า ECB เตรียมพร้อมที่จะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ETFและปรับให้มีความยืดหยุ่นในการเข้าซื้อมากขึ้น โดยถ้อยคำแถลงของ “Haruhiko Kuroda” ประธาน BOJ ระบุว่า BOJ จะติดตามพัฒนาการของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงิน และสนับสนุนสภาพคล่องผ่านธุรกรรมตลาดเงินและการเข้าซื้อสินทรัพย์การเงิน ทำให้ EIC มองว่า BOJ น่าจะยังคงแนวทาง(guidance)ของการเข้าซื้อสินทรัพย์ETFต่อปีที่ระดับ 6 ล้านล้านเยน ทั้งนี้การเข้าซื้อ ETF น่าจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลงรุนแรง
ขณะที่ ธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเริ่มมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเช่นกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 3.75%ต่อปี, มาเลเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% มาอยู่ที่ 2.50%ต่อปี และออสเตรเลีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง0.25%มาอยู่ที่ 0.50%ต่อปี ซึ่งในระยะต่อไปตลาดคาดว่าธนาคารกลางในภูมิภาคส่วนใหญ่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม
สำหรับประเทศไทย EIC มองว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากกว่าที่คาด ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออกและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้เดิม นอกจากนี้ ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก(global supply chain)ยังรุนแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้าเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จึงอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม เพื่อให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำที่สุด
EIC มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบการเงินไทยได้บ้าง เอื้อต่อการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนปรับลดลง เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและภาคธุรกิจต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้อาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากนัก เนื่องจากการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาด้านอุปทาน(supply side) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ใหม่ (new demand)อาจมีผลจำกัด ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินร่วมกับการดำเนินมาตรการด้านอื่น ๆ เข้าช่วยจึงมีความจำเป็นมากขึ้น
อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกไม่มากนัก และจำเป็นต้องพึ่งพาการดำเนินนโยบายจากภาคส่วนอื่น ๆ ประกอบเนื่องจาก ความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินมีจำกัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเวลาที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ดังตามที่คาดไว้
ในระยะต่อไปEIC มองว่า ภาครัฐจะดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยEICคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาในระยะถัดไปจะเน้น กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นการบริโภค: cash handout และการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของCOVID-19โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารที่ได้รับผลกระทบจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับการขาดหายของอุปทานสินค้าจากจีน เป็นต้น