4บจ.ขาย‘หุ้นกู้’เหลืออื้อ พิษโควิดฉุดเชื่อมั่นลงทุนหันถือเงินสด

4บจ.ขาย‘หุ้นกู้’เหลืออื้อ พิษโควิดฉุดเชื่อมั่นลงทุนหันถือเงินสด

“โควิด” ป่วนตลาดหุ้นกู้ ส่งผลเอกชนระดมทุนต่ำเป้าอื้อ เผยเดือนเม.ย.มีเสนอขายรวม 5 บริษัท ขายได้ครบตามเป้าเพียง 1 บริษัท ส่วนอีก 4 บริษัทเหลืออื้อ วงการตลาดทุน คาด นักลงทุนเน้นถือเงินสด จับตาอีก 1 เดือนข้างหน้า ยังมีออกเพิ่ม 5 ราย

ข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทย(ไทยบีเอ็มเอ) พบว่า ในเดือนเม.ย.2563 มี “บริษัทเอกชน” เสนอขาย “หุ้นกู้” รวม 10 บริษัท ในจำนวนนี้ปิดการขายแล้ว 5 บริษัท ประกอบด้วย บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์(ANAN) เสนอขายรวม  4,000 ล้านบาท จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ย 4-4.50% แต่ขายได้ทั้งหมด  1,169.90 ล้านบาท , บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เสนอขาย 4 ชุด รวม 15,000 ล้านบาท  อัตราดอกเบี้ย 2.6%,2.99%,3.29%และ3.50% โดยสามารถขายได้ครบทั้งจำนวน 

บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) เสนอขายมูลค่า 1,650 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4.50% ขายได้จริง 1,099.60 ล้านบาท , บมจ.เอสจีเอฟ แคปปิตอล(SGF) เสนอขาย 270 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.25% ขายได้จริง 149.20 ล้านบาท , บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) เสนอขาย 1,500 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4.50% ขายได้จริง 490 ล้านบาท

 ส่วนอีก 5 บริษัทเตรียมที่จะเปิดจองคือ บมจ.ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์(CI) ,บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN),บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL)และ บมจ.บ้านปู (ฺฺฺBANPU)

158764825754

แหล่งข่าววงการตลาดทุน กล่าวว่า ในเดือนเม.ย.นี้ มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระรวมทั้งสิ้น 8 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะมีหุ้นกู้ที่ออกเสนอขายใหม่ได้จริงน้อยกว่านั้น สาเหตุเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ทำให้การซื้อหุ้นกู้ไม่ได้รับความสะดวกนัก เพราะต้องไปจองซื้อที่ธนาคารพาณิชย์ และถึงแม้จะทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ก็ไม่สะดวก 100% เหมือไปทำธุรกรรมที่สาขาธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากต้องทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า(KYC) อีกทั้งนักลงทุนส่วนหนึ่งต้องการเก็บเงินสดไว้ รวมถึงบางบริษัทได้สำรวจความสนใจจองซื้อแล้วมีคนสนใจซื้อน้อย จึงตัดสินใจไม่ออกเสนอขาย

ทั้งนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดนั้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ จึงมีความสามารถในการนำเงินสดมาชำระคืนหุ้นกู้ที่กำหนดได้ เพราะหลายบริษัทเตรียมสภาพคล่องไว้แล้ว แต่หากบริษัทที่ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าสามารถขอวงเงินสนับสนุนวงเงินจากตั้งกองทุน Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) เพียงแต่บริษัทเอกชนต้องแสดงความมั่นใจให้กับคณะกรรมการกองทุนเห็นว่าบริษัทมีแผนธุรกิจ และมีแหล่งเงินจากหลายแหล่ง คงไม่สามารถมาขอสนับสนุนได้เต็ม เพราะกองทุนให้ไม่เกิน50%ในส่วนหุ้นกู้ที่ได้รับเรทติ้งระดับอินเวสเม้นท์เกรด แต่สำหรับหุ้นกู้ต่ำกว่าระดับอินเวสเม้นท์เกรดคงต้องหันไปขอสินเชื่อสถาบันการเงิน อาจจะต้องมีหลักประกันค้ำที่สูงขึ้นพอสมควรซึ่งต้องยอมรับจุดนั้นให้ได้

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ภาพรวมการเสนอขายหุ้นกู้ปีนี้อาจทำได้เพียง 5-6 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ ไทยบีเอ็มเอ เคยตั้งไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ 8.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์คลี่คลายเร็ว ก็อาจเห็นยอดเสนอขายหุ้นกู้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ มีรวมประมาณ 6.6 แสนล้านบาท

นายฐิติพงศ์ เตชะรัตนยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) กล่าวว่า บริษัทเสนอขายหุ้นกู้ จำนวน 2,800 ล้านบาทจำนวน 2ชุด อายุ 3ปี อัตราดอกเบี้ย 3.70%และอายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 4.20%  เพื่อนำเงินไปชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดเดือนพ.ค.1,000 ล้านบาท ที่เหลือใช้ลงทุนและเงินทุนหมุนเวียน แต่จากโควิด-19 ระบาดคาดเชื่อว่าทุกบริษัทก็จะขายไม่หมด เนื่องจากนักลงทุนจะเก็บเงินสดไว้ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้ได้ประมาณ 50% หรือ 1,400 ล้านบาท เพราะเชื่อว่ามีนักลงทุนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของบริษัทมาจองซื้อ แต่แม้จะขายไม่หมดก็ไม่มีผลกระทบ เพราะบริษัทมีวงเงินสินเชื่อกับแบงก์จำนวน 7-8 พันล้านบาทรองรับการขยายธุรกิจได้