'จุรินทร์' ถก เอกชน 'ลดราคาสินค้า' สูงสุด 58% ช่วยผู้บริโภค
พาณิชย์ จับมือ เอกชน ลดราคาสินค้าจำเป็นใน 6 หมวด 5-58% ช่วยบรรเทาภาวะค่าครองชีพ ช่วงโควิด-19 เริ่มพร้อมกันตั้งแต่วันนี้ - 30 มิ.ย.
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับผู้ผลิตสินค้า 13 รายใหญ่ เช่น ยูนิลีเวอร์ ซีพีเอฟ เบอร์ลี่ยูคเกอร์ คอลเกต ข้าวตราฉัตร และหยั่นหว่อหยุ่น รวมถึงห้างค้าปลีก-ค้าส่ง อีก 8 แห่ง ทั้งแม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ท็อป และเซเว่น-อีเลฟเว่น เพื่อหาแนวทางการจัดลดราคาจำหน่ายสินค้า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเอกชนทุกราย พร้อมใจกันลดราคาสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน 6 หมวด ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ทั้งข้าวสาร น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และนม หมวดอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ลดราคาผ่านเซเว่น-อีเลฟเว่น และซีพีเฟรชมาร์ท หมวดซอสปรุงรส ทั้งซีอิ้วขาว-ซีอิ๋วดำตราเด็กสมบูรณ์ ซอสหอยนางรม เต้าเจี้ยว หมวดของใช้ประจำวัน เช่น กระดาษชำระ แป้งเด็ก ยาสีฟัน แปรงสีฟัน และผ้าอนามัย หมวดผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย ทั้งสบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า และหมวดผลิตภัณฑ์ซัก-ล้าง ทั้งน้ำยาทำความสะอาดผ้า น้ำยาล้างขวดนม และน้ำยาทำความสะอาดพื้น รวมแล้ว 72 รายการ ในห้างที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ลดราคา 5-58% ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63 "การปรับลดราคาของผู้ผลิตรายใหญ่เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ถือเป็นการชี้นำตลาด ให้แบรนด์อื่นๆ เข้ามาร่วมปรับลดราคาสินค้าตามด้วย"
ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนสินค้านั้น ยืนยันว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยนำปัจจัยจากราคาน้ำมัน มาเป็นเหตุผลของการปรับขึ้น หรือ ลดราคาสินค้าแต่อย่างใด โดยจะดูจากวัตถุดิบ และค่าแรงเป็นหลัก
ด้าน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ย้ำว่า ราคาน้ำมัน มีผลต่อต้นทุนการผลิตรวมในสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงร้อยละ 1- 3 เท่านั้น เพราะราคาน้ำมัน อยู่ในภาคบริการค่าขนส่ง และโลจิสติกส์เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมา แม้ราคาน้ำมันปรับขึ้น ก็ไม่เคยใช้เป็นเหตุผลให้ราคาสินค้าปรับขึ้นเช่นกัน ดังนั้น นโยบายการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในลดราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์นั้น จึงเป็นนโยบายที่เกิดจากความตั้งใจที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในสถานการณ์วิกฤตินี้โดยเฉพาะ