'3 กูรู' ตีกราฟหุ้นไทย..!! ร้ายสุด SET INDEX หยุดตรงไหน
สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย เรื่อง 'จริง' หรือ 'ตื่นตูม' ฟัง '3 กูรู' วิพากษ์ดัชนีติดโควิด-19 เข้าสู่ภาวะตลาด 'ขาลงเต็มตัว' ตีเส้นกราฟ SET INDEX เลวร้ายหากหลุด 940 จุด ลงลึกสุดระดับ 570 จุด !
สภาพตลาดหุ้นทั่วโลก 'คึกคัก' เฉกเช่น 'กระทิงหนุ่ม' ได้ดึงดูดเงินนักลงทุนหน้าเก่า-ใหม่ ให้เข้ามาแสวงหากำไรในตลาดเงินตลาดทุนไม่ขาดสายนั้น คงจะไม่เห็นภาพดังกล่าวในชั่วโมงนี้แน่นอน หลังเชื้อไฟชั้นดีอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ 'โควิด-19' เข้ามาเติมให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย' (Recession)
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกหลัง 'ราคาน้ำมันดิบโลก' ร่วงราคาเหลือ 20.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 'ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 18 ปี' หลังจากที่ความต้องการ (ดีมานด์) น้ำมันดิบอาจ 'ลดลง' ในเดือนนี้จากปัจจัยการปิดเมืองของหลายประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส
สอดคล้องกับบรรยากาศที่นักลงทุนพร้อมใจกันเทขาย 'สินทรัพย์เสี่ยงสูง' อย่าง 'หุ้น' ทั่วโลก และเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง 'ทองคำ' ที่ราคาปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี ! แม้ทิศทางระยะสั้นราคาทองคำยังผันผวน แต่ระยะยาวผู้เชี่ยวชาญมองเป็นขาขึ้น
ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกเทขาย อย่าง ตลาดหุ้นสหรัฐ ภายในระยะเวลา 1 เดือน ตลาดต้องใช้ 'มาตรการหยุดทำการซื้อขายอัตโนมัติชั่วคราว' (Circuit Breaker) แล้วถึง 4 ครั้ง ฟากฝั่งตลาดหุ้นไทยก็ต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker 2 วันติดต่อกัน และเป็นการใช้ในรอบกว่า 11 ปี หลังดัชนีปรับ 'ร่วงแรง' ในระดับ 10%
หากย้อนดูดัชนี SET INDEX ตั้งแต่ต้นปี 2563 ดัชนี 'สูงสุด' (New High) อยู่ที่ 1,600.48 จุด (เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2563) และ 'ต่ำสุด' (New Low) อยู่ที่ 969.08 จุด (เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563)
ร้อนถึง 'ดร.ภากร ปีตธวัชชัย' กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องออกมาสกัดความร้อนแรงของภาวะความผันผวนตลาดหุ้น ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัส และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์ short selling ให้ทำได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายล่าสุด (uptick) เป็นมาตรการแรกตั้งแต่การซื้อขายภาคบ่ายของวันที่ 13 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการซื้อขายยังมี 'ความผันผวน' อย่างต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงปรับปรุงเกณฑ์การกำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) และเกณฑ์การหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Circuit Breaker) จากเดิม 10% เป็น 8% ซึ่งเป็นการชั่วคราวจนกว่าตลาดจะเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อลดความผันผวนของภาวะตลาดในปัจจุบัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2563 และไม่เกิน 30 มิ.ย. 2563
นั่นแปลว่า..ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวลงมา 'ร้อนแรงมาก' แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาเรียกความเชื่อมั่นก็ตาม แต่ก็เหมือนยังจะหยุดความกังวล (Panic) ดังกล่าวไม่ได้ !
'ซัน-กระทรวง จารุศิระ' นักลงทุน และ ผู้ริเริ่มโครงการซุปเปอร์ เทรดเดอร์ ไทยแลนด์ (Super Trader Thai land) วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมาแรงมากนั้น ถือว่าเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ตลาดหุ้นจบรอบ 'ขาขึ้น' และเป็น 'ขาลง' ของตลาดหุ้นเต็มตัว !
ในมุมมองนักลงทุนที่ดู 'เทคนิค' ด้วยเส้นกราฟ พบว่า จากสถิติเส้นค่าเฉลี่ย EMA 89 นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 และ วิกฤติเศรษฐกิจสินเชื่อซับไพรม์ หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 เส้นกราฟไม่เคยหลุดเส้นค่าเฉลี่ย EMA 89 แม้แต่ครั้งเดียว
แต่ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา กลับพบว่า เส้นกราฟดังกล่าวหลุดค่าเฉลี่ย และยังเป็นการหลุดที่รวดเร็วมาก..!!
จากสถานการณ์ดังกล่าว เขายังประเมินภาวะตลาดหุ้นไทยไว้ 3 ระดับ คือ กรณี 'Best Case' ดัชนี SET INDX จะปรับตัวไปอยู่ที่ 1,200 จุด (ซึ่งหลุดไปแล้ว) กรณี 'Base Case' ดัชนีหุ้นไทยจะไปอยู่ที่ 902 จุด และ กรณี 'Worst Case' (เลวร้าย) ดัชนีหุ้นไทยอาจจะปรับตัวลงไป 'ต่ำสุด' 570 จุด ! บนสมมติฐานภายใต้เส้นกราฟที่ลากระหว่างจุดต่ำสุดของทั้ง 2 วิกฤติที่ผ่านมา (ต้มยำกุ้งและซับไพรส์) ซึ่งจุดตัดกันของเส้นกราฟคือตัวเลข 570 จุด
**กระทรวง จารุศิระ
'เราประเมินกรณีเลวร้ายสุด จุดต่ำสุดของดัชนี SET INDEX อยู่ที่ 570 จุด แต่จะไม่มีโอกาสที่จะเห็นดัชนีไปอยู่ 200 จุดเหมือนต้มยำกุ้งแน่นอน เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะที่เพิ่มเข้ามาระดมทุนในตลาดอย่าง บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM เป็นต้น ดังนั้น SET จะไม่หลุดลงไปต่ำ 200 จุด คงเป็นไปไม่ได้'
'กระทรวง' ยังบอกด้วยว่า หากวิเคราะห์ในมุมของเศรษฐกิจภาพใหญ่ แบ่งเป็น ปัจจัยในและนอกบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลกระทบที่ทุกคน 'กลัว' เพราะว่าไม่รู้ว่าจะขยายวงกว้างมากแค่ไหน และสิ่งสำคัญกระทบอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน ฉะนั้น คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย (Recession)'
'มองว่าการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงเป็นการเทขายของนักลงทุนรายใหญ่ทั่วโลก เขาเห็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยลากยาวแล้ว โดยเบื้องต้นโควิด-19 อาจจะเป็นเชื้อไฟตัวแรกที่เข้ามาเติมให้สถานการณ์เร็วขึ้น'
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของ 'นักลงทุน' จะมองว่าจังหวะนี้หุ้นราคาถูกมากต้องเข้า 'ทยอยซื้อ' ซึ่งส่วนตัวไม่ค่อยห่วงนักลงทุนที่มีวินัย เพราะว่าเขามี 'จุดตัดขาย' (Cut Loss) อยู่แล้ว ทั้งนี้สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกดิสรัปของเทคโนโลยี เป็นกลุ่มที่น่าสนใจลงทุน เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มสัมปทานภาครัฐ และกลุ่มการแพทย์ (โรงพยาบาล) เป็นต้น สำหรับ 'เทรดเดอร์' (Trader) จะถือเงินสดมากกว่า แล้วอาจจะโยกไปเทรดสินค้าที่เป็นขาขึ้น เช่น ทองคำ
'ในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้มองว่ากลุ่มคนรวย จะรวยขึ้นอีก ขณะที่กลุ่มคนชั้นกลางจะกลายเป็นคนจน โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว'
ขณะที่ 'เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง' นักลงทุนด้านเทคนิคเจ้าของพอร์ต 'หลักพันล้าน' วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดหุ้นให้ฟังว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ 'ภาวะขาลงเต็มรูปแบบแล้ว!' แม้ระยะสั้นอาจจะเด้งขึ้นมาได้บ้าง แต่มองเป็นแค่เสน่ห์ของตลาดหุ้นช่วงขาลงที่จะเกิดเทคนิคัลรีบาวด์เป็นระยะๆ เท่านั้น เหตุผลหลักของการปรับตัวลดลงรอบใหญ่ครั้งนี้เป็นผลจาก Panic Sell นักลงทุนกังวลผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ลุกลามไปยังเศรษฐกิจโลกทั่วโลกและเชื่อมโยงเข้ามาไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อวิเคราะห์ทางเทคนิคโดยใช้มุมมองส่วนตัวอ้างอิงเครื่องมือ Fibonacci โดยตีกราฟ 'จุดต่ำสุด' ที่ 380 จุด และ 'จุดสูงสุด' ที่ 1,850 จุด เป็นรอบขาขึ้นของดัชนี ตลอด 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2008 และค่อยๆ แกว่งตัวออกด้านข้างใช้เวลา 2 ปีก่อน เข้าสู่ขาลงชัดเจน เบื้องต้นฐานของ 38.2% ใน Fibonacci retracement levels แนวรับแรกอยู่ที่ 1,290 จุด ปัจจุบันดัชนี ปรับตัวหลุดแนวรับดังกล่าวไปแล้ว
ส่วนแนวรับถัดไปฐานของ 50% ใน Fibonacci retracement levels ดัชนี มีแนวรับอยู่ที่ 1,116 จุด แต่ถ้าหลุดแนวรับดังกล่าวอีกก็จะมีฐานของ 61.8% ใน Fibonacci retracement levels ดัชนี มีแนวรับอยู่ที่ 942 จุด ในกรณีถ้าหลุดแนวรับดังกล่าวอีกก็จะมีฐานของ 78.6% ใน Fibonacci retracement levels เป็นแนวรับสุดท้ายอยู่ที่ 695 จุด !
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์แนวรับต่างๆ เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานภายใต้เครื่องมือทางเทคนิคเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าดัชนี จะปรับตัวลดลงไปหาแนวรับที่ว่าไว้ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าดัชนี จะลดลงไปถึงจุดต่ำสุดตรงไหน ดังนั้น ให้นักลงทุนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด แต่ต้องคัดกรองข่าวสารที่มีความน่าเชื่อถือจากหน่วยงานของรัฐบาลเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ กรณีหากสถานการณ์ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้น อาจทำให้บรรยากาศการลงทุนกลับมาดีขึ้นได้เช่นกัน ขณะที่ระยะยาวเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหม่ ช่วยสร้างโอกาสผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี เหมือนกับเหตุการณ์หลังเกิดวิกฤติหลายครั้งที่่ผ่านมา
'ตอนนี้ผมก็เข้าลงทุนบ้าง เชื่อว่านักเทคนิคหลายๆ คนก็คงมีมุมมองคล้ายกับผม เพราะเมื่อตลาดเป็นขาลงหนักๆ การเข้าไปซื้อหุ้น ต้องบอกว่า ตลาดหุ้นขาลงก็มีเสน่ห์เพราะจะมีเด้งตลอดทาง ผมก็เข้าไปเก็บหุ้นมาบ้าง ก็โดนมีดบาดไปบ้าง แต่เป็นปกติของนักเก็งกำไร'
---------------------
วิกฤติรอบนี้..นักลงทุน“วีไอ”ว่าไง..!!
'โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง' อดีตนายกสมาคม นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ วีไอ ให้มุมมองตลาดหุ้นไทย ว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะตอบสนองข่าวร้ายต่อไปอีกราว 1 เดือน หรือ คาดการณ์ว่า 'ตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวลงอีกเลวร้ายสุดประมาณ 10-20% คาดว่าดัชนี SET INDEX น่าจะไปอยู่ที่ระดับ 800 จุด !' เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมามากแล้ว ดังนั้น หลังจากนี้แรงขายหุ้นในตลาดน่าจะเริ่มน้อยลง สะท้อนผ่านปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณนักลงทุนสถาบันเข้ามาทยอยเก็บหุ้นที่ราคาปรับตัวลดลงไปมากแล้ว
'ในฐานะนักลงทุนเราต้องเตรียมความพร้อมในทุกสถานการณ์ ส่วนตัวมองว่านักลงทุนจะต้องเจอวิกฤติตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจแต่เป็นวิกฤติโรคระบาดที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใดเท่านั้น แต่เชื่อว่าหลังจากโรคมีการแพร่ระบาดอย่างมากแล้วก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง หลังจากประชาชนมีภูมิต้านทานโรคแล้ว'
อย่างไรก็ตาม มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 น่าจะจบภายในครึ่งปีแรก 2563 และในครึ่งปีหลังจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ตามสถิติที่ผ่านมาหลังจากทุกอย่างคลี่คลายภาพรวมจะค่อยๆ ดีขึ้น และหลังจากนั้นจะฟื้นตัวอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ปรับกลยุทธ์ เน้นหุ้นขนาดกลาง-ใหญ่ ที่มีสภาพคล่องและอัตราจ่ายเงินปันผลมากกว่า 3-4% ต่อปี เพราะแม้ราคาจะปรับตัวลดลง แต่ยังมีผลตอบแทนจากเงินปันผล และจะลดการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก เนื่องจากในภาวะตลาดหมีจะมีสภาพคล่องต่ำ
'ตอนนี้ของถูกเต็มตลาดเลย โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ ถือเป็นโอกาสเข้าลงทุน ซึ่งจะเน้นเลือกหุ้นที่มีปันผลดีลำดับแรก ขณะเดียวกันจะพยายามเลี่ยงหุ้นขนาดเล็ก เพราะสภาพคล่องต่ำ จะทำให้ขายลำบากหากต้องการตัดหุ้นออก'
'นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' นักลงทุนหุ้นคุณค่า (VI) เล่าให้ฟังว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง สะท้อนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องใช้ 'มาตรการหยุดทำการซื้อขายอัตโนมัติชั่วคราว' (Circuit Breaker) โดยสาเหตุหลักเกิดจากนักลงทุนตื่นกลัวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจไทย พร้อมกับผสมผสานกับแรงขาย 'Panic Sell' ของนักลงทุน
สำหรับมุมมองที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงนี้เชื่อว่าในระยะถัดไปเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศหดตัวอย่างมีนัยสำคัญหลังนักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางและเศรษฐกิจโลกอยู่ในทิศทางเชิงลบ เป็นปัจจัยสำคัญกระทบภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนเข้าสู่ทิศทางชะลอตัวเช่นกัน
สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ แม้จะมองว่าผันผวนหนักท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ยังไม่มีความแน่นอน แต่พบว่ามีหุ้นหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเริ่มมีมูลค่าเชิงพื้นฐาน (Valuation) ที่น่าสนใจซื้อสะสมลงทุนระยะยาวแล้ว อยากเน้นหุ้นที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายหุ้นปลอดภัย (Defensive Stocks) , มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอในอัตราที่ดี , สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้แม้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอ ,และแนวโน้มธุรกิจในอนาคตต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกดิสรัปชั่นโดยเทคโนโลยี เป็นต้น
'ตอนนี้คนส่วนใหญ่กำลังกลัว แต่เราต้องกล้า กล้าที่จะเข้าไปซื้อหุ้นที่ดี ความกล้าต้องมาพร้อมกับการวิเคราะห์อย่างดีรอบคอบและต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง คุณสมบัติหุ้นที่กล้าซื้อต้องเข้าข่ายอย่างที่ผมกล่าวไว้ ในจังหวะแบบนี้ก็เหมาะสมอย่างยิ่งกับคนที่มีเงินสด ต้องกล้าเข้ามาลงทุน ซึ่งผมมองหุ้นเป็นรายตัวมากกว่า เพราะตลาดปรับตัวลงรอบนี้ ไม่ใช่หุ้นถูกทั้งตลาดฯ การปรับขึ้นก็ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่บ่งชี้ว่าเป็นจุดกลับตัวชัดเจนเพราะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย'
-------------
เมื่อหุ้นติดโควิด-19 !
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) มีมุมมองผลกระทบโควิด-19 ต่อกลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 'กลุ่มโรงแรม' ในปี 2563 คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 35.8 ล้านคน หดตัว 10% (จากปีก่อน 39.8 ล้านคน) มองกระทบกำไรของกลุ่มโดย 'หุ้น MINT' จะได้รับผลกระทบจาก NHH ที่มีOperation ในยุโรปด้วย ทำให้คาดปี 2563 ของ MINT กำไรจะลดลง 20% เทียบกับปีก่อน ขณะที่ 'หุ้น ERW' และ 'หุ้น CENTEL' คาดกำไรลดลง 50% และ 32% เทียบกับปีก่อน
'กลุ่มขนส่ง' การหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดกระทบโดยตรงต่อกำไรของ 'หุ้น AOT' ขณะที่กลุ่มสายการบินอย่าง 'หุ้น AAV' และ 'หุ้น THAI' มีความกังวลผลต่อผลประกอบการคาดว่าจะ 'ขาดทุน' ที่จะมากกว่าคาดและปัญหาสภาพคล่องของบริษัท ขณะที่คาดกระทบทางอ้อมจำกัดต่อกำไรของ BTS , BTSGIF และ BEM โดยประเมินทุก 1% (จาก 5% เป็น 4%) ที่หายไปของจำนวนผู้โดยสารจะกระทบกำไร BTS ที่ -0.2% , BTSGIF -1.4% , BEM -0.6% ตามลำดับ
ด้าน 'กลุ่มพลังงาน' อุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัวคาดกระทบต่อราคาน้ำมันและค่าการกลั่น บั่นทอนกำไรของ PTTEP , TOP , SPRC , ESSO 'กลุ่มที่เกี่ยวข้อง' เป็นหุ้นที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดได้รับผลกระทบเชิงลบ อาทิ TKN , SPA , BEAUTY , DDD เป็นต้น
หุ้นที่มีการให้บริการแก่ประชาชนเกิน 50 คน หรือจำนวนมาก รวมทั้งเป็นสถานที่สำหรับพบปะสังสรรค์หรือพูดคุยนอกบ้าน คาดยอดขาย “หดตัวหนัก” จากการปิดให้บริการหรือเลื่อนการชุมนุม อาทิMAJOR , IMPACT, GPI , AUCT , M , AU , ZEN
'กลุ่มค้าปลีก' ยอดขายสาขาเดิม/รายได้ค่าเช่า/กำไรของผู้ประกอบการที่มีทำเลที่ตั้งในแหล่งท่องเที่ยวคาดหดตัว 3-5% อาทิ MAKRO, CPALL , BJC , CPN 'กลุ่มโรงพยาบาล' รพ. ที่มีฐานผู้ป่วยต่างชาติสูงอย่าง BH สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติ 65% , BDMS สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติ 30% คาดได้รับผลกระทบเชิงลบ แต่มองกระทบจำกัดต่อ รพ. ที่มีฐานผู้ป่วยไทยเป็นหลักและปีนี้มีปัจจัยหนุนประกันสังคมปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์ อาทิ BCH , CHG , RJH
'กลุ่มอสังหาริมทรัพย์' อุปสงค์ในประเทศจะลดลงจากความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต และการปล่อยสินเชื่อของ ธพ. ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกันคาดได้รับผลกระทบจากการชะลอโอนของลูกค้าต่างชาติด้วย อาทิSIRI, ANAN, NOBLE, AP, PSH “กลุ่มสื่อสาร” คาดได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดเนื่องด้วยเชื่อว่าปริมาณการใช้ data ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากประเด็นเรื่อง COVID-19