'3นางหงส์' ครองบัลลังก์ช่อง 3 พาธุรกิจครอบครัวฝ่าดิสรัป
'มาลีนนท์' เคลื่อนธุรกิจครอบครัว 'ช่อง 3' สร้างอาณาจักรแกร่ง 40 กว่าปี ทว่า รอยต่อปีที่ 49-51 เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งอ้าแขนรับ "คนนอก" กุมบังเหียน แต่ผลงานไม่ประจักษ์ สุดท้าย 3 นางหงส์ นั่งบัลลังก์ กอบกู้ 'บีอีซีเวิลด์'
New Decade หรือทศวรรษใหม่ของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) หรือช่อง 3 ก้าวสู่ปีที่ 51 ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะ “แม่ทัพ” เคลื่อนธุรกิจ ที่ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ตระกูล “มาลีนนท์” ยังคงบริหารธุรกิจครอบครัวกันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นล้วนเป็น “พญามังกร” จากรุ่นพ่อ “วิชัย มาลีนนท์” ก่อร่างสร้างอาณาจักรให้เติบใหญ่ และมีบรรดา “ทายาท” บุตร-ธิดาทั้ง 8 คน เข้ามารับไม้ต่อกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น บุตรชาย “ประสาร-ประวิทย์-ประชา-ประชุม มาลีนนท์” ส่วนบุตรสาว “รัตนา-นิภา-อัมพร มาลีนนท์” และ“รัชนี นิพัทธกุล(มาลีนนท์)”
ทั้งนี้ 50 ปี ที่ช่อง 3 เติบใหญ่ บุตรชายมีบทบาทสำคัญและอยู่ “ฉากหน้า” สปอร์ตไลท์ส่องตรงไปยังทุกคน จนเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ขณะที่บุตรสาว อยู่เบื้องหลังช่วยกันทำงานผลักดันให้องค์กรเดินหน้าไปข้างหน้าไม่ต่างกัน
ทว่า การลาออกจากการเป็น “กรรมการ” ผู้มีอำนาจลงนามของ “ประชุม มาลีนนท์” เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนค่ายวิก 3 พระรามสี่อย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันการปรับองค์กรจากธุรกิจครอบครัวสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เปิดทางให้ “คนนอก” เข้ามาบริหาร และหนึ่งในนั้นคือ “อริยะ พนมยงค์” ผู้บริหารมากฝีมือจากฝั่งเทคโนโลยี(ประสบการณ์ทำงานที่ทรู,กูเกิลและ ไลน์) ที่เคย “ดิสรัป” สื่อเก่า(Traditional media) จนซวนเซอย่างหนัก
ข้ามห้วยมารับงานท้าทายกับเก้าอี้ใหม่ “กรรมการผู้อำนวยการ-President” เพื่อบริหารธุรกิจสื่อดั้งเดิมที่เจอสึนามิหลากลูกถาโถม ได้แก่ ตัดสินใจคืนใบอนุญาตประกอบการกิจทีวีดิจิทัล, ดิจิทัลดิสรัปชั่น, คนดูทีวีน้อยลง เรทติ้งต่ำ และเม็ดเงินโฆษณากระจายจากทีวีไปยังสื่อออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจกำลังซื้อมีผลต่อการใช้เม็ดเงินโฆษณาต่างๆ
วานนี้( 20 เม.ย) อริยะ แจ้ง “ลาออก” จากบีอีซี เวิลด์ มีผล 20 มิ.ย.นี้ ระหว่างนั้นได้ส่งสารถึงเพื่อนพนักงานบอกความรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานและขอบคุณผู้บริหารที่ให้การสนับสนุนในการทำงาน
“ที่ผ่านมาหลายคนต้องปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ และการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้น ผมรับรู้ได้ถึงพลังบวกจากเพื่อนพนักงงาน ทุกคนที่ตั้งใจจะนำพาบริษัทฯให้ก้าวเดินไปข้างหน้า จากนี้ไปอยากให้เพื่อนพนักงานยังคงยึดมั่นในสปิริตของการทำงานเพื่อบริษัทฯ มีความกล้าที่จะเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรต่อไป อย่างไรก็ตาม การบริหารงานให้กับช่อง 3 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมสื่อเจอวิกฤติดิสรัปชั่น แต่บีอีซี เวิลด์ ยังคงมีความแข็งแรงด้านคอนเทนต์อยู่ และยังมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อคงความเป็นผู้นำทางด้านทีวี เจาะตลาดดิจิทัลและต่างประเทศ”
ส่วนการบริหารจากนี้ กรรมการบริหารจะมาเป็นผู้ดูแลงานด้านต่างๆเพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ และเพื่อการทำงานที่คล่องตัว ซึ่ง "รัตนา มาลีนนท์" จะดูแลกลุ่มงานสนับสนุนทั้งหมด "อัมพร มาลีนนท์" จะดูแลกลุ่มงานผลิต งานข่าว งานรายการ และการออกอากาศ และ “รัชนี นิพัทธกุศล" ดูแลกลุ่มงานขาย การตลาด และธุรกิจดิจิทัล
นับเป็นปฐมบทอีกตอนของ “3 นางหงส์” ในการครองบัลลังก์ เพื่อรับศึกหนัก “พลิกฟื้น” ช่อง 3 ให้รอดพ้นจากวิกฤตินานัปการ ทั้งความมั่งคั่งมูลค่าหุ้นที่ลดลง รายได้หดหาย และเผชิญภาวะ “ขาดทุน” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยผลประกอบการปี 2562 รายได้กว่า 8,000 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 รายได้10,504 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 337 ล้านบาท
แหล่งข่าว จากวงการทีวีดิจิทัล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจทำให้ “คนนอก” หมดสิทธิ์เข้ามากุมบังเหียนของช่อง 3 เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนเก่ง” นอกตระกูลคนแล้วคนเล่ายังไม่สามารถแสดงฝีมือพาช่อง 3 พ้นวิกฤติได้ กลับกันยัง “กวนน้ำให้ขุ่น” เพราะ “ผู้นำ” ที่เข้ามา ดึงทีมงานตนเองมาเป็นมือซ้ายขวา อาจกระทบคนทำงาน “เก่าแก่” อีกทั้งวัฒนธรรมธุรกิจครอบครัวที่ฝังรากลึก ระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนที่ตระกูลมาลีนนท์ดูแลคนทำงานทั้งผู้จัด พนักงาน ให้เจริญเติบโตก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างดี จนเป็นที่รักใคร่ของผู้จัด นักแสดง คนทำงาน หากทีมงานมาใหม่ที่ไม่เข้าใจจุดนี้ ปรับโครงสร้างเร็วและแรง ก็จอด!! เพราะกระทบ “ความรู้สึก” จงรักภักดีต่อองค์กร และ “ปากท้อง” (กรณีคนใหม่มา โละคนเก่าออกไป)เกิดแรงเสียดทาน และขาดความร่วมไม้ร่วมมือในที่สุด
นาทีนี้ การให้คนในครอบครัวบริหาร นอกจากเข้าใจธุรกิจตนเองอย่างดี รู้จักใครเป็นใคร และคนทำงานอย่างดีแล้ว การไม่รับคนนอก ยังช่วย "ประหยัดต้นทุน" ได้ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าคนนอกที่เป็น "มืออาชีพ" นั่งใน Board of Directors: BoD และทีมงานใหม่ๆที่ดึงเข้ามาเสริมทัพ ได้รับ "ผลตอบแทน" ที่สูง หากดูแค่เบี้ยประชุม ซึ่งเป็นข้อมูลเปิดเผยทั่วไป เป็นเม็ดเงินน้อยไม่น้อยเลยทีเดียว ช่วงนี้รัดเข็มขัดได้ จึงต้องเทำและพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ มองการเปลี่ยนแปลงของช่อง 3 ครั้งนี้ว่า พื้นฐานธุรกิจทีวีเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ การที่คนเพียงคนเดียวเข้ามาบริหารช่อง 3 แล้วไม่สามารถสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางไว้ การลาออกถือเป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ตาม โจทย์หินของธุรกิจสื่อดั้งเดิมเป็นที่ทราบกันดีว่าเผชิญสึนามิดิจทัลซัดหนักหน่วงจริงๆ พฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยน การจะกลับไปผงาดยิ่งใหญ่เหมือนอดีตเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก
จากนี้ต้องติดตามภารกิจกอบกู้อาณาจักร“ช่อง3”ของ 3 นางหงส์แห่ง“ตระกูลมาลีนนท์”จะพลิกฟื้นได้หรือไม่ ท่ามกลางพายุดิจิทัลถาโถม..! โควิดทุบซ้ำ!