กยท.ขอเอี่ยวเงินกู้ 1 ล้านล้าน ชง ครม.ขอ 3.5 หมื่นล้านประกันราคายางพาราเฟส2
กยท.เคาะแผนประกันราคายางเฟส 2เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติของบ 3.5 หมื่นล้านเป้าหมายรับประกันกิโลละ 60 บาท ทำโครงการฝากยางไว้ที่บ้านหวังชะลอผลกระทบโควิด-19
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดกยท.) เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่านโครงการฝากยางไว้ที่บ้าน ต้านภัยโควิด ที่ กยท. ได้เสนอเป็นมาตรการชะลอการขายยางของเกษตรกรชาวสวนยางจากผลกระทบการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อเข้ารับประกันรายได้ให้ชาวสวนยางพารา ที่ราคายางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.)
ทั้งนี้ กยท.ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยได้ชี้แจงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรว่าจากการหารือกับเกษตรกรชาวสวนยางพบชาวสวนกำลังเดือดร้อนจาก สถานการณ์โควิด-19มากไม่ต่างจากประชาชนคนไทย ในกลุ่มอื่นๆทั่วประเทศ จึงพิจารณาช่วยเหลือชาวสวนยาง ตามแนวทางเดิมเพื่อให้ชาวสวนสามารถมีรายได้เพิ่มในช่วงวิกฤตแต่ต้องนำโครงการฯ ไปยังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) เป็นการเร่งด่วนและขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอใช้งบประมาณจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.และจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้ชาวสวนยางในเดือนเม.ย.นี้โดยจะถอดแบบจาก โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อสามารถจ่ายเงินส่วนต่าง ให้กับเกษตรกร โดยระยะที่ 1 มีเกษตรกรที่มีบัตรสีเขียวและสีชมพูรวม 1,711,252 ราย พื้นที่สวนยางรวม 17,201,391 ไร่ ได้ รับสิทธิรับเงินส่วนต่างประกันรายได้ ตามชนิดของยางพารา โดยชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการได้ไม่เกิน 25 ไร่/ราย
“โครงการระยะที่2 จะใช้เงินมากกว่าระยะที่ 1 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพราะจากราคายางพาราที่ตกต่ำทำให้ส่วนต่างที่คิดว่า ภาครัฐต้องจ่ายชดเชยจะสูงขึ้น เพราะราคารับประกันกำหนดไว้ที่ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม และจากการสำรวจเกษตรกรล่าสุด ทะเบียนเกษตรกรชาวสวนเพิ่มขึ้นประมาณ 50,000 ราย ทำให้ต้องมีการเพิ่มงบประมาณมากขึ้น และในส่วนของการดำเนินในระยะที่ 1 จะสิ้นสุดการจ่ายเงินงวดสุดท้ายคือ เม.ย.นี้ หากสามารถดำเนินการทัน ระยะที่ 2 จะสามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทุกเดือนจนสิ้นสุดโครงการ”
นายประพันธ์ กล่าวว่า ราคาอ้างอิงสำหรับยางพารา เบื้องต้นยางแผ่น ดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) , น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/ก.ก. ,ยางก้อนถ้วย (DRC 50%)ราคา 23.00 บาท/ก.ก. โดยรายได้จะแบ่ งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60% และ คนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด