‘เลื่อนออกหวย’ สะเทือนไปถึงกระเป๋าเงินรัฐ
การเลื่อนออกหวย ไม่เพียงกระทบแต่ผู้ค้ารายใหญ่ รายย่อย และประชาชนที่ชอบเสี่ยงดวงลุ้นโชคเท่านั้น แต่ยังส่งแรงสะเทือนไปถึงกระเป๋าเงินรัฐ ที่อาจต้องขาดรายได้จากเงินนำส่งจากรัฐวิสาหกิจที่ปี 2562 ครองแชมป์อันดับ 1
ในวันที่เขียนบทความนี้ 17 เมษายน 2563 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการเลื่อนการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือเลื่อนออกหวยนั่นเอง ในงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 ไปเป็นวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ซึ่งยังไม่รู็ว่าจะถึงจุดสิ้นสุดหรือยัง เพราะคงต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าต่อไปอีก
แน่นอนว่าเหล่านักเสี่ยงโชคคงต้องเสียดายไปตามๆ กัน เพราะจะไม่ได้ซื้อและลุ้นหวยไปถึง 3 งวดเต็ม ขณะที่ผู้ค้ารายย่อย กลาง และใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกระจายล็อตเตอรี่ออกไปทั่วประเทศนั้น ก็ได้รับความเดือดร้อนไปเต็มๆ เงินที่เคยรับเดือนต่อเดือนต้องหยุดนิ่ง
ทั้งนี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 นับเป็นครั้งแรกที่มีการเลื่อนการออกล็อตเตอรี่ออกไปคราวเดียวถึง 2 งวด ซึ่งจะไม่มีการจำหน่ายสลากงวดที่ 1 เมษายน 2563 และงวดที่ 16 เมษายน 2563 โดยที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่องการออกรางวัล ของสลากงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 มีมติให้เลื่อนออกรางวัลเป็น 2 พฤษภาคม 2563 โดยให้เหตุผลไว้ว่าเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส
แต่ก็ยังโชคดีที่มีมาตรการให้ผู้ที่ทำการจองสลากงวดที่ 16 เมษายน 2563 ในระบบไว้ล่วงหน้า ได้เงินคืนจากสำนักงานกองสลากฯ รวมถึงมาตรการเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐเองนั้นออกมาป้องกันไวรัสแพร่กระจาย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของตอนแรกนั้นคือ เหล่าผู้ค้าสลากนั่นเอง
ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าจับตาคือ รายได้ของรัฐที่จะต้องลดลงไปราวๆ 5,300 ล้านบาท จากสำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จะต้องนำส่งในแต่ละปี
ว่าแต่..เงินเหล่านี้มาจากส่วนไหนบ้าง?
“พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี” ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้อธิบายไว้ว่า การเลื่อนออกสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 งวด คือ งวดวันที่ 1 เม.ย.และ 16 เม.ย. 2563 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลที่ปกติกองสลากต้องนำส่งในสัดส่วน 23% จากการออกสลาก 100 ล้านฉบับ รวมกว่า 3,560 ล้านบาท
ทั้งนี้แบ่งเป็น 1.รายได้จากการออกสลากปกติ 89 ล้านฉบับ งวดละ 1,600 ล้านบาท รวม 2 งวด ทั้งหมด 3,200 ล้านบาท และ 2.การออกสลากการกุศลที่ปกติจะต้องส่งรายได้เข้ารัฐบาลงวดละ 180 ล้านบาท รวม 2 งวด ทั้งหมด 360 ล้านบาท
โดยจำนวนเงินนี้ก็ถือว่าไม่น้อยทีเดียว หากย้อนกลับไปในปี 2562 จะพบว่า "รัฐวิสาหกิจ" ที่นำส่งรายได้เข้ารัฐมากที่สุด ก็คือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่งเป็นเงินทั้งหมด 41,916 ล้านบาท ห่างจากอันดับอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ค่อนข้างมากถึง 12,718 ล้านบาท หรือพลิกวิกฤติไปสู่โอกาสการเกิดสล่กออนไลน์ ก็คงต้องพิจารณาอีกหลายกระบวนท่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ค้าที่มีอยู่ในระบบ
ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับรายได้ที่คาดว่าจะลดลงเช่นกันของรัฐวิสาหกิจอื่นที่ขานรับนโยบาบรัฐบาลในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ที่ออกทั้งมาตรการลดค่าไฟฟ้าลงทุกครัวเรือน 3% การผ่อนผันการชำระค่าไฟฟ้า เป็นต้น
จึงกลายเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าในปีนี้ กระเป๋าเงินของรัฐแฟ่บลงไปเท่าไร และหากไวรัสนี้ยังคงอยู่ตามที่หลายคนคาดการณ์ว่าอาจถึงสิ้นปี 2563 เศรษฐกิจทั้งระบบจะต้องสูญเงินไปอีกเท่าไร
อย่างไรก็ตาม สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นมีรายได้ มาจาก 5 ช่องทาง ได้แก่ 1.การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นรายได้หลังจากหักส่วนลดตัวแทนจำหน่ายแล้ว 2.การดำเนินการออกสลากการกุศล เป็นรายได้หลังจากหักส่วนลดตัวแทนจำหน่ายแล้ว 3.งานรับจ้างพิมพ์ 4.ดอกเบี้ย 5.การให้เช่า
อย่างเช่นปี 2562 สำนักงานกองสลากฯ มีรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล 1.66 แสนล้านบาท หักส่วนลดตัวแทนจำหน่าย 2 หมื่นล้านบาท ทำให้มีรายได้เหลือ 1.46 ล้านบาท รวมถึงยังมีรายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศล 8.8 พันล้านบาท หักส่วนลดตัวแทนจำหน่ายราว 1 พันล้านบาท เหลือรายได้ 7.74 พันล้านบาท หากรวมกับรายได้ส่วนอื่นๆ เช่น การรับจ้างพิมพ์ ทำให้มีรายได้รวม 1.54 แสนล้านบาท
ขณะที่เงินนำส่งรัฐนั้นมีที่มาจาก 1.เงินจากการจำหน่ายสลาก ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20, กำไรประจำปี, เงินรางวัลค้างจ่ายครบกำหนดอายุความ 2 ปี, เงินรางวัลค้างจ่ายสลากบำรุงการกุศล ครบกำหนดอายุความ 10 ปี, ดอกผลของเงินรางวัลร้อย 60 ของค่าจำหน่ายสลาก และดอกผลของเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของค่าจำหน่ายสลาก
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872638
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865140
http://handing1.glo.or.th/ewt_news.php?nid=1409