กรมเจ้าท่าเร่งศึกษาสร้าง 4 ท่าเรือแห่งใหม่ในภาคใต้
กรมเจ้าท่าศึกษาท่าเรือเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าอ่าวไทย – อันดามัน กรมเจ้าท่ารับลูก ชงงบ 150 ล้าน เร่งศึกษา 4 ท่าเรือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนองบูมเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ และอันดามันตอนล่างก่อสร้างปี 2566
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการประชุมแนวทางการพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าฝั่งอ่าวไทย – อันดามัน โดยระบุว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงแนวทางการพัฒนาของกรมเจ้าท่า (จท.) ซึ่งประกอบไปด้วย แนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน พบว่าขณะนี้ จท.อยู่ระหว่างศึกษาพัฒนา 2 ท่าเรือ ได้แก่
1.ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 อยู่ระหว่างการศึกษาสำรวจออกแบบและศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) แต่เกิดปัญหาความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว ประกอบกับ โครงการมีความซ้ำซ้อนกับพื้นที่พัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับ ศอ.บต. เพื่อความชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไป
สำหรับท่าเรือสงขลา 2 จะอยู่ห่างจาก จ.สงขลาประมาณ 30 กิโลเมตร ตามเป้าหมายจะเริ่มพัฒนาในปี 2565 แล้วเสร็จในปี 2570 แบ่งการพัฒนาออกเป็น ระยะ 1 รับเรือกินน้ำลึก 12.5 เมตร ความลึกหน้าท่า 14.0 เมตร และระยะ 2 รับเรือกินน้ำลึก 13.9 เมตร ความลึกหน้าท่า 15.4 เมตร ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าทั่วไปได้ 2.5 ล้านตันต่อปี และรองรับสินค้าตู้ได้ 5 แสน ที.อี.ยู.ต่อปี
และ 2. ท่าเรือปัตตานี เพื่อการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือสินค้าชายฝั่งอยู่ระหว่างปรับปรุง คาดว่าจะจัดใช้งบประมาณราว 79.97 ล้านบาท ปรับปรุงแล้วเสร็จภายในปี 2564 นอกจากนี้ จท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบ เพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือในอ่าวปัตตานี จ.ปัตตานี จัดใช้วงเงินอีกราว 40 ล้านบาท คาดว่าจะศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จในปี 2564 เพื่อพัฒนาให้รองรับเรือขนส่งสินค้า 5,000 ตันกรอสได้ในอนาคต
ขณะที่แนวทางการพัฒนาในอนาคต พบว่าในปี 2564 - 2566 จท.ได้ขอตั้งงบประมาณวงเงิน 95 ล้านบาท เพื่อศึกษาและออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเรือสินค้าและท่าเรือท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร และระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)เพื่อเชื่อมโยงอ่าวไทยและอันดามัน สนับสนุนการเชื่อมโยงBIMSTECสู่พื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)เพื่อการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ (Rivera)
สำหรับฝั่งอันดามัน จท.ได้ขอตั้งงบประมาณปี 2564 - 2565 ในวงเงิน 66.5 ล้านบาท เพื่อศึกษาและออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเรือสินค้าบริเวณอันดามันตอนล่าง จากการยุติโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวยังจำเป็นต้องมีท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการศึกษาครอบคลุมพื้นจังหวัดอันดามันตอนล่างทั้ง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ตรัง และสตูล เพื่อเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2