เปิดข้อเสนอซอง 4 'บีบีเอส' ไร้เงื่อนไขพิเศษชิงอู่ตะเภา

เปิดข้อเสนอซอง 4 'บีบีเอส' ไร้เงื่อนไขพิเศษชิงอู่ตะเภา

ปิดบิ๊กดีลอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน สำหรับการเจรจาข้อเสนอ ร่างสัญญา และเปิดซอง 4 ข้อเสนอพิเศษ ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ภายหลังโครงการดังกล่าว ติดหล่มในขั้นตอนเปิดซองข้อเสนอที่ 3 มานานร่วมปี เหตุจากเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอประมูลโครงการ หรือ บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี) ร้องต่อศาลปกครอง เพื่อพิจารณาในประเด็นของการถูกตัดสิทธิ์พิจารณาข้อเสนอ จากเหตุผลของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ชี้แจงว่าเอกชนยื่นข้อเสนอล่าช้ากว่าเวลากำหนด

ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนจึงถูกแช่แข็งไว้ในการพิจารณาซองข้อเสนอที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านเทคนิค ก่อนที่จะถูกปลดล็อคจากศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2563 โดยศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาคดี ตัดสินให้สิทธิ์บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี) ประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นผลให้การคัดเลือกเอกชนกลับเข้าสู่กระบวนการปกติ

คณะกรรมการคัดเลือกฯ นัดเปิดซองข้อเสนอที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านการเงิน ของกลุ่มซีพี เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2563 ภายหลังจากเปิดซองข้อเสนอของเอกชนรายอื่นไปก่อนหน้านี้แล้ว ผลปรากฏว่า เอกชนที่เสนอราคาสูงสุด คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอให้ผลตอบแทนรัฐ 3.01 แสนล้านบาท

ขณะที่กลุ่มซีพี เสนอให้ผลตอบแทนรัฐประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ส่วนข้อเสนอของกลุ่ม Grand Consortium ยื่นข้อเสนออยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท ทำให้กลุ่มบีบีเอส เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด และเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจารายละเอียดร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ

158686118743

โดยการเจรจารายละเอียด เริ่มต้นดำเนินการมาในช่วงปลายเดือน ก.พ.2563 ซึ่งทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการคัดเลือกฯ 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญาร่วมลงทุน และคณะทำงานเจรจารายละเอียดด้านเทคนิค

คณะทำงานทั้ง 2 ชุด และบริษัทที่ปรึกษา ได้มีการเจรจากับเอกชนจนบรรลุผลการเจรจาในเบื้องต้น พร้อมทั้งเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาเห็นชอบผลการเจรจา และร่างสัญญาเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ระบุว่า ภายหลังคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เห็นชอบผลการเจรจาอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งอนุมัติร่างสัญญาที่จัดทำร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ไปเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา และดำเนินการส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้อัยการสูงสุดช่วยตรวจสอบแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงดำเนินการในขั้นตอนต่อไปทันที คือการเปิดซอง 4 ข้อเสนอพิเศษ เพื่อตรวจสอบข้อเสนอของทางเอกชนหากพบว่าเป็นประโยชน์แก่รัฐ ก็จะเร่งพิจารณารายละเอียด

“ข้อเสนอซอง 4 ไม่ใช่ข้อเสนอที่เป็นผลตัดสินต่อการประมูลอยู่แล้ว เพียงแต่พิจารณาว่าจะรับไว้หรือไม่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อเราจัดทำร่างสัญญาแล้วเสร็จ ส่งให้อัยการตรวจสอบ จึงกลับมาเปิดซอง 4 ดูว่าเป็นประโยชน์ไหม เพราะข้อเสนอส่วนนี้ไม่ได้เป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด หรือสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมทุน”

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดซองข้อเสนอพิเศษดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เชิญตัวแทนของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเข้าร่วมด้วย ก็พบว่าข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่ไม่มีเงื่อนไข และไม่ได้กระทบ หรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ เป็นเพียงข้อเสนอพิเศษที่จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับภาครัฐ

และส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ต่อกองทัพเรือ อาทิ การตั้งศูนย์การแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ให้กองทัพเรือ การสร้างสวนสาธารณะภายในเมืองการบิน และการจ้างงานครอบครัวบุคลากรกองทัพเรือ

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ข้อเสนอพิเศษที่ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเสนอมานั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่ทางเอกชนต้องการดำเนินการเอง โดยไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่เกิดประโยชน์สนับสนุนโครงการให้สมบูรณ์มากขึ้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงพิจารณารับข้อเสนอไว้ โดยใช้เวลาพิจารณาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น พร้อมทั้งได้นัดกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ให้เตรียมความพร้อมกำหนดวันลงนามสัญญา ภายในเดือน พ.ค.นี้

“การพิจารณาซอง 4 ข้อเสนอพิเศษนี้ ตามหลักการไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน เพราะเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับเงื่อนไขร่างสัญญาอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องพิจารณาว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐ ควรรับไว้หรือไม่เท่านั้น ดังนั้นตามข้อเสนอที่เห็นครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงพิจารณารับไว้ และไม่ต้องเจรจาอะไรอีก เพียงแต่ต้องนัดเอกชนให้คุยรายละเอียดกับทางกองทัพเรือ ว่าส่วนใดทำได้และส่วนใดทำไม่ได้เท่านั้น”

รวมทั้งข้อเสนอพิเศษที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเสนอมานั้น ไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะไม่ได้มีเงื่อนไขผูกมัดในร่างสัญญา ดังนั้นเอกชนสามารถทยอยดำเนินการได้ ส่วนข้อเสนอที่ผูกมัดในร่างสัญญา อาทิ การพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสาร 16 ล้านคนต่อปี ตามที่เอกชนระบุไว้ จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน เป็นต้น

สำหรับแผนพัฒนาโครงการที่ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเสนอ เบื้องต้นพบว่าแบ่งระยะการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีแผนสร้างอาคารผู้โดยสารรองรับปริมาณผู้โดยสาร 16 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าที่เอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) กำหนดให้รองรับไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคนต่อปี รวมทั้งจะพัฒนาโรงแรม คลังสินค้า และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบของ Business area

ส่วนระยะที่ 2 พบว่าจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมอีก 1 อาคาร