พรก.ฉุกเฉิน – ล็อคดาวน์ บจ.ไทย ทำใจเตรียมรับผลกระทบ
มาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์หยุดการแพร่ระบาดของไวรัสย่อมต้องทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคเอกชน พนักงาน และแรงงาน ที่หยุดการให้บริการแต่เป็นการยินยอมที่เจ็บเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย
หลังจากก่อนหน้านี้ภาครัฐมีการประกาศขอความร่วมมือกักตัวอยู่ที่บ้านไม่ให้ออกเดินทาง แต่เมื่อมีตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากสนามมวยจนทำให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระจายทั่วประเทศ จึงมีการสั่งปิดสถานบริการ แหล่งชุมนุม เพื่อไม่ให้เป็นการแพร่เชื้อ และให้อำนาจผู้ว่าราชการทุกจังหวัดทั่วประเทศสามารถปิดด่านช่องทางการเดินทางเข้าออกได้ รวมไปถึงสถานบริการอื่นเพิ่มเติม
หากแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับยังพุ่งสูงขึ้นจนนำมาสู่การประกาศที่สร้างความสับสน หลังกทม. ประกาศปิด หรือ ล็อคดาวน์ ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เพิ่มเติม จนทำให้เห็นการเดินทางกลับภูมิลำเนาของลูกจ้างทันที และทำให้การแพร่ระบาดยังทำสถิติตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมาสู่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อของไทยที่นิ่งไปนาน 1 ราย เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย รวม 4 ราย
ล่าสุดภาครัฐประกาศได้เพิ่มเติมประกาศออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเริ่มใช้วันที่ 26 มี.ค. รวมทั้งกระทรวงการคลังได้ประกาศมาตรการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนชุดใหญ่ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าอยู่ได้ภายใน 3 เดือนจากนี้ไป นั้นน่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าภาคธุรกิจ พนักงานลูกจ้าง และแรงงานจะต้องอดทนกับสถานการณ์ไปไม่ต่ำกว่า 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ ที่จะไม่สามารถเปิดทำการให้บริการได้ ขาดรายได้และต้องรักษาสภาพคล่องเอาไว้ ด้านพนักงานประจำต้องทำงานจากที่บ้าน (Work from home) และแรงงานชั่วคราวไม่มีรายได้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยที่ผ่านมาจากการปิดสถานบริการและเพิ่มเติมด้วยห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ จึงทำให้ภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกระทบไปตามๆกัน สะท้อนจากราคาหุ้นในกระดานในช่วง วานนี้ ราคาหุ้นยังปรับตัวลดลงที่ช่วงต่ำสุด หรือ ราคาฟลอร์ จำนวนมาก
แบ่งเป็นกลุ่มหุ้นศูนย์การค้า ที่ราคาร่วงลงแรงหลังเปิดทำการซื้อขายต้นสัปดาห์ ขณะที่หุ้นกลุ่มวัสดุและตกแต่งบ้านยังปรับตัวลดลงต่อจนทำราคาฟลอร์ ในกลุ่มนี้ บมจ.ดูโฮม (DOHOME) ราคาลดลง 27.5 % บมจ. โกลบอล เฮ้าส์ (GLOBAL) ลดลง 27.39% และ บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ราคาลดลง 16.66%
ส่วนกลุ่มที่มีร้านค้าในศูนย์การค้า ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเช่นกัน และยังลงไปยังที่ระดับราคาฟลอร์ เช่น บมจ. คอมเซเว่น (COM7) ราคาลดลง 27.4 % เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มโรงภาพยนตร์ ซึ่งมี บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป (MAJOR )และธุรกิจสปา บมจ. สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA) ที่ปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้แล้วในช่วงแรกซึ่งราคาหุ้นยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามมีธุรกิจที่สามารถปรับตัวและลดผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่หันมาใช้แผนเป็นการจัดส่งเดลิเวอรี่ บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) เพิ่มรายได้จากการขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ราว 50-60 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมมีรายได้เดือนละ 15-20 ล้านบาท
บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) และบมจ. โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) มีบริการเดลิเวอรี่ อยู่แล้ว ได้เพิ่มเมนูอาหารและโปรโมชั่น เพื่อทำยอดจากการจัดส่งอาหารแทนหน้าร้านที่ต้องปิดไปหรือ บมจ. อาฟเตอร์ ยู (AU) ชะลอการซื้อวัตถุดิบการจัดซื้อจัดจ้าง และเลื่อนเปิดสาขาในต่างประเทศอย่างฮ่องกง ออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากเดิมคาดว่าจะเปิดได้ภายในกลางปีนี้
ส่วนผู้ประกอบการที่ธุรกิจไม่สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ต้องยอมปิดให้บริการไปเลยพร้อมกับการสูญเสียรายได้ตามมา บมจ. แอทเสท เวิร์ด คอร์ป (AWC) ปิดการให้บริการโรงแรมในเครือ 5 แห่งในกรุงเทพฯ วันที่ 26 มี.ค.-15 เม.ย.2563 และลดค่าเช่ารายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.-30 เม.ย. 2563 ให้กับผู้เช่าทุกรายในทุกโครงการ , ผู้เช่าอาคารสำนักงาน (Office) จะมอบส่วนลด 20% ในการเช่าสำนักงานสำรองในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ของ AWC ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย
ด้าน ‘กรกช เสวตร์ครุตมัต’ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย มองเป็นลบต่อผู้ประกอบการเครือข่ายร้านอาหารส่งผลต่อกำไรสุทธิในกลุ่มนี้ปี 2563 12-24 % เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนคงที่ต่อยอดขาย 47-68 % และเนื่องจาก 50-56 % ของสาขาตั้งอยู่ในกรุงเทพ และปริมณฑล แม้ว่าจะมีการช่วยเหลือจากศูนย์การค้ายกเว้นค่าเช่าแต่ยังไม่ได้รวมกับผลกระทบจากการปลดพนักงงานในประมาณการดังกล่าว เช่นเดียวกับ หุ้นกลุ่มค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้ากำไรสุทธิในกลุ่มพาณิชย์ขนาดเล็กลดลง 4-11 %