'โควิด-19 พลิกโลกธุรกิจ' ยุค..สังคมระยะห่าง..!!
วิกฤติโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” ป่วยไข้ทั้งโลก ลามเศรษฐกิจถดถอย ทำผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรม สู่“สังคมระยะห่าง” โอกาส“นิวบิซิเนส” ย้ายขั้ว จากมูลค่าธุรกิจดั้งเดิม(ออฟไลน์)
สู่โอกาสธุรกิจ"บนโลกออนไลน์"
ไวรัสพลิกโลก...!!
ประโยคนี้ไม่เกินเลย หากประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ลามไปค่อนโลก โดย ณ วันที่ 27 มี.ค. เวลา 08.00 น. ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อรวม 531,697 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ติดเชื้อจากประเทศไทย 1,045 ราย จนรัฐบาลไทย ต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉินเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด บังคับใช้วันแรกเมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
พลานุภาพทำลายล้างสูงของโควิดไม่เพียงส่งผลกระทบสุขภาพของผู้คน กิจกรรมการเดินทางทั่วโลก ไม่เฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว ที่หยุดชะงักลง ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ที่เข้าสู่ “ภาวะถดถอย” (Recession) เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ ติดลบถึง 5.3% ต่ำสุดในรอบ 22 ปีนับจากปี 2541
โดยอธิบายเหตุผลว่า เกิดจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยหดตัวทั้งภาคส่งออกจากเศรษฐกิจคู่ค้าทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบโควิดเล่นงาน เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่ชะงักทั่วโลก คาดการณ์ว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยจะหายไป 60%
การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ยังส่งผลต่อลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน ทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว ตลอดจนเศรษฐกิจฐานราก ได้รับผลกระทบจากการนายจ้างปิดกิจการ ลูกจ้างจึงต้องตกงานจำนวนมาก เมื่อรายได้ลดลง ภาคการบริโภคประชาชนก็หดตัวตาม
ทั้งนี้ในส่วนของ “ภาคธุรกิจ” มีการประเมินกันว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก หนีไม่พ้น ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากมีสายป่านทางการเงินน้อยกว่ารายใหญ่ กลายเป็นเป็น “ความท้าทาย” ในการประคองธุรกิจให้อยู่รอดภายใต้อีกวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้
**โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ
โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek โดยมองถึงผลกระทบดังกล่าวต่อเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ที่มีจำนวนกว่า 5 ล้านราย ทว่าจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประมาณ 7 แสนราย
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยังวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19 โดยแบ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งเชิง “บวกและลบ” เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทันทีตั้งแต่โควิด-19 ประทุในจีน ทำให้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากท่องเที่ยว ภาคการผลิตที่เชื่อมโยง อาทิ บริษัททัวร์ โรงแรม ร้านขายสินค้าที่ระลึก บริษัทขนส่ง สายการบิน รับทำวีซ่า ฯลฯ ทยอยหยุดกิจการตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา บางรายหนักกว่านั้นต้องปิดกิจการ ขายรถทัวร์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย รักษากระแสเงินสด
