เมื่อรัฐต้องกู้ 'ต้มยำกุ้ง & Covid-19'

เมื่อรัฐต้องกู้ 'ต้มยำกุ้ง & Covid-19'

เปรียบเทียบความแตกต่างเมื่อรัฐต้องกู้เงินในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ระหว่างวิกฤติต้มยำกุ้งกับวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ มีปัจจัยและเหตุผลที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ย้อนกลับไปในปี 2540... ครั้งหนึ่งวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้รัฐไทยต้องกู้เงินจาก IMF จวบจนวันนี้ Covid-19 ทำให้เหตุการณ์กู้เงินนั้นกลับมาอีกครั้ง แต่ในรูปแบบที่แตกต่าง เนื่องจากมีเหตุและปัจจัยในเชิงเปรียบเทียบที่ต่างกัน

  • จุดเกิดที่แตกต่างของ วิกฤติ

ต้มยำกุ้ง : เป็นวิกฤติของภาคเอกชนที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นที่ส่งผลให้เกิดเหตุแห่งวิกฤติ 3 ประการ

1) ค่าเงินบาทผูกติดกับดอลลาร์เกินไป กล่าวคือ นโยบายค่าเงินถูกนำไปผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว (Fixed exchange rate) เพื่อหวังผลในการบริหารจัดการที่ง่ายและสะดวกต่อการค้าขายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ก่อนปี 40 ไม่นาน ค่าเงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลเงินอื่นๆ (เช่น ปอนด์ เยน) ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วยเช่นกันเมื่อเทียบกับสกุลเงินเหล่านั้น (แม้เทียบกับดอลลาร์แล้วยังคงที่ก็ตาม)

ผลที่ได้รับ คือ การส่งออกของไทยลดลง อันเป็นผลมาจากเงินบาทแข็งค่าเกินไป หรือพูดง่ายๆ ว่า สินค้าไทยมีราคาแพงในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ดีการที่เงินบาทแข็งค่าเกินไปนั้น ในทางกลับกันก็ส่งผลให้นักเก็งกำไรเห็นโอกาสในการโจมตีค่าเงิน (นำโดย จอร์จ โซรอส) จนส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงินด้วยการขายทุนสำรองเงินตรา จนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเป็นอย่างมาก

จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนจากนโยบายผูกติดกับดอลลาร์พียงสกุลเดียว เป็นนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ (Managed float) ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมากกว่า 60% (จาก 25 บาทต่อดอลลาร์เป็น 50+ บาท) หรือที่เราเรียกว่า “ลอยตัวค่าเงินบาท”

2) การกู้ยืมเกินตัว กล่าวคือ ก่อนปี 2540 ไทยได้เปิดเสรีการเงิน (BIBF) ทำให้เอกชนไทยสามารถกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้ไม่ยาก ประกอบกับเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศมีอัตราที่แตกต่างกันมาก เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ไทย 20% แต่ดอกเบี้ยในสหรัฐเพียงแค่ 5% จึงส่งผลให้เอกชนไทยกู้เงินจากต่างชาติในปริมาณมาก

ประกอบกับเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้สกุลต่างประเทศที่มีระยะสั้น (กำหนดจ่ายคืนเร็ว) ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับเหตุในการดำเนินนโยบาย “ลอยตัวค่าเงินบาท” ในข้างต้น ผลคือ เอกชนที่กู้เงินจากต่างประเทศมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และบางแห่งไม่สามารถหาเงินมาคืนหนี้ต่างประเทศได้ทัน จึงเริ่มขาดทุนและล้มละลายจนส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ

3) การเก็งกำไรในภาคเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตมากนัก กล่าวคือ จากข้อเท็จจริงข้างต้น การที่เอกชนกู้เงินมาได้โดยง่ายในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก จึงเกิดการนำเงินนั้นไปลงทุนและเก็งกำไรในภาคเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาฯ และตลาดหุ้น ผลที่ตามมา คือ ทำให้เกิดฟองสบู่ใน 2 ภาคดังกล่าว และเมื่อความเสี่ยงมีมากขึ้นจากการลอยตัวของค่าเงิน ส่งผลให้ฟองสบู่ที่มีอยู่มากมายนั้นแตก เอกชนและนักลงทุนอยู่ในสภาวะขาดทุน และเป็นที่มาของ วิกฤตการณ์การเงิน ที่ลามไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 40

