ทายาท “มาม่า” ปักธง 50 ปี สานต่ออาณาจักรบะหมี่ฯเบอร์ 1
สถานการณ์ผู้บริโภคตื่นตระหนก "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่"(โควิด-19) จนแห่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อ "ตุนสเบียง" ไว้เลี้ยงตัว "มาม่า" หนึ่ง #ของมันต้องมี ผู้บริหารยืนยันกำลังผลิตพอต่อความต้องการ โรงงานพร้อม แผนธุรกิจยังต้องขับเคลื่อนสู่การเติบโต
“มาม่า” แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของเมืองไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 50% จากตลาดรวมกว่า “หมื่นล้าน” ยังยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งมรยาวนาน โดยในปี 2565 “มาม่า” จะฉลองครบรอบ 50 ปี มีเป้าหมายใหญ่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต สร้างยอดขายแตะ 30,000 ล้านบาท
จากรุ่น “บิดา” ผู้ก่อร่างสร้างธุรกิจ มาสู่ “ทายาท” ต้องสืบทอดสานกิจการต่อยอดอาณาจักรให้เติบโตใหญ่
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TFMAMA หนึ่งในทายาทของ "พิพัฒ พะเนียงเวทย์" เล่าว่า การขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน “ผู้นำทัพ” รุ่นก่อนเริ่มถอยอยู่เบื้องหลัง และให้ทายาทมีบทบาทในการบริหารธุรกิจมากขึ้น ขณะที่พันธกิจสำคัญใน 2 ปีข้างหน้า เขาย้ำว่าบริษัทต้องการผลักดันยอดขายให้แตะ 30,000 ล้านบาท
ยอดขาย TFMAMA
จากปี 2562 สร้างยอดขายรวม 23,999.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.96% (รวมเพรซิเดนท์เบเกอรี่ หรือฟาร์มเฮ้าส์)แต่หากแยกเฉพาะมาม่ายอดขายเติบโต 9.41% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,943.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น15.82% โดยยอดขายที่โตมาจากการออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มพอร์ตบะหมี่ฯเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม “มาม่าออเรียนทัลคิตเชน” มาม่ารสผัดไข่เค็ม รวมถึงสินค้า “โจ๊ก” และพระเอกใหม่ “ข้าวต้มมาม่า” จนมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมเป็น 17-18% จากก่อนหน้านี้เติบโต 5-6% เท่านั้น
ข้าวต้ม 1 ใน พระเอกใหม่ของ "มาม่า"
ทั้งนี้ เพื่อให้ทะลุเป้าหมาย บริษัทจะขยายไลน์สินค้า และสร้างยอดขายชิงส่วนแบ่งทางการตลาดสินค้าอื่นที่ไม่ใช่บะหมี่ฯเพิ่มขึ้น เช่น หมวดข้าวต้ม โจ๊ก เฉพาะปี 2563 บริษัทมีแผนจะออกสินค้าใหม่ 5-6 รายการ เร็วๆนี้เตรียมส่ง “ข้าวต้มปลา” เสริมพอร์ตโฟลิโอข้าวต้ม รวมถึงสร้างการเติบโตให้กับมาม่าออเรียลทัลคิตเชน หลังจากที่ผ่านมามบะหมี่ฯจากต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดจำหน่ายในราคา 40-50 บาทต่อซอง ช่วยทลาย “กำแพง” และการยอมรับ(Perception)ของบะหมี่ฯ ที่ไม่ควรเกิน 6 บาทต่อซอง
“ปี 2565 มาม่าจะครบรอบ 50 ปี คุณพิพัฒ(รองประธานกรรมการบริษัท)ตั้งเป้ายอดขายไว้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากกลยุทธ์การขยายไลน์สินค้า เพิ่มการผลิต การส่งออก และรวมรายได้จากทุกบริษัทที่เราถือหุ้นเกิน 50% ด้วย”
ส่วนภาพรวมตลาดบะหมี่ฯในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้ไม่ต้องการออกจากบ้านเพื่อเผชิญความเสี่ยงต่างๆ ส่งผลให้ความต้องการ(Demand)สินค้าเพิ่มขึ้น เช่น จากเดิมผู้บริโภคซื้อมาม่า 6 ซอง เพิ่มเป็น 20-30 ซอง เป็นต้น
ชั้นวางสินค้าหมวดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ณ เทสโก้โลตัส สาขาอ่อนนุช (15 มี.ค.63)
แม้ดีมานด์สินค้าจะเพิ่มสูง แต่บริษัทยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาบะหมี่ฯ “ขาดแคลน” อย่างแน่นอน และไม่ใช่แค่แบรนด์มาม่า แต่รวมทุกยี่ห้อของตลาด เนื่องจากกำลังการผลิตบะหมี่ฯออกสู่ตลาดราว 300 ล้านซองต่อเดือน เฉลี่ยราว 10 ล้านซองต่อวัน เฉพาะมาม่าราว 5-6 ล้านซองต่อวัน และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตถึง 15 ล้านซองต่อวัน โดยยังไม่นับรวมสินค้านำเข้า
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงและการผลิตสินค้า หากความต้องการบริโภคสูงขึ้นมาก จะขอความร่วมมือพนักงานเดินเครื่องการผลิตสินค้า 3 กะ 24 ชั่วโมง และหากต้องผลิตช่วงสงกรานต์ยินดีจ่ายค่าแรง 3 เท่าตัว
“ตลาดบะหมี่ฯปีนี้โตแน่นอน ผลกระทบจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ผลักดันตลาดโตอยู่แล้ว ยิ่งมีสถานการณ์ซื้อสินค้าเพิ่ม(ตุน) ทุกแบรนด์ยังคงแข่งขันทำตลาดและโปรโมชั่น จากความต้องการสินค้าเพิ่มมองว่าจะไม่ถึงขั้นวิกฤติสินค้าขาดหรือผลิตไม่ทัน ยืนยันว่าสินค้ามีเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน นี่ไม่นับรวมโจ๊ก ข้าวต้ม และเส้นประเภทอื่นด้วย”
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกไปยังจีนมากนัก เพราะบริษัทค่อนข้างขยายตลาดอย่างระมัดระวังแลกำหนดสัดส่วนส่งออก 20-25%
ปีนี้เศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว และมีโรคระบาดทุบซ้ำธุรกิจ ยอมรับว่า ผู้ประกอบการค่อนข้าง “ช็อก” แต่ประเทศไทยค่อนข้างรู้เหตุการณ์เร็วและเป็นประเทศแรกๆที่รับมือโรคดังกล่าว ส่วนประชาชนกลัวไวรัสมากเกินไปหรือไม่ มองว่าไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่า
ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค เดิมออกจากบ้านไปชิมช้อปใช้ภายในห้างค้าปลีกเพราะต้องการความสบายใจ แต่เมื่อมีโรคระบาด และดิจิทัลดิสรัปชั่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจทำให้ “เปลี่ยน” พฤติกรรมซื้อสินค้าจนไม่กลับไปห้างค้าปลีกได้
“เมื่อก่อนมีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ช้อปออนไลน์ แต่มีปัจจัยทำให้เปลี่ยนพฤติกรรม และหากช้อปออนไลน์เก่ง และ 6 เดือนนี้คนไม่ไปเดินห้างแล้วพฤติกรรมเปลี่ยนไปเลย ห้างอาจได้รับผลกระทบ”
สำหรับภาพรวมปี 2563 มาม่าตั้งเป้ายอดขายเติบโต 5% บริษัทยังขานรับนโยบานรองประธานบริษัท ในการตุนกระแสเงินสด และไม่กู้เงินมาลงทุนด้วย