2.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากกลุ่มแรก เมื่อกำลังซื้อลดลง คนไม่มั่นใจทางเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าไม่จำเป็นได้รับผลกระทบ เนื่องจากคนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปิดการดำเนินการชั่วคราวของห้างสรรพสินค้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส เช่น กลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าถือว่ามีจำนวนมาก รวมถึงร้านอาหาร และร้านกาแฟ ร้านนวด ฟิตเนส
3.ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกในช่วงที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกกับโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ในกลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ ขณะที่พฤติกรรมการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนส่วนใหญ่กักตัวอยู่ในบ้าน บางส่วนต้องทำงานในบ้าน (Work from home) ส่งผลดีต่อธุรกิจส่งอาหารเดลิเวอรี่ เป็นต้น
*โควิด-19 แจ้งเกิดธุรกิจใหม่
ด้านโอฬาร วีระนนท์ กรรมการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย ประเมินว่า ภายใต้วิกฤติโควิดในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น สกัดกั้นช่องทางโตธุรกิจแบบเก่าโดยเฉพาะกลุ่มที่มีหน้าร้าน (ออฟไลน์) และการบริหารช่องทางการกระจายสินค้าแบบเดิม
กลายเป็นโอกาสแจ้งเกิดธุรกิจใหม่ (New Business) ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือมีมานานแต่ไม่ได้รับความนิยม ให้กลับมารับอานิสงส์จนตั้งรับไม่ทัน โดยเฉพาะโมเดลธุรกิจและการบริการใหม่บนโลกออนไลน์ เช่น แอพพลิเคชั่นสั่งสินค้าสารพัน ร้านค้าปลีกออนไลน์ผ่านนาสเกต (Nasket), การบริการฉีดพ่นทำความสะอาดยาฆ่าเชื้อในบ้าน, ธุรกิจนวัตกรรมแสงยูวี รังสีความเข้มสแกนฆ่าเชื้อภายในบ้าน
“ วิกฤติโควิดทำให้ธุรกิจที่ไม่เคยรุ่งกลับมาโต หลายธุรกิจไม่เคยมีในไทย หรือมีมาแล้วแต่คนไทยไม่สนใจใช้บริการ เช่น นวัตกรรมรังสีฆ่าเชื้อ หรือ ธุรกิจรับจ้างฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ที่เกิดให้บริการจนเครื่องไม่เพียงพอต้องสั่งนำเข้าเพิ่ม” เขาอธิบายถึงโอกาสธุรกิจเมื่อโควิด-19 มาเยือน
เขายังระบุว่า มีการวิจัยพบว่าพฤติกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนไป หากทำติดต่อกันต่อเนื่อง 21 วันจะเกิดความเคยชิน จากถูกบังคับให้ใช้ชีวิตออนไลน์ ประชุมออนไลน์ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศ ซีอีโอบริษัท หัวหน้า พนักงานทั่วไป จนนำไปสู่การเร่งให้เกิดการใช้ชีวิตบนสังคมออนไลน์ “หรือ “ชีวิตดิจิทัล” ของคนไทยกำลังจะกลายเป็นจริง
หากมองเช่นนี้โควิดไม่ได้เป็นวิกฤติอย่างเดียว แต่นี่คือโอกาสมโหฬารของการ "ย้ายมูลค่าเศรษฐกิจที่ถูกทำลาย” จากพิษโควิดมาสู่การ “สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจบนโลกออนไลน์” เป็นโอกาสของการทำให้พ่อค้าแม่ค้าเอสเอ็มอีไทย ขยับมาเคลื่อนเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์
สิ่งที่ภาครัฐจะต้องแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส คือการต้องฉีกกฎเดิมๆ นำงบประมาณมาอัดฉีดให้ผู้ค้ารายย่อยเป็นเวลา 6 เดือน -1 ปี โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบ เช่น บริการนวด และร้านทำผม ไปช่วยส่งเสริมเพิ่มทักษะ (Up-skill) และปรับเปลี่ยนทักษะใหม่ (Re-skill) ให้พร้อมกระโจนสู่ธุรกิจบนโลกออนไลน์ มีหลายทางเลือกบริการจะเติบโตยุคนี้ เช่น บริการรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน และบริการซักเสื้อผ้า อาหารดีลิเวอรี่
วิกฤติครั้งนี้เป็นทั้งความเสี่ยง และความท้าทาย ไทยจะแพ้กับโควิด-19 ทั้งโรคระบาดและเศรษฐกิจพังพาบ หรือพลิกโฉมก้าวไปสู่โลกธุรกิจดิจิทัล เพราะวิกฤติครั้งนี้ยอมรับว่ารุนแรงมากกว่าปี 2540 ที่ล้มเฉพาะคนระดับบน สถาบันการเงิน แต่วิกฤติครั้งนี้ ร่วงระนาวตั้งแต่ข้างล่าง ไล่ไปถึงด้านบน
หากปล่อยให้เศรษฐกิจหยุดนิ่งไปพร้อมกับการ "ปิดเมืองจากพิษโควิด” จะเกิดปัญหาสังคม เมื่อคนตกงานมากขึ้น เศรษฐกิจฝืดเคือง สิ่งที่ตามมาคือโจร เช่นในต่างประเทศเริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว
“โอกาสมาพร้อมวิกฤติเสมอ รัฐบาลจะต้องผลักดันให้คนก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลได้เร็วขึ้น นำงบอัดฉีดให้กับเอสเอ็มอี พร้อมเปลี่ยนระบบจัดซื้อจัดจ้างนำคนรุ่นใหม่เข้ามาเชื่อมต่อผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ”
เขามองว่า เอสเอ็มอีจะอยู่รอดได้ ประเทศไทยจะชนะได้ อยู่ที่การเปลี่ยนความคิดเชิงบวก จะต้องมองเห็นโอกาสแล้วสมองจะผลักดันให้ไปหาประตูบานใหม่ให้กับประเทศเสมอ
“ไม่ว่าคุณคิดอะไรสิ่งนั้นเป็นจริงเสมอ หากคิดว่าไม่รอด จะไปไม่รอดจริงๆ หัวจะไม่คิดถึงทางออก แต่หากคิดว่ารอดก็จะแค่รอด ดังนั้นต้องคิดว่าจะรุ่ง ตั้งโจทย์ในหัวสมองจะประมวลผลทั้งหมดที่จะทำให้เกิดจริงไปเพิ่มทักษะ เชื่อมต่อจุดไหนทำให้ธุรกิจรุ่ง”
------------------------------
SMEs ผู้ไม่ยอมจำนน กอด5ธุรกิจสู้ศึกโควิด
พิริยศาสตร์ ตระการจันทร์ ผู้บริหารและเจ้าของ 3 ธุรกิจ คือ บริษัทป.เกรียบกุ้งอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผลิตขนมขบเคี้ยว หรือ สแน็ค(Snack) ข้าวเกรียบแผ่น ธุรกิจที่ 2 หจก. โฟ ยู เนเชอะ (ไทยแลนด์) ผู้ผลิตหมอนยางพารา แบรนด์ “พาราโต้” (PARATO)แฮนด์เมด และผลงานนวัตกรรมยกทรง ล่าสุดแตกไลน์ธุรกิจทำห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา (แล็บ) เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช
เขาคือชายหนุ่มที่ไม่ยอมให้สภาพแวดล้อม หรือวิกฤติรอบตัวทำให้ธุรกิจปิดตัว ธุรกิจของพิริยศาสตร์ โดนผลกระทบมาจากภัยต่างๆมาตลาดตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่ผ่านมา ภัยธรรมชาติน้ำท่วมจ.อุบลราชธานี ทำให้กลุ่มลูกค้า คู่ค้า ตั้งแต่ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วยในเครือข่ายรับผลกระทบ
พิริยศาสตร์ ตระการจันทร์
ไม่กี่เดือนถัดมาธุรกิจหมอนยางพาราแบรนด์“พาราโต้” ที่ขายดีในทีวีโฮมชอปปิง เป็นสัดส่วนยอดขายหลักถึง 90% เมื่อมีการคืนช่องทีวีดิจิทัล จึงไม่มีช่องทางการจำหน่ายหลัก ส่วนลูกค้ารองสัดส่วนอีก 10% คือนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ซื้อหมอนยางพาราเป็นของฝาก ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด
นี่คือ แผนอีกธุรกิจที่เขาเตรียมการรับเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล และคนรักสบาย ขี้เกียจออกจากบ้าน (Lazy Economy) นั่นคือ “อาหารเดลิเวอรี่” (Food Delivery) ภายใต้ชื่อร้าน “เฮือนเฮา” มีรูปแบบเป็นโฮมเดลิเวอรี่ มีครัวกลางอยู่ที่รัชดา สุทธิสาร เป็นธุรกิจล่าสุดที่วางแผนมาตั้งแต่เดือนม.ค.และปิดตัวไปเพิ่งเปิดตัวไปในเดือนต้นเดือนก.พ. ผ่านแอพพลิเคชั่นทุกช่องทาง ประกอบด้วย วงใน, เก็ทฟู้ด, ไลน์แมน, แกร็บฟู้ด และฟู้ดแพนด้า เพื่อหวังเข้าไปชิงเค้กตลาด "ฟู้ดเดลิเวอรี่" มีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นทุกปี
โดยเฉพาะช่วงโควิดกำลังระบาด พร้อมกับมาตรการคุมเข้มให้กักตัวอยู่ในบ้าน ใช้ชีวิตทำงานในบ้าน ฟู้ดเดลิเวอรี่คือโอกาส
“ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่แพลนมาตั้งแต่เดือนม.ค.โดยมีครัวกลางเป็นบ้านที่สุทธิสาร และใช้แพลตฟอร์มไปส่งทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่เมื่อมีโควิดส่งผลทำให้เราตอบโจทย์พฤติกรรมความต้องการของคนในตอนนี้ อนาคตจะขยายให้ลูกค้าเข้าถึงในรัศมี 5 กิโลเมตร (กม.) โดยไม่ต้องใช้เวลาเดินทางมากนัก”
ธุรกิจล่าสุดที่ปรับตัวพร้อมกันกับหาโอกาสจากวิกฤติที่เขามักจะมองเห็นโอกาสเสมอ เพราะความที่ไปดีลงานกับหน่วยงานภาครัฐอยู่บ่อยครั้ง จึงมีเพื่อนในวงการธุรกิจจากภาคการผลิตที่หลากหลาย ทั้งเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์จากสินค้าเกษตร
จึงพัฒนา “เจลแอลกอฮอล์” ทดแทนการขาดแคลนและมีราคาแพง จับคู่ผลิตภัณฑ์ผู้ผลิตแอลกอฮอล์และผู้ผลิตเครื่องสำอาง ตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์ในยุคโควิดระบาด เจลฆ่าเชื้อถือเป็นสิ่งจำเป็นต้องพกพา ขาดหมดทุกล็อตอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา
นี่คือธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็กที่เงินทุนมีจำกัดจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตลอดเวลา และยุควิกฤติ เมื่อ2-3 ธุรกิจทิศทางไม่ดีนัก ก็พลิกหาธุรกิจเสริมใหม่ๆ ทุกวิกฤติคือโอกาสในการเรียนรู้และสร้างธุรกิจได้ใหม่เสมอ
----------------------------
พลิกห้องพักโรงแรมว่าง
สู่“แพคเกจกักตัว14วัน”
ทรงสิทธิ์ เติมจิตรอารีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงแรมลักซอร์ ตั้งอยู่ที่แจ้งวัฒนะ เป็นโรงแรมขนาดกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด ตั้งแต่เริ่มต้นโรคระบาดที่จีน ลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวจีนเริ่มลดลง จนทำให้อัตราการเข้าพัก (Occupancy) ต่ำกว่า 50% จึงต้องปรับตัวโดยการหันมาดึงลูกค้าในประเทศ แต่ไม่สามารถชดเชยกับอัตราการเข้าพักที่หายไปได้ ปัจจุบันมีอัตราการเข้าพักเพียง 10-20% ห้องที่ว่างไว้จำนวนมากเป็นต้นทุน
พิษโควิดเล่นงานโรงแรมอย่างหนัก เพราะการบริหารงานโรงแรมต้องเคลื่อนด้วยต้นทุนที่สูงทั้งพนักงาน และการจัดการต่างๆ จนในที่สุดโรงแรมลักซอร์ไม่สามารถแบกรับต้นทุนแต่รายได้ลดลงไปมาก ต้องเลือกตัดภาระค่าใช้จ่ายลดพนักงานไปจำนวนมาก จนปัจจุบันเหลือพนักงานปักหลักสู้ต่อด้วยกัน 20 คน แต่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด จึงต้องยอมตัดเงินเดือนบางส่วน
ทว่า โรงแรมที่ว่างจำนวนมาก จึงคิดปรับห้องที่ว่างให้เกิดประโยชน์ เริ่มต้นทำงานประสานกับสาธารณสุขเทศบาลปากเกร็ด และเพื่อต้องการแบ่งเบาภาระของผู้ที่มีปัญหาในช่วงเกิดวิกฤติโควิด จึงนำห้องมาเสนอทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ที่ต้องการกักตัวเอง แยกตัวออกมาจากจากครอบครัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ พร้อมกับเปิดให้บริการแพ็คเกจกักตัว 14 วัน มูลค่า 5,000 บาท (เฉลี่ยวันละ 357บาท)เซ็ทอาบน้ำ 2ชุด ผ้าปูที่นอนและผ้าห่ม 2 ชุด
เพียงแค่เปิดตัวแคมเปญไปตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา ในช่วง 2-3 วันแรกมียอดแชร์เกือบ 200 บัญชี และมียอดคนเห็นกว่า 60,000 บัญชี ทำให้มีคนเข้าพัก ประมาณนับสิบห้อง
“เริ่มต้นตั้งใจนำห้องที่ว่างมาช่วยเหลือทางการ อะไรช่วยได้ก็ช่วย มีกลุ่มคนเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศที่ไม่อยากกลับบ้านทันที แต่หลังจากเปิดตัวส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่มคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ เช่น เด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อบินกลับมาก็ต้องกักตัวเองในช่วงหลังจากเดินทาง 14 วัน โดยไม่ให้คนในครอบครัวกังวล จึงมาติดต่อขอเข้าใจบริการ”
------------------------------------
"อิมปานิ”ผ้าขาวม้า หน้ากากผ้านาโน
เอกสิทธิ์ โกมลกิตติพงศ์ เจ้าของกิจการร้านอิมปานี ผ้าขาวม้า จ.ราชบุรี ทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจครอบครัวผ้าขาวม้า ที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้า เพิ่มการรวมกลุ่มผลิตผ้าขาวม้าจากผ้าฝ้าย ภายใต้แบรนด์ “อิมปานิ” (Impani) อาทิ หมวก เสื้อ กางเกง ส่งขายในตลาดน้ำสี่ภาคจนขยายธุรกิจไปยังตลาดท้องถิ่นทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2550
เริ่มขยายไลน์มาผลิตจากผลิตภัณฑ์มาสู่การเย็บหน้ากากอนามัยลายผ้าขาวม้า ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นPM2.5 ทำให้หน้ากากไม่เพียงพอ จึงนำผ้าขาวม้าที่ผลิตได้แปรรูปทำเป็นหน้ากากขายจำหน่ายในราคา 60 บาทต่อชิ้น มีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง
“ปีที่แล้วหมอศิริราชบอกว่าหากไม่มีหน้ากากใช้ผ้าแทนได้ ซึ่งผ้าขาวม้าฝ้ายที่ทอความหนาพอสมควร เส้นใยผ้าฝ้ายเมื่อโดนน้ำซักน้ำเส้นด้ายจะคืนตัว ฟูขึ้น ปิดช่องรูระบายอากาศจึงเป็นหน้ากากได้”
เอกสิทธิ์ โกมลกิตติพงศ์
ในช่วงพิษโควิด หน้ากากอนามัยผ้าขาวม้าต้องการมาก จากที่เคยขายได้หลักร้อยชิ้น เดือนม.ค.เพิ่มเป็น 1,500 ชิ้น และเดือนก.พ.เพิ่มเป็น 2,500 ชิ้น และเดือนมี.ค. มากกว่า 3,000 ชิ้น
เขามองว่า ประเทศไทยยังต้องสู้รบกับโควิดอีกสักระยะ นั่นทำให้ความต้องการหน้ากากเพิ่มขึ้นไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งในปัจจุบันคนสวมใส่หน้ากากไม่ใช่เพียงแค่ปกป้อง ยังใส่เป็นแฟชั่น จึงพัฒนาสินค้าคอลเลคชั่นคู่ลายเดียวกัน มีหน้ากากคู่กับเสื้อ กระเป๋า หมวก กางเกง
ขณะเดียวกัน ยังพัฒนานวัตกรรมคุณสมบัติพิเศษ หน้ากากมีการปกป้องเพิ่มเติม นอกเหนือจากการป้องกันเชื้อโรคแล้ว ยังมีเส้นใยที่มีการผสมคอลลาเจน เรียกว่าฟิลาเจน ช่วยทำให้ผิวผู้สวมใส่ชุ่มชื่นคืนตัวเร็ว ผิวไม่เหี่ยวย่น ลดการอับ คลายความร้อนและป้องกันยูวีเอ และยูวีบี รวมไปถึงการพัฒนาผ้าเป็นนาโนซิงค์ ที่ช่วยทำให้ป้องกันแบคทีเรีย
“มีการพัฒนานวัตกรรมยกระดับผ้าให้มีคุณสมบัติพิเศษร่วมกันกับแบรนด์ชื่อดัง อาทิ แกรนด์สปอร์ต พาซาญ่า และวาโก้ เช่น ผ้าฟิลาเจน ไปหุ้มมะเขือเทศ ปรากฏว่าช่วยชะลอความเหี่ยวของผิวมะเขือเทศได้”