5 ปัจจัยหนุน 'ทองคำ' 'วายแอลจี บูลเลี่ยนฯ'

5 ปัจจัยหนุน 'ทองคำ' 'วายแอลจี บูลเลี่ยนฯ'

'ทองคำ' ไม่ติดเชื้อโควิด-19 บ่งชี้ผ่านราคายังสูง แต่แนวโน้ม 'ผันผวน' ! 'ฐิภา นววัฒนทรัพย์' นายหญิง 'วายแอลจี' วิพากษ์ทิศทางเป็น 'ขาขึ้น' ท่ามกลาง '5 ปัจจัยบวก' หนุนทำ New High ในรอบ 8 ปี อยู่ที่ 1,920.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย...

พลันที่... สถานการณ์ทั่วโลกเปราะบาง จากปัจจัยลบรุมเร้า ! 'นักลงทุน' ถอยหนีจากสินทรัพย์เสี่ยงสูง ทว่าหนึ่งสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่ นักลงทุนวิ่งเข้าใส่และยกให้เป็น 'หลุมหลบภัย' ไม่พ้น 'ทองคำ !' ดังนั้น ในปี 2563 สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์ 'ดาวรุ่ง' ในย่ามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนระดับสูง โดยเฉพาะผลกระทบที่ไม่สามารถคาดเดาว่าจะจบลงเมื่อไหร่อย่าง การระบาดของเชื้อโควิด-19 

สะท้อนผ่าน นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไป ทำ 'จุดสูงสุด' (New High) อยู่ที่ 1,611 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2563) ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 7 ปี !

'ฐิภา นววัฒนทรัพย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า มีมุมมองราคาทองคำในปี 2563 เป็น 'ขาขึ้น' ต่อเนื่อง ซึ่ง YLG มีการขยับกรอบการคาดการณ์ราคาทองคำในปีนี้ขึ้น หลังล่าสุด ณ วันที่ 9 มี.ค. 2563 ราคาทองคำขึ้นมาทดสอบ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ YLG ปรับแนวต้านแรกจาก 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาเป็น 1,723 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็น New High เมื่อเดือน ธ.ค. 2555 หรือในรอบ 8 ปี ! 

ทั้งนี้ หากราคาผ่านขึ้นไปยืนเหนือระดับดังกล่าวได้อย่างแข็งแกร่งประเมินว่าราคาทองคำจะแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อ โดยจะมีแนวต้านถัดไปอยู่ในโซน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโซนเป็นระดับ 'สูงสุด' ของราคา ช่วงเดือน ก.พ. , ก.ย. และ ต.ค. ปี 2555 และเป็นจุดที่ราคาทดสอบหลายแต่ก็ไม่สามารถผ่านได้  

สำหรับแนวรับแรกของปี 2563 นั้น ยังคงอยู่ในบริเวณ 1,545  ดอลลาร์ต่อออนซ์  และมีแนวรับถัดไปบริเวณ 1,445 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ระยะยาวมุมมองราคาทองคำจะเป็นบวก แต่ในระยะสั้นราคาทองคำมี 'ความผันผวนสูงขึ้น' หลังจากขึ้นมาเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี นักลงทุนจึงต้อง 'ระมัดระวัง' แรงขายที่จะสลับออกมาเป็นระยะ โดยมีกรอบแนวต้านแรกบริเวณ 1,687-1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์  และประเมินแนวรับระยะสั้นไว้บริเวณแนวรับ 1,657-1,642 ดอลลาร์ต่อออนซ์

เธอ บอกต่อว่า แม้ว่าราคาทองคำในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่ต้องจับตามองต่อทิศทางราคาทองคำ 'ขึ้น' หรือ 'ลง' จาก 'ปัจจัย 5' นั่นคือ  ข้อ1.เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องมาจากการระบาดของไวรัส Covid-19 หลังเกิดการระบาดแล้วในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก จนกระตุ้น 'ความวิตกกังวล' (Panic) ว่าสถานการณ์อาจ 'เลวร้าย' ถึงขั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจ 'ถดถอย' ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ข้อ 2. อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มอยู่ใน 'ระดับต่ำ' เนื่องจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลก ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย

ข้อ 3. สงครามการค้าสหรัฐและจีน มีแนวโน้มยืดเยื้อ แม้ทั้ง 2 ประเทศจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การเจรจาการค้าเฟสถัดไปยังไม่แน่นอน อีกทั้งยังมีประเด็นการระบาดของ Covid-19 ที่มีแนวโน้มกระทบกับแผนการของจีนในการเข้าซื้อสินค้าและบริการของสหรัฐตามข้อตกลงการค้าเฟส 1 ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับภาพรวมของการเจรจาการค้าในอนาคต

ข้อ 4. ปัจจัยความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความขัดแย้งในสหรัฐและตะวันออกกลาง  เกาหลีเหนือที่เริ่มทดสอบขีปนาวุธอีกครั้งในปีนี้ รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย. นี้  และข้อ 5. กระแสเงินทุนไหลเข้าทองคำ สะท้อนจากนักเก็งกำไรที่ยังคงถือครองสถานะซื้อสุทธิในสัญญาฟิวเจอร์สทองคำตลาด COMEX เป็นสัปดาห์ที่ 45 ติดต่อกัน  รวมถึงกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำอย่าง SPDR ทำให้ปีนี้ SPDR ถือครองทองคำเพิ่มแล้วมากกว่า 60 ตันภายในระยะเวลา 2 เดือนกว่า

'นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (9 มี.ค.) ราคาทองคำในตลาดโลก หรือ Gold Spot ปรับตัวสูงขึ้น 147.92 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 9.75% จากราคาเปิด 1,517.71 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,665.64ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมกับขึ้นไปแตะระดับสูงสุดของปีนี้ 1,703.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี ในระหว่างการซื้อขายของ 9 มี.ค.'

'หญิงเก่ง' บอกว่า หากย้อนกลับไปในปี 2555 ที่เกิดวิกฤติ Subprime Mortgage Crisis จนเป็นผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยควบคู่ไปกับการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (QE) ซึ่งผลจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟด 'กดดัน' ให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง รวมถึงความวิตกที่ว่าการอัดฉีดเงินในปริมาณมากอาจผลักดันให้เกิดภาวะ 'Hyperinflation' คือ สถานการณ์ที่ 'เงินด้อยค่ามากจนไม่มีใครอยากได้' 

'และนั้นเป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาทองคำขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์บริเวณ 1,920.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (6 ก.ย. 2011)'

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันจะเห็นว่ามี 'โอกาสมากขึ้น' ที่ราคาทองคำจะทะยานขึ้นไปสู่ระดับดังกล่าว  หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินนอกรอบการประชุมถึง 50 bps (เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา) และยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของ Covid-19 

อย่างไรก็ดีในทางเทคนิคราคาจะต้องผ่านแนวต้านสำคัญโดยเฉพาะโซนใกล้ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเป็นกรอบแนวต้านถัดไปที่ YLG ประเมินไว้ อีกทั้งยังเป็นระดับสูงสุดของราคาช่วงเดือน ก.พ. ,ก.ย. และ ต.ค. ปี 2555 ซึ่งเป็นจุดที่ราคาทดสอบหลายแต่ก็ไม่สามารถผ่านได้เช่นกัน  

'แต่ที่สำคัญคือจะต้องมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินในโหมดของ unconventional monetary policies อาทิ การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ และการผ่อนคลายเชิงปริมาณในรูปแบบต่างๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นหลังเศรษฐกิจสหรัฐเกิด Subprime Mortgage Crisis ในปี 2008 ซึ่งนั่นจะเพิ่มโอกาสที่ทองคำจะทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่เหนือ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์' 

แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ช่วยสร้างแรงหนุนให้กับราคาทองคำ แต่ในระยะสั้นทองคำมีความผันผวนมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงระยะนี้คือ แรงขายทำกำไรเนื่องจากสินทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ,น้ำมัน มีการดิ่งลงอย่างรุนแรงทำให้นักลงทุนและเทรดเดอร์จำนวนมากเผชิญกับการถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม (Margin call) 

ดังนั้นจึงทำการเทขายทุกสินทรัพย์ที่สามารถทำได้เป็นที่มาของแรงขายทำกำไรในทองคำเพื่อนำเงินไปใช้เติมเงินหลักประกัน รวมถึงชดเชยผลขาดทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งนั่นจะทำให้นักลงทุนทองคำจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนให้มีความเหมาะสม

ท้ายสุด 'ฐิภา' บอกไว้ว่า ในส่วนการลงทุนทองคำ ในแง่ของการออมลูกค้ายังคงเป็นช่วงทุกวัย แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นช่วงวัยทำงาน เพราะยังมีการแบ่งออมและบริการจัดการเรื่องการออมโดยเลือกทางการออมทองเป็นตัวเลือกอย่างอีกทาง 

กลยุทธ์ลงทุนระยะสั้น-ยาว

'ฐิภา นววัฒนทรัพย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เล่าต่อว่า สำหรับ 'กลยุทธ์' การลงทุนทั้งระยะสั้นและยาว แนะนำใช้กลยุทธ์เข้าซื้อเมื่อราคามีการย่อตัวเข้าใกล้บริเวณแนวรับ ควรเหลือเงินทุนเพื่อซื้อเฉลี่ยหากราคาหลุดแนวรับแรกซึ่งราคาจะปรับตัวลงไปบริเวณแนวรับถัดไป เมื่อราคาขึ้นทดสอบแนวต้าน ยังไม่สามารถผ่านไปได้แนะนำขายทำกำไรบางส่วน

โดย 'นักลงทุนระยะสั้น' อาจขายบางส่วนหากราคาดีดตัวขึ้น แต่ไม่สามารถยืนเหนือบริเวณแนวต้าน 1,703-1,723 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (โซน High ของปีนี้ และ High ธ.ค. ปี 2555) และรอเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลงมาบริเวณแนวรับ 1,657-1,642 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ควรตั้งจุดตัดขาดทุนเพื่อควบคุมความผันผวน หากราคาหลุดแนวรับ 1,642 ดอลลาร์ต่อออนซ์ด้าน

'นักลงทุนระยะยาว' แนะนำขายบางส่วนหากราคาดีดตัวขึ้น แต่ไม่สามารถยืนเหนือบริเวณแนวต้าน 1,723 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (โซน High ของปีนี้ และ High ธ.ค. ปี 2555) เช่นเดียวกับนักลงทุนระยะสั้น skd ผ่านได้สามารถถือต่อเพื่อรอขายที่แนวต้านถัดไปในโซน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อย่างไรก็ตาม หากต้องการเข้าซื้อควรรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลงแนวรับโซน 1,562-1,545 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ทยอยซื้อเก็บบางส่วนหากไม่หลุดแนวรับ) และควรเผื่อไม้ไว้สำหรับสะสมทองคำเพิ่มหากราคาหลุดโซนดังกล่าว  

เธอ บอกต่อว่า YLG แนะนำว่าทองคำถือเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่นักลงทุนควรจะถือครองไว้ในพอร์ตลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงท่ามกลางความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2563 เพราะไม่ควรทุ่มเงินไปกับการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เพราะหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ อาจสูญเสียเงินทั้งหมดในคราวเดียวกัน 

ดังนั้นการจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์และทิศทางการขึ้นลงของราคาที่แตกต่างกัน การขาดทุนจากการลงทุนประเภทหนึ่ง อาจถูกชดเชยด้วยกำไรจากการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มพูนผลตอบแทนโดยรวมอีกด้วย

สำหรับ ปัจจุบันพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมท่ามกลางความเสี่ยงทางทั้งการเงินและการเมืองนั้น แนะนำลงทุนในหุ้น 50% , ตราสารหนี้ 30% , เงินสด 5% และที่เหลืออีก 15% ควรลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ !