ส่งออกแดนมังกรส่อฟื้น ! คลายล็อก 'ธุรกิจพึ่งตลาดจีน'

ส่งออกแดนมังกรส่อฟื้น ! คลายล็อก 'ธุรกิจพึ่งตลาดจีน'

เมื่อ 'แดนมังกร' เริ่มเปิดประเทศ หลังตัวเลขผู้ติดโควิด-19 พ้นวิกฤติ 'กลุ่มธุรกิจไทย' ที่ฝากความหวังไว้บน 'กำลังซื้อของคนจีน' ใจชื้น 'บิ๊กเอกชน' ประสานเสียง เห็นสัญญาณบวกคำสั่งซื้อ เม.ย.-พ.ค.โตเกือบปกติ

พลันที่เศรษฐกิจจีนหยุดชะงักจาก 'มาตรการปิดเมือง' (Lockdown) และกักตัวเองเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส 'โคโรน่า สายพันธุ์ใหม่' (โควิด-19) ที่ระบาดรุนแรงนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทุกภาคอุตสาหกรรมในจีนหยุดดำเนินการไปแทบทั้งหมด ยกเว้นการผลิตและขนส่งสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น

สอดคล้องกับ 'สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน' (เอ็นบีเอส) ที่เผยถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในไตรมาส 1 ปี 2563 ว่าหดตัว 6.8% ถือเป็นการ 'หดตัว' รายไตรมาส 'ครั้งแรกในรอบ 28 ปี' เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ฉุดอุปสงค์ทรุดหนัก

มาวันนี้ดูเหมือนจีน 'กำลังจะผ่านพ้น' วิกฤติโควิด-19 ไปก่อนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก หลังล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งประเทศจีน 'ต่ำหลักพันราย' ไปแล้ว สวนทางกับตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 3 ล้านราย โดยประเทศที่มีผู้ป่วยนำโด่งสุดคือ มหาอำนาจอย่างสหรัฐ ตามมาด้วยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ไล่มาตั้งแต่ อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เป็นต้น

โดยธุรกิจที่เคยมีความสุขบน 'กำลังซื้อของคนจีน' ก่อนจะเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด-19 นั้น ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปมากแล้ว อย่าง บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN , บมจ.ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD , บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY ที่โฟกัสกลุ่มลูกค้าจีนทั้งที่มาท่องเที่ยวในไทย และขยายตลาดไปปักหมุด ณ ดินแดนมังกร

ทว่ากำลังซื้อของบริษัทที่พึ่งพาตลาดจีนเหล่านี้ เริ่มส่งสัญญาณว่ากำลังจะกลับมา โดยเฉพาะการ 'ส่งออก' สอดคล้องกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่ระบุว่า การส่งออกไทยเดือนมี.ค. 2563 ขยายตัว 4.17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัว 'ในรอบ 8 เดือน' โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 22,405 ล้านดอลลาร์

เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยได้ปัจจัยบวกเข้ามาผสมจากปัญหาสงครามการค้าเบาบางลง สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 1.1% แต่สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็นและแปรรูป ไก่สดแช่เย็นและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง

ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการ 'ท่องเที่ยว' อย่าง ธุรกิจโรงแรม , นวดแผน หรือ สปา จะต้องรอให้ประเทศไทยคลายล็อกดาวน์ให้ต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยได้ไปก่อน ซึ่งพบว่าหลังจีนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ก็ต้องการเดินทางท่องเที่ยว และกระแสข่าวที่ออกมาว่านักท่องเที่ยวจีนต้องการเดินทางเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยเป็นประเทศแรก

ทั้งนี้จากการสำรวจความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวของชาวจีนปี 2563 ซึ่งดำเนินการในช่วงกลางเดือนเม.ย. 2563 โดย ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ (C9 Hotelworks) และเดลิเวอร์ริ่ง เอเชีย คอมมิวนิเคชั่นส์ มุ่งเน้นที่ปัจจัยความต้องการที่สำคัญในการฟื้นตัวเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศจีน ซึ่งพบผลเชิงบวกที่แข็งแกร่งจากการสำรวจ ผู้บริโภคชาวจีนต้องการมาเที่ยวประเทศไทยถึง 71% ซึ่งเป็น 'อันดับ 1' ที่คนจีนอยากเดินทางมาเที่ยวหลังโควิด-19

หากย้อนกลับไปดู 1-2 ปีที่ผ่านมา กำลังซื้อทั่วโลกเริ่มชะลอตัว ยิ่งเฉพาะคนจีนที่เป็น 'ผู้ซื้อหลัก' ของหลากหลายอุตสาหกรรมในไทย ซึ่งโดนผลกระทบจาก 'สงครามการค้า' (Trade War) ปะทะกันระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจจีนกับสหรัฐ ทำให้กำลังซื้อคนจีนหดหาย ประกอบกับ ประเทศไทยยังถูกซ้ำเติมด้วย 'เงินบาทแข็งค่า' เป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน แต่ที่ร้ายแรงและหนักสุดคือ การแพร่ระบาดของ 'โควิด-19' !

สารพัดปัจจัยลบกระทบต่อผลการดำเนินงานเติบโตน้อยลง สะท้อนผ่านตัวเลข 'กำไรสุทธิ' 3 ปีย้อนหลัง (2560-2562) ลดลงจนพลิกขาดทุนสุทธิของหุ้น TKN หุ้น DDD และ หุ้น BEAUTY โดย 'หุ้น TKN' กำไรสุทธิ 608.44 ล้านบาท 459.18 ล้านบาท และ 366.24 ล้านบาท 'หุ้น DDD' อยู่ที่ 351.06 ล้านบาท 181.41 ล้านบาท และ -53.79 ล้านบาท 'หุ้น BEAUTY' อยู่ที่ 1,229.32 ล้านบาท 991.59 ล้านบาท และ 232.58 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ 'ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap' ของ หุ้น TKN อยู่ที่ 28,842.00 ล้านบาท 11,109.00 ล้านบาท และ 14,490.00 ล้านบาท ล่าสุด 9,729.00 ล้านบาท (29 เม.ย.) หุ้น DDD อยู่ที่ 27,966.00 ล้านบาท 5,976.29 ล้านบาท และ 7,661.09 ล้านบาท ล่าสุด 4,609.37 ล้านบาท (29 เม.ย.) หุ้น BEAUTY อยู่ที่ 62,456.88 ล้านบาท 19,690.71 ล้านบาท และ 5,051.54 ล้านบาท ล่าสุด 5,412.36 ล้านบาท (29 เม.ย.) ตามลำดับ

158842650522

ตารางผลประกอบการ

'คู่สูรย์ รัตนะพร' ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการเงิน บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ส่งผลให้ 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) ของบริษัทในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. ที่ผ่านมา 'ลดลงมาก' เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จีนล็อกดาวน์เมืองของจีน รวