ปตท.ปรับทัพผู้บริหาร ทุ่ม700ล.สู้ภัยโควิด-19
บอร์ด ปตท.แต่งตั้ง“กฤษ์ อิ่มแสง”ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย พร้อมดึง "บุรณิน รัตนสมบัติ" นั่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กลุ่ม ปตท.ควักงบกว่า 700 ลบ. ช่วยลดผลกระทบโควิด-19
แหล่งข่าวบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. (บอร์ด ปตท.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2563 ได้เห็นชอบแต่งตั้ง นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายแทน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. หรือ ซีอีโอ ปตท.คนใหม่ แทนนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอ ปตท.คนปัจจุบัน ที่จะครบวาระ 60 ปี ในวันที่ 12 พ.ค.นี้
พร้อมแต่งตั้ง นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร นวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. แทนนาย นายกฤษณ์ อิ่มแสง
รวมถึง บอร์ด ปตท.ได้รับทราบมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด-19 ในประเทศไทย โดย กลุ่ม ปตท. ได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 700 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดราคาก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) สำหรับกลุ่มรถโดยสาร 3 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เหลือราคาอยู่ที่ 10.62 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 2563 ในส่วนนี้คิดเป็นวงเงินประมาณ 600 ล้านบาท และการสนับสนุนด้านสาธารณะสุข ทางการแพทย์ โรงพยาบาลต่างๆ เช่น แอลกอฮอล์ การพัฒนาชุดตรวจ ชุดแพทย์ และอื่นๆ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อีกหลายสิบล้านบาท
นอกจากนี้ บอร์ด ปตท.ยังรับทราบแนวทางการจัดทำแผนปรับทิศทางการดำเนินงานจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยมีแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อดูแลความมมั่นคงด้านพลังงาน และการดำเนินธุรกิจ ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า แผนการนำบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ภายหลังจากเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) แล้ว ปตท. จะยังถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 75% จากเดิมที่ศึกษาในช่วงแรกจะถือหุ้นในสัดส่วน 45-49% เนื่องจากต้องการให้ โออาร์ ยังคงบทบาทการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ตามวัตถุประสงค์ที่ภาครัฐได้มอบโจทย์ให้ปตท.ไว้ และยังมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
“ส่วนความพร้อมในการเข้าระดมทุนของ โออาร์ จะเป็นช่วงใดนั้น ยังต้องพิจารณากรอบระยะเวลาของภาครัฐ รวมถึงสภาวะตลาดหุ้นที่เหมาะสมด้วย”
ทั้งนี้ โออาร์ เป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด ได้ยื่นคำขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 2,700 ล้านหุ้น (ไม่รวมจำนวนหุ้นส่วนเกินสำหรับการให้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกิน) โดย โออาร์ จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท. เพื่อรักษาสิทธิ
สำหรับ โออาร์ มีแผนลงทุน 7.7 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2567) ส่วนใหญ่เป็นการขยายสถานีบริการน้ำมัน (137 แห่ง/ปี) การขยายร้านค้าปลีก ร้านอาหาร-ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ (คาเฟ่อเมซอน 437 แห่ง/ปี), ขยาย งานไปต่างประเทศ และลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เป็นต้น