Chefs for Chance’ พลิกชีวิตผู้ก้าวพลาดด้วย“โอกาส”
การรวมตัวของเชฟกระทะเหล็กจิตอาสา ที่ต้องการผันจากนักปรุงอาหารมาสู่นักสร้างสรรค์สังคม ยอมคายวิชาให้กับผู้ก้าวพลาด โดยใช้“อาหาร” เป็นสื่อดึงคน องค์กรต่างๆ มาปฏิสัมพันธ์ พูดคุยผ่านการทานอาหาร นำไปสู่บทสนทนาที่มีคุณค่า เกิดโมเดลปลดล็อกปัญหาพลิกชีวิตให้สร้างความเท่าเทียมให้คนในสังคม
“เมื่อวันที่ชีวิต เดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน จนบางครั้งคนเราไม่ทันได้ตระเตรียมหัวใจ” บทเพลง “Live and Learn” ดนตรีเยียวยา ปลอบประโลมหัวใจ พร้อมกันกับการเปิดตัว 12 เมนูเด็ด เช่น สลัดโรล ต้มกระวานปลาหมึกยัดไส้หมููสับทรงเครื่อง แกงหมูชะมวง ปรุงโดยน้องๆ ผู้ก้าวพลาดจากเรือนจำจันทบุรี ได้รับคำชื่นชมผู้เข้าประชุม Sustainable Brand (SB’20) ในงานเลี้ยงอาหารมื้อค่ำ หนึ่งในการโชว์ฝีมือโครงการ “Chefs for Chance : Training & Inclusive Dinner with “Behind the Bar Chefts” ที่มีทั้งองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรภาคธุรกิจและภาครัฐเข้าร่วม ชิมเมนูที่รังสรรค์จากเชฟผู้ก้าวพลาด โดยขายบัตรเพื่อการกุศลมูลค่า 3,000 บาท
คำชมที่หลั่งไหลไม่ขาดสายมีผู้อยู่เบื้องหลังคือ เชฟกระทะเหล็ก (Iron Chef) ของเมืองไทย อาทิ เชฟเนตร-เนตรอำไพ สาระโกเศศ ผู้สั่งสมประสบการณ์จากสถาบัน Le Cordon Bleu หนึ่งในกรรมการและคอมเมนท์เทเทอร์หลักของรายการ Iron Chef, เชฟเจ้จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จงอันเลื่องชื่อ, เชฟพี่หนึ่ง-สิรีสุรีนันท์ จงศิริกุล เจ้าของแบรนด์สลัดไฮโซ, เชฟจากัวร์-ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ เจ้าของฉายา “พ่อครัวข้าวแกงเงินล้าน”, เชฟปริญญ์ ผลสุข เจ้าของสำรับสำหรับไทย และอดีตหัวหน้าพ่อครัวแห่ง Nahm และเชฟพลอย-ฐาติกานต์ ตันฑจินะ ครัวสอนทำอาหารและขนม และเชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ แห่ง Blackitch Artisan Kitchen เชฟเทเบิ้ลท้องถิ่นแห่งเชียงใหม่
เชฟระดับพระกาฬเหล่านี้จะเข้าไปประกบคู่กับน้องๆ ในเรือนจำถ่ายทอดฝึกปรือวิชานานกว่า 2 เดือน นำวิชาความรู้ด้านการปรุงอาหารจากเชฟของเมืองไทยไปถ่ายทอดให้กับผู้ก้าวพลาดในเรือนจำ ให้น้องที่เคยก้าวพลาดได้มีวิชาชีพเสน่ห์ปลายจวักติดตัวเป็นใบเบิกทางกลับมายืนในสังคม และกลับมาค้นหาฝันอีกครั้ง
อรรถรสที่อิ่มเอมของผู้ร่วมงาน ไม่ใช่เพียงการลิ้มลองอาหารเลิศรสฝีมือปรุงโดยผู้ก้าวพลาด รสชาติอาหารเข้มข้นขึ้นด้วยเรื่องราวการสอน “วิชาอาหาร” กับ “วิชาชีวิต” จากห้องเรียนล้อมรอบกรงขัง ทำให้วันนี้พวกเขาก้าวข้ามอดีตมองเป็นหนึ่งบทเรียน พร้อมใช้ชีวิตใหม่เมื่อมีผู้หยิบยื่นเกียรติ ศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมให้กลับมายืนในสังคมอีกครั้ง
เอนก ทองลอย ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ให้มุมมองถึงการที่ทีมเชฟกระทะเหล็กของเมืองไทยได้รวมตัวกันเพื่อหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยนำร่องจ.จันทบุรีเป็นเรือนจำแห่งแรก ที่ได้รับโอกาสจากโครงการ “Chefs for Chance” เชฟหลายคนชนะเลิศกวาดรางวัลระดับประเทศ ยอมฝ่าด่านตรวจคุมเข้มเพื่อเข้าไปถ่ายทอดวิชาให้กับน้องๆ ผู้ก้าวพลาดกว่า 2เดือน โดยนำทั้งวิทยายุทธ์การปรุงอาหาร และการใช้ชีวิต สอนให้น้องผู้ก้าวพลาดมีเกราะป้องกันไม่หวนกลับมาเส้นทางเดิม