Covid-19 : วิกฤติในคราวนี้แตกต่าง เนื่องจากไม่ได้มีสาเหตุมาจากค่าเงิน หรือ Bubble จากภาคธุรกิจเช่นในปี 40 แต่เป็นวิกฤติโรคระบาด ที่เรียกว่า 100 ปีจะมีสักครั้ง นับตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ในปี 1918 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 50 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อ 1/3 ของประชากรโลก สำหรับครั้งนี้ หากถามว่าเราอยู่ในช่วงไหนของวิกฤติ ก็คงไม่มีใครให้คำตอบได้แน่ชัด เพราะเราต่างอยู่ในความไม่รู้ (VUCA) ไม่รู้ว่าเราเข้าใจความจริงของโรคนี้หมดหรือยัง ไม่รู้ว่าวัคซีนจะคิดค้นได้เมื่อไร และไม่รู้ว่าการระบาดที่เหมือนจะคลี่คลายลงในบางประเทศจะกลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้งหรือไม่ ?

การกู้ที่แตกต่าง : เรากู้ IMF แบบครั้งต้มยำกุ้งอีกไหม?   

ต้มยำกุ้ง : ในครั้งนั้น สาเหตุที่เราต้องกู้ IMF เพราะเป็นวิกฤตที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือ เงินบาทแข็งค่าและมีการโจมตีค่าเงิน จนส่งผลให้ ธปท.ต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่มีเข้าต่อสู้ และไม่สามารถต่อสู้ได้อีก ในเวลานั้น เราจึงต้องขอกู้เงินจาก IMF เป็นสกุลดอลลาร์เพื่อนำมาเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองเพื่อชดเชยดุลการชำระเงินและดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

ยกตัวอย่างเหตุที่ต้องเก็บดอลลาร์ไว้เป็นเงินทุนสำรอง เช่น ในเวลาที่มีผู้นำเข้ามาขอแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์เพื่อชำระค่าธุรกรรม (เช่น การนำเข้าน้ำมัน) ธปท.ก็จะมีเงินดอลลาร์ให้แลกกลับไป ดังนั้น หากขาดเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมในลักษณะนี้แล้ว ผู้นำเข้าก็อาจไม่สามารถนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคได้ และอาจส่งผลต่อการขาดแคลนสินค้าดังกล่าวในประเทศ

Covid-19: สาเหตุที่เราต้องกู้ เพราะรัฐต้องการนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 (วงเงินหนึ่งล้านล้านบาท) ซึ่งรัฐจะลงนามในสัญญาเงินกู้หรือออกตราสารหนี้ภายใน 30 ก.ย. 2564 หรือ อาจกล่าวได้ว่าการกู้ในครั้งนี้เป็นเหตุมาจากโรคระบาดที่เหนือความคาดหมาย งบประมาณแผ่นดินที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านี้จึงไม่ได้ระบุการใช้เงินในเรื่องดังกล่าวไว้ ประกอบกับงบกลางสำหรับใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินที่ได้ตั้งไว้และโยกมาใช้ไปแล้วนั้น ก็ยังคงไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว

จึงเป็นที่มาของ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา Covid-19 ดังนั้น การกู้เงินของรัฐในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายการคลังเป็นหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการกู้เพื่อช่วยประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับออกกฎหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินผ่านการตั้งกองทุน BSF และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับเอกชนในรูปแบบ Soft Loans/Debt holidays ซึ่งแตกต่างจากการใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินและเงินทุนสำรองในปี 40

ท้ายที่สุดนับแต่ Great Depression วิกฤตครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดก็ว่าได้ และจะเป็นปัญหาทางการคลังครั้งใหญ่ที่รัฐทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]