'สมคิด' ควง รมว.คลัง-ผู้ว่า ธปท.หารือนายกฯ ก่อนชง ครม.เคาะ 3 พรก.
สมคิด ควง รมว.คลัง และผู้ว่า ธปท.หารือนายกฯซักซ้อมความเข้าใจกรอบวงเงินสู้โควิด และ พ.ร.ก.ที่จะเข้า ครม.2 ฉบับวันอังคารนี้ ส่วน พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเตรียมสรุปวงเงินใน ครม.7 เม.ย.นี้ รอดูตัวเลขการตัดงบประมาณของหน่วยงานก่อน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วันนี้ (5 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตาทสถานการณ์การประจำวันของการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าพบกับนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ รวมถึงการขออนุมัติกรอบวงเงินที่จะใช้สำหรับดูแลเศรษฐกิจที่มีวงเงินประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท
แหล่งข่าวระบุว่า ปกติเมื่อจะมีมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญออกมา รวมทั้งมาตรการระยะที่ 1 และ 2 ที่ออกมาก่อนหน้านี้นายสมคิดจะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและเข้าใจในรายละเอียดเบื้องต้นก่อนจะเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์นั้นๆ
โดยหลังจากการประชุม ครม.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 เม.ย.แล้ว และในวันที่ 6 เม.ย.นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นวันจักรีนายกฯ มีภารกิจภายนอกทำเนียบรัฐบาล ในการวางพานพุ่มดอกไม้วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ณ บริเวณปฐมบรมราชานุสาวรีย์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพฯ
รวมทั้งเฝ้ารับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ซึ่งการชี้แจงข้อมูลมาตรการที่จะเสนอ ครม.ให้นายกรัฐมนตรีในวันอาทิตย์ที่ 5 เม.ย.จึงเหมาะสมที่สุด
สำหรับรายละเอียดที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบคือ การออกพ.ร.ก.2 ฉบับ ในส่วนของธปท.ได้แก่ 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.สามารถออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟท์โลน) โดยใช้เงินทุนที่ธปท.มีอยู่มาออกสินเชื่อ ให้ธนาคารพาณิชย์กู้ต่อเหมือนกับในช่วงที่เกิดน้ำท่วม และ 2พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดชำระได้ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้ตลาดเงินและตลาดทุนได้อีกส่วน
ส่วนเรื่องการออก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน นั้นจะมีการหารืออีกครั้งถึงวงเงินที่จะมีการออก พ.ร.ก.โดยจะมีการการหารือเรื่องวงเงินที่จะกู้ยืมอีกครั้ง หลังจากที่สำนักงบประมานสรุปว่าหน่วยงานราชการต่างๆสามารถไปตัดงบประมาณมาใช้ในงบกลางฯได้เท่าไหร่ ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้ในการประชุม ครม.วันที่ 7 เม.ย.อีกครั้ง เพื่อเตรียมกำหนดรายละเอียดที่จะให้กระทรวงการคลังดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงเรื่องการตัดงบประมาณจากกระทรวงต่างๆซึ่งมีการหารือกันเบื้องต้นที่กระทรวงละ 10%โดยไม่เกี่ยวกับรายจ่ายประจำหรือเงินเดือนข้าราชการเพื่อมาใช้ในการสู้กับวิกฤติโควิด-19 ส่วนการออก พ.ร.ก.เห็นชอบให้มีการออก พ.ร.ก. 3 ฉบับได้แก่ 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.สามารถออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟท์โลน) 2.พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดชำระ
3. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน โดยในส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงินกระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณว่าจะมีการตัดงบประมาณแต่ละกระทรวงได้เท่าไหร่ หากสามารถตัดและเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้มากวงเงินในการออกพ.ร.ก.ก็จะน้อยลง โดยครม.นัดพิเศษได้เห็นชอบในหลักการแล้วและหากจัดทำรายละเอียดแล้วเสร็จในวันอังคารที่ 7 เม.ย.นี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง