ธปท. เปิดเงื่อนไข 'BSF' กองทุนพยุงหุ้นกู้ บริษัทใดเข้าร่วมได้บ้าง?

ธปท. เปิดเงื่อนไข 'BSF' กองทุนพยุงหุ้นกู้ บริษัทใดเข้าร่วมได้บ้าง?

"แบงก์ชาติ" เปิดรายละเอียดเงื่อนไข กองทุน BSF ที่ใช้พยุงความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกู้ ระบุคุณสมบัติของบริษัทที่ขอรับการช่วยเหลือ

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยรายละเอียดกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ กองทุน BSF ซึ่งเป็นไปตาม พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 

กองทุน BSF ประกอบด้วย คณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการกำกับกองทุน(SC) และ คณะกรรมการลงทุน(IC) โดย SC ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบการลงทุนและกรอบการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งคัดเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) Trustee และ Auditor 

ส่วน IC ทำหน้าที่ คัดเลือกตราสารหนี้ภายใต้กรอบการลงทุนที่ SC กำหนด รวมทั้ง คัดเลือกที่ปรึกษา และรายงานผลการดำเนินการให้ SC รับทราบทุก 3 เดือน

***ผู้มีสิทธิ์ขอรับการช่วยเหลือจาก BSF

หากเป็น “บริษัท” ต้องจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในไทย  ยกเว้น รัฐวิสาหกิจ และ สถาบันการเงิน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน ไม่สามารถเข้าร่วมได้ 

บริษัทที่เข้าร่วม ต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ “ลงทุนได้” หรือ Investment grade ก่อนยื่นขอไม่เกิน 1 เดือน และหากได้รับการจัดอันดับจากหลายที่ ให้ยึดอันดับที่ต่ำกว่าเป็นหลัก 

นอกจากนี้ บริษัทที่จะเข้าร่วมต้องเป็นบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว มีแนวโน้มดำเนินธุรกิจต่อได้หลังโควิด ต้องมีแผนจัดหาเงินทุนในอนาคต และ ต้องมีหนังสือรับรองว่าสถาบันการเงินจะไม่ลดวงเงินสินเชื่อเดิมหรือเรียกหนี้คืนก่อนกำหนดตลอดช่วงที่ BSF ลงทุน

ส่วนตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด ต้องมียอดคงค้างก่อน 19 เม.ย.2563 และมีวันครบกำหนดไม่เกิน 31 ธ.ค.2564 และเป็นตราสารที่เสนอขายทั่วไป ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าว ไม่รวมตราสารหนี้และตั๋วเงินที่ขายในวงจำกัดต่ำกว่า 10 คน

บริษัทที่จะขอรับความช่วยเหลือจาก BSF ต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นก่อนไม่น้อยกว่า 50% แบ่งเป็น 1.ต้องออกตราสารใหม่อายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี ขายให้ผู้ถือกลุ่มต่างๆ ยกเว้นสถาบันการเงิน อย่างน้อย 20% และ 2.ขอสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน หรือออกตราสารใหม่ อายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี ขายให้สถาบันการเงิน ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20% 

ทั้งนี้ หากดำเนินการตามทั้ง 2 ส่วนข้างต้นแล้ว ยังไม่ถึง 50% ให้จัดหาจากแหล่งอื่นได้ เช่น เจ้าของ ผู้ถือหุ้นเดิม และบริษัทแม่

158813873196

158813874782

**ขั้นตอนการช่วยเหลือของ BSF

BSF จะให้สภาพคล่องผ่านการลงทุนในหุ้นกู้ออกใหม่ที่มีคุณสมบัติดังนี้ 

- อายุไม่เกิน 270 วัน

- อันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment grade

- เป็นตราสารหนี้ที่ไม่ซับซ้อน และไม่ด้อยสิทธิ

- กรณีผู้ออกตราสารหนี้ให้หลักประกันแก่ผู้ถือหุ้นกู้อื่นที่ออกในคราวเดียว หุ้นกู้ที่ BSF ลงทุนต้องได้รับหลักประกันที่ไม่ด้อยกว่า

ต้นทุนการขอรับความช่วยเหลือ

- บริษัทที่ขอรับการช่วยเหลือจาก BSF ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่กู้ยืมจากตลาด โดย BSF จะคิดเพิ่ม 1% ต่อปี สำหรับวงเงิน 30% ของยอดครบกำหนดที่ขอรับการช่วยเหลือเกิน และ 2% ต่อปี สำหรับส่วนที่เกินกว่า 30% 

**สิ่งที่ “ทำได้และทำไม่ได้” สำหรับบริษัทที่ขอรับการช่วยเหลือ

สิ่งที่ทำได้

- นำเงินที่ได้จาก BSF ไปไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด

- หากยังไม่ได้ดำเนินการไถ่ถอนให้นำเงินไปฝากไว้ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา

- เตรียมวางแผนจัดหาเงินทุนในระยะยาว

สิ่งที่ทำไม่ได้

- ลดทุน เว้นแต่ทำเพื่อล้างขาดทุนสะสมและมีการเพิ่มทุนใหม่

- ซื้อคืนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิจากผู้ถือหุ้นเดิม

-ชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด หรือให้กู้เพิ่มแก่กรรมการและผู้ถือหุ้น

-ชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด หรือให้กู้เพิ่ม แก่บริษัทในกลุ่ม เว้นแต่เป็นไปเพื่อธุรกิจปกติ

-ชำระคืนหนี้สินทางการเงินอื่นๆ ก่อนครบกำหนด

-จ่ายเงินโบนัสให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูง 2 ลำดับแรก

-จ่ายเงินปันผล เว้นแต่จะได้ประกาศจ่ายก่อนวันที่ 29 เม.ย.2563

-นำสินทรัพย์ที่มีอยู่ ณ วันที่ออกหุ้นกู้ขายให้ BSF ไปวางเป็นประกันเพิ่มเติมแก่เจ้าหนี้อื่น ระหว่างได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน

158813879195

**การบริหารความเสี่ยงของ BSF

ด้านการลงทุน

- การลงทุนแต่ละรายจะไม่เกิน 3% ของวงเงินรวม(4 แสนล้านบาท) และแต่ละกลุ่มธุรกิจ ไม่เกิน 10% ของวงเงินรวม

-ลงทุนในตราสารหนี้ไม่เกิน 10% ของหนี้สินทางการเงินของแต่ละบริษัทที่มาขอรับความช่วยเหลือ

-บริหารสภาพคล่องที่ BSF มี ผ่านการลงทุนในเงินฝาก หรือสินทรัพย์อื่นเช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตามที่ IC กำหนด

ด้านปฎิบัติการและธรรมาภิบาล

- ให้ SC และ IC รายงานความเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งมีการกำหนด Code of conduct สำหรับกรรมการ

- ให้ IC รายงานผลดำเนินงานต่อ SC ทุก 3 เดือน

- บลจ.เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานบนหน้าเว็บไซต์ของ บลจ. เป็นรายเดือนในวันทำการแรกของเดือนถัดไป

**การดำเนินงานของ BSF

BSF เริ่มให้การช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.2563 ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีผู้สอบถามเข้ามาบ้าง โดย บริษัท ที่จะยื่นขอรับการช่วยเหลือ ต้องทำก่อนที่ตราสารหนี้เดิมจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน และต้องส่งเอกสารให้ครบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอ 

ส่วนบริษัทที่ต้องการไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ขายให้ BSF ก่อนครบกำหนด ต้องแจ้งล่วงหน้า 5 วันทำการ โดย BSF จะสิ้นสุดการให้ความช่วยเหลือ 31 ธ.ค.2564 หรือ ยอดคงค้างการลงทุน BSF ครบ 4 แสนล้านบาท แล้วแต่เวลาใดมาถึงก่อน

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะ เลขานุการ คณะกรรมการกำกับกองทุน BSF กล่าวว่า สาเหตุที่ BSF ลงทุนใน “หุ้นกู้” ที่มีอายุไม่เกิน 270 วันเท่านั้น เพราะต้องการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน คือ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ซึ่งเป็นเป็นการช่วยเหลือระยะสั้น ดังนั้นจึงกำหนดอายุไว้ในระดับดังกล่าว

ส่วนสาเหตุที่ BSF ลงทุนในเฉพาะหุ้นกู้ระดับ Investment grade เพราะหุ้นกู้กลุ่มนี้มีประชาชนทั่วไปถือลงทุนจำนวนมากทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือ กองทุนประเภทต่างๆ ขณะที่ หุ้นกู้ ซึ่งมีอันดับต่ำกว่า Investment grade ส่วนใหญ่ขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง เป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่พอมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนอยู่แล้ว อีกทั้งหุ้นกู้เหล่านี้ก็อยู่ในการดูแลของธนาคารพาณิชย์ที่คอยช่วยดูแลในระดับหนึ่ง