ร้อนเงิน…กรมธรรม์ประกันชีวิตใช้กู้เงินได้นะ

ร้อนเงิน…กรมธรรม์ประกันชีวิตใช้กู้เงินได้นะ

สมาคมประกันชีวิตไทย แนะทางออกเศรษฐกิจตีตั๋วขาลงและโควิด-19 ระบาด คนเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง ใครถือกรมธรรม์ประกันชีวิต มีทางออกสามารถเริ่มกู้เงินจากกรมธรรม์ได้ตั้งแต่ปีที่ 2เป็นต้นไปได้ ย้ำไม่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ

รายงานจากสมาคมประกันชีวิตไทย ระบุว่า ในช่วงเศรษฐกิจขาลง แถมยังมาเจอวิกฤตโควิด-19 ระบาดสมทบเข้าไปอีก ส่งผลกระทบออกเป็นวงกว้างโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน คนค้าขาย ที่ต้องหมุนเงินให้ทันกับการลงทุนและค่าใช้จ่ายจิปาถะ ทั้งค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเทอมลูก

เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างนี้ย่อมส่งผลกระทบทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง การกู้หนี้ยืมสินจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่แบกหน้าไปหยิบยืมจากคนรู้จักก็ต้องไปพึ่งพาสถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องลำบากหาหลักทรัพย์และคนมาช่วยค้ำประกัน บางคนถึงกับหาทางออกด้วยการกู้เงินนอกระบบและยอมแลกมากับการเสียดอกเบี้ยโหดจากหนี้นอกระบบ

สำหรับคนที่ทำประกันชีวิตไว้ มีทางออกเพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตมีค่าสามารถใช้กู้เงินได้ แต่ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับและยังไม่ได้ใช้สิทธิใช้เงินสำเร็จหรือขยายเวลาไปแล้ว โดยประกันชีวิตที่สามารถนำมากู้เงินได้ต้องเป็นแบบที่มีมูลค่าเงินสดอย่างแบบสะสมทรัพย์ แบบตลอดชีพและแบบบำนาญเท่านั้น ซึ่งปกติแล้วเมื่อเริ่มทำประกันชีวิตและจ่ายเบี้ยประกันในช่วง 1-2 ปีแรก กรมธรรม์จะยังไม่มีมูลค่าเงินสด

ดังนั้นจะเริ่มกู้เงินจากกรมธรรม์ได้ตั้งแต่ปีที่ 2เป็นต้นไป ขั้นตอนในการขอกู้เงินจากกรมธรรม์ก็ง่ายและรวดเร็วมาก เพียงแค่นำกรมธรรม์ฉบับจริงพร้อมสำเนาบัตรประชาชนไปติดต่อกับบริษัทประกันชีวิตที่ทำประกันอยู่ บริษัทประกันสามารถอนุมัติเงินกู้ให้กับผู้เอาประกันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะการกู้ยืมเงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตก็เหมือนการยืมเงินเก็บของตัวเองออกมาใช้ก่อน ส่วนจำนวนเงินที่กู้ยืมได้ก็ไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่ากรมธรรม์ประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันมี ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทรับประกันและแบบของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

สำหรับวิธีการดูว่าจะกู้ได้เท่าไหร่ เพียงเปิดกรมธรรม์ประกันชีวิตหน้าที่เป็นตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัยและคำนวณหามูลค่าเวนคืนเสียก่อน โดยใช้สูตรคำนวณ ดังนี้ 

มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ = ทุนประกันชีวิต  X จำนวนในตารางเวนคืน ณ สิ้นปีที่ต้องการ ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท 

ขอยกตัวอย่างการคำนวณหามูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ ดังนี้ นางสาว ก. ทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ 99/20 ทุนเอาประกันชีวิต 400,000 บาท นางสาว ก. จ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว 6 ปี ต้องการกู้เงินจากกรมธรรม์ เบื้องต้นนางสาว ก. ต้องนำทุนประกันชีวิต 400,000 บาท คูณ 56 หาร 1,000 บาท = 22,400 บาท ในกรณีนางสาว ก. จะสามารถกู้เงินได้ร้อยละ 80 ของมูลค่าเวนคืน จึงเท่ากับกู้ได้ 17,920 บาท

ส่วนดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ บริษัทประกันชีวิตจะคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยอีกประมาณ 2% ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยของแต่ละกรมธรรม์จะแตกต่างกันไป ผู้เอาประกันสามารถดูได้จากหน้าแรกของกรมธรรม์ประกันชีวิต  เช่นในเล่มนี้จะระบุอัตราดอกเบี้ยที่ 5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินกรมธรรม์จึงเท่ากับ 7% ต่อปีนั่นเอง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหนทางของการกู้ยืมเงินที่มีดอกเบี้ยถูกกว่าการไปกู้ยืมในรูปแบบอื่น ๆ และมีขั้นตอนไม่ต้องยุ่งยากทั้งในเรื่องเอกสาร และไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกัน ส่วนการจ่ายเงินคืนก็ไม่ได้มีข้อบังคับเหมือนกับกู้เงินนอกระบบ ผู้เอาประกันมีอิสระในการเลือกที่จะชำระคืนเงินกู้ จะผ่อนชำระเป็นรายงวดหรือถ้ามีเงินก้อนเพียงพอจะปิดทั้งหมดก็สามารถทำได้ทันที

ทั้งนี้ การกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตก็มีข้อควรคำนึงถึงอนาคตถ้าหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นก่อนที่ผู้เอาประกันจะชำระหนี้ครบ ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์จะตกเป็นของผู้รับผลประโยชน์ โดยที่บริษัทประกันชีวิตจะหักหนี้คงค้างก่อน เหลือเท่าไหร่ถึงจะจ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์ สำหรับกรณีที่ผู้เอาประกันไม่ชำระหนี้จนทำให้มูลค่าเงินกู้และดอกเบี้ยค้างจ่ายสูงกว่ามูลค่าเงินสดที่เหลืออยู่ในขณะนั้น กรมธรรม์จะถูกปิดและสิ้นสุดการให้ความคุ้มครองทันที ฉะนั้นเมื่อใดที่ผู้เอาประกันมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะนำกลับไปคืน ขอให้รีบนำไปชำระหนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้หลักประกันชีวิตที่เตรียมไว้เพื่ออนาคตของตัวผู้เอาประกันเองหรือคนที่รักนั้นไม่สูญหายไปหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นอย่างกะทันหัน