“เรือนจำได้รับโอกาสดีๆ ส่งถึงน้องผู้ก้าวพลาด เดินผิดจังหวะ ทำให้เห็นถึงความเมตตา น้ำจิตน้ำใจ ความเสียสละ โอบอ้อมอารีย์ จากคนในสังคม เชฟยอมฝ่าด่านการตรวจค้น ตรวจตรา หลายขั้นตอน ด้วยความมุ่งมั่น ที่ไม่ใช่สอนเพียงแค่วิชาการทำอาหาร แต่ยังสอนวิชาการใช้ชีวิต อย่างเช่น เจ๊จงผู้ที่มีออดีตเป็นหนี้มากมายหลายล้านบาทแล้วพยายามใช้หนี้ที่กู้ยืมมา ทีละเล็กละน้อยจนหมด และกลับมาตั้งตัวได้"
การให้โอกาสกลับคนในเรือนจำได้มีวิชาชีพการทำอาหารติดตัวจึงมีคุณค่ายิ่งใหญ่ ที่ส่งต่อพลัง ทำให้คนที่ขาดโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตดูแลครอบครัว สังคม และเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติ และสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้กลับมาอีกครั้ง โดยเติมเต็มองค์ความรู้ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากมีฝีมือแล้วน้องๆ จะมีที่ปล่อยวิชาคือร้านข้าวแกงข้างร้านจำ “เรือนจันท์ ครัวไทย” และ“ร้านกาแฟเรือนจันแลนด์”เป็นร้านฝึกอาชีพทำอาหารและทำขนม
“ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้ความอดทนอดกลั้นในการประคองชีวิตลดลง ทางเรือนจำจึงได้ผสมผสานการฝึกอบรม สั่งสอน ชี้แนะความรู้วิถีพอเพียงในเรือนจำไม่ให้ก้าวพลาดไปติดหนี้”
ด้าน ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Director of Sustainable Brands Thailand เล่าถึงที่มาของโครงการ “Chefs for Chance” โครงการเพื่อสังคมที่มองเห็นคนตัวเล็กที่ถูกมองข้ามในเรือนจำ มาเชื่อมโยงกับ”เชฟ” วิชาชีพที่ไม่เพียงปรุงอาหารเลิศรสให้คนทาน แต่สามารถสร้างสรรค์สังคมดีได้ ซึ่งเรือนจำจันทบุรี เป็นโมเดลแรกที่จะส่งต่อโอกาส ไปยังเรือนจำอื่นๆ ทั่วประเทศ
“เชฟมีความสามารถโน้มน้าวจิตใจ เป็นต้นแบบของสังคมได้ จึงดึงเชฟที่มีหัวใจแบ่งปันพร้อมรับผิดชอบสังคม ทำสิ่งที่มากกว่าปรุงอาหารมาสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม ไม่ใช่ แค่ส่งมอบอาหาร แต่เป็นการส่งมอบโอกาส”
เชฟเนตร-เนตรอำไพ สาระโกเศศ หนึ่งในเชฟผู้ส่งมอบโอกาสมองเห็นสิ่งที่หยิบยื่นให้น้องผู้ก้าวพลาดเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา คือโอกาสเริ่มต้นชีวิต ถือเป็นการเปิดประตูอีกบานให้มองเห็นเส้นทางใหม่ที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้
“ทุกคนที่ก้าวพลาดต้องการเริ่มต้นใหม่ทุกคนมองว่ายากมาก จึงหยิบยื่นให้ได้ทำในสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนมุมมองได้กว้างขึ้นจากที่มองเห็นแต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ตลอดเวลาให้เป็นไปได้ ซึ่งผลตอบแทนนั้นสูงหาค่าไม่ได้ คือคำขอบคุณของคนที่ไม่มีอะไร”
หนึ่งในน้องผู้ก้าวพลาดที่มีโอกาสได้เรียนรู้กับเชฟมองว่าการฝึกปรือฝีมือจากครั้งนี้เป็นจุดพลิกที่จะตั้งตัวให้กับตัวเอง
“โอกาสขอไม่ได้นอกจากจะมีใครหยิบยื่นให้และเราต้องรีบคว้าไว้ หากมีโอกาสได้ออกไปแล้วทำได้ดีอย่างพี่เชฟ เราก็เอาโอกาสกลับมาคืนให้กับที่นี่เช่นกัน” ปณิธานหลังน้องได้รับโอกาสเรียนรู้จากเชฟ
ไม่เพียงเฉพาะเชฟในไทยเท่านั้น ที่ใช้อาชีพเชฟเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น โดยมาร์ค แบรนด์ (Mark Brand) เป็นหนึ่งในเชฟจากต่างประเทศได้มีโอกาสเข้าแลกเปลี่ยนวิธีการทำอาหารกับน้องๆ ในเรือนจำจันทบุรี 1วัน ซึ่งมาร์ค เป็นเชฟชื่อดังแจ้งเกิดจาก“อาหาร”เปลี่ยนชีวิตเขาเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจดึงให้คนมาร่วมกันทำสิ่งดีๆให้กับสังคม จากอดีตผู้ที่เคยตกอยู่ในสภาวะไร้บ้าน(Homeless) จนบางเสี้ยวของชีวิตหันไปพึ่งยาเสพติด จึงทำให้เขาเข้าใจคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลในสังคม และหันมาเป็นผู้ขับเคลื่อนโอกาสให้กับคนกลุ่มเล็กๆในสังคม
ภารกิจของเขานอกจากเป็นเจ้าของร้านอาหารมีชื่อเสียงในแวนคูเวอร์ ยังก่อตั้งบริษัทธุรกิจเพื่อสังคม MarkBrand Inc. ทำอาหารเลี้ยงให้กับบ้านที่ดูแลผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสังคมประมาณ 722 มือต่อวัน รวมถึงมูลนิธิ A Better Life เพื่อระดมเงินเลี้ยงอาหารให้กับผู้ไร้บ้าน โมเดลนี้ได้ขยายไปในสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก โดยรวมเขาเลี้ยงอาหารคนมากกว่า 2 ล้านมื้อ ผ่านการซื้อเหรียญ TOKEN นำไปให้กับผู้ยากไร้ใช้เป็นคูปองแลกอาหารทาน
แนวคิดของเขาเชื่อว่า "อาหาร” เป็น "ยาวิเศษ" พลังเยียวยาปัญหาในสังคมได้ เพราะการทานอาหารทำให้เกิดพลังงานขับเคลื่อนความคิด ชีวิตในการต่อสู้ ทำให้หลากหลายแบรนด์เข้ามาสนับสนุนไม่ว่าภาคธุรกิจและองค์กรเพื่อสังคม รวมไปถึงคนทั่วไปอยากมีส่วนร่วมอุดมการณ์กับเขา
“อาหารคุณภาพมันส่งผลต่อสุขภาพดี ส่งเสริมความคิดดี อยากเป็นคนดีมีคุณค่าในสังคม”
เขาใช้อาหารเป็นสื่อดึงคนมาเจอกันในงานเลี้ยงอาหารมื้อค่ำดึงคนด้อยโอกาส และคนที่ต้องการแบ่งปันสิ่งดีๆในสังคมมาเจอกัน ร่วมพูดคุยกัน เกิดบทสนทนา และความคิดดีๆ ในการร่วมแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงการเปลี่ยนมุมมองให้ผู้ไร้บ้านได้ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง
“ความโดดเดี่ยว เดียวดาย คือสาเหตุหลักของปัญหาที่ฉุดให้คนหันไปพึ่งพายาเสพติด” นี่คือแนวคิดจุดประกายทำร้านอาหารเป็นพื้นที่เลี้ยงคนไร้บ้าน พึ่งยาเสพติด ให้พวกเขาได้รู้ว่าไม่ได้เผชิญอยู่ในโลกที่ซับซ้อนอย่างอ้างว้างเพียงลำพัง
เป้าหมายอันสูงสุดของมาร์ค แบรนด์ คือการวางมือไม่ต้องทำงานนี้อีกต่อไป นั่นหมายถึงปิดภารกิจไม่มีปัญหาผู้ยากไร้ คนหิวโหย คนไร้บ้าน คนติดยา เพราะสังคมมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
สิ่งที่มีความหมายในชีวิตเชฟของเขาคือ การสร้างพื้นที่ให้กับผู้ไร้โอกาสได้มีโอกาส จะเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนและมีคุณค่ากว่าเป้าหมายของการเป็นเชฟ “มิชลินสตาร์” ได้ขายอาหารราคาแพง มีคนต่อคิวมาทานอาหารในร้าน นั่นเป็นเพียงแค่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ยาวมีกำไรอาจจะ 10-15 ปี เขาคิดยาวไกลกว่านั้น
“เชฟมิชลินสตาร์ได้ขายอาหารราคาแพง แต่การสร้างพื้นที่ สร้างชุมชนให้คน (Community) มาปฏิสัมพันธ์กัน สร้างโอกาสให้คนจะเป็นแบรนด์ยั่งยืนตลอดกาล เพราะคนจะหลั่งไหลเข้ามาไม่มีสิ้นสุด”