เปิดแผนธุรกิจ SCG สู้โควิด เน้นสภาพคล่อง หั่นงบลงทุนหมื่นล้าน
“เอสซีจี” เตรียมลดเป้ายอดขายปีนี้ หลังไตรมาส 1 หด 6% หั่นงบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ลดรายจ่าย จัดลำดับความสำคัญธุรกิจ เน้นสภาพคล่อง รับมือโควิด-19 ลุยปิโตรคอมเพล็กซ์เวียดนาม
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ ทำให้หลายบริษัทต้องปรับแผนดำเนินงานเพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ ซึ่งจุดสิ้นสุดของการระบาดเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปรับแผนธุรกิจทำได้ยากขึ้น
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี เปิดเผยว่า เตรียมปรับเป้ายอดขายปี 2563 ลง จากเดิมคาดว่าจะใกล้เคียงระดับ 4.38 แสนล้านบาท หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อยอดขายไตรมาส 1 ลดลง 6% และมีแผนทบทวนงบลงทุนปีนี้ เหลือในกรอบ 55,000-65,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 60,000-70,000 ล้านบาท หรือลดลง 10,000 ล้านบาท หลังจากโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว
ทั้งนี้ บริษัทต้องระมัดระวังการลงทุนขึ้น รวมถึงปัจจุบันลดสต็อกผลิตภัณฑ์ลง 3-5% พร้อมการบริหารด้านความเสี่ยงทางการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายผ่านวิกฤติไปด้วยกัน ขณะที่แผนการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเช่นกัน โดยบริษัทยังมีสถานนะการเงินที่แข็งแกร่งพร้อมรับความเสี่ยงได้ 6-12 เดือน
“ปรับเป้ายอดขายไม่รู้ปรับขนาดไหน ไตรมาส 1 หายไป 6% จากปีก่อน เราเห็นผลกระทบจากโควิด แต่มันจะกี่เดือน ถ้าเห็นหลายเดือนก็มากว่า 6% ก็ตอบไม่ได้ว่าโควิดอยู่กับเรานานแค่ไหน”
คาดโควิดกระทบระยะสั้น
สถานการณ์โควิด-19 เริ่มเห็นผลกระทบช่วงเดือน มี.ค.เท่านั้น ซึ่งธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ระยะต่อไปอาจถูกกระทบจากในส่วนสินค้าแฟชั่น หรือสินค้าที่ไม่ได้ใช้เพื่อความจำเป็นในการบริโภคมากนัก
ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ที่ผลิตเพื่อรองรับของใช้ในชีวิตประจำวันยังคงไปได้ แต่การผลิตเพื่อกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้มีความจำเป็น เช่น กลุ่มยานยนต์ อาจได้รับผลกระทบระยะถัดไป โดยสถานการณ์ธุรกิจยังผันผวน จากราคาน้ำมันที่ลดลงมาอยู่ระดับต่ำ กระทบผลิตภัณฑ์เคมิคอลส์ แต่ต้องติดตามสถานการณ์ในจีนที่เป็นผู้ใช้เคมิคอลส์รายใหญ่ของโลกในไตรมาส 2-3 หลังจากความต้องการหายไปเกือบทั้งหมดช่วงไตรมาสแรก
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัท ได้ดำเนินในแนวทางต่างๆ คือ
1.มุ่งเน้นความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
2.การลดค่าใช้จ่าย เช่น การเดินทาง การจัดกิจกรรม การทบทวนค่าใช้จ่ายถ้าโครงการไหนมีประโยชน์ก็เดินหน้าลงทุนต่อ แต่หากชะลอลงเพื่อรอประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ได้ก็ไม่เร่งรีบลงทุน
3.การจัดลำดับความสำคัญทางธุรกิจ เน้นสภาพคล่องทางการเงินเป็นหลัก เน้นการทำงานรวดเร็ว สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น หากไม่สามารถขายในลักษณะของ B2B ได้ ก็หันไปขายออนไลน์แทน ซึ่งเห็นได้ชัดจากธุรกิจ SCG Home ที่มีการตอบรับ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและบล็อกเชนมาใช้ในธุรกิจที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้น
4.การลงทุนในต่างประเทศ โดยกลุ่มอาเซียนยังเป็นไปได้ดี มีการส่งออกจากไทยในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ คิดเป็น 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ในอาเซียนแต่ละประเทศต่างกัน เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ระบาดหนัก และมีการล็อกดาวน์ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เวียดนามและกัมพูชาระบาดที่น้อยกว่า
ทั้งนี้ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม (LSP) มูลค่า 5,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.73 แสนล้านบาท ยังเดินหน้าก่อสร้างต่อ ปัจจุบันคืบหน้า 33-34% แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ยังมีแต่บริษัทมีมาตรการป้องกันในพื้นที่เคร่งครัด ซึ่งโครงการดังกล่าวกำหนดแล้วเสร็จปี 2566
5.ไม่ลดกำลังการผลิตซีเมนต์ ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่เริ่มเห็นความท้าทายในระยะถัดไป โดยเฉพาะภาคเอกชน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัทยังหวังภาครัฐบาลจะคงนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยพยุงความต้องการสินค้าให้ประคองตัวได้จนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณออกมามากขึ้น
ส่วนการใช้กำลังการผลิตของบริษัท ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีการลดการใช้กำลังการผลิตไม่มากนัก เพราะบริหารซัพพลายเชนได้ดี โดยเฉพาะในธุรกิจซีเมนต์ แม้ความต้องการในประเทศช่วงไตรมาส 1 หดตัวลง 5% แต่ไม่มีแผนที่ลดการผลิตเพราะยังส่งของออกไปได้ ซึ่งคงต้องดูสถานการณ์ระยะต่อไปด้วยและบริษัทจะทำงานเต็มที่เพื่อหาจุดที่ปรับการดำเนินธุรกิจได้ และไม่ให้กระทบต่อการจ้างงาน
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 105,741 ล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิอยู่ที่ 6,971 ล้านบาท ลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพราะได้รับผลกระทบจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลง รวมทั้งผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าลดลง
มียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) อยู่ที่ 46,120 ล้านบาท คิดเป็น 44% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 44,859 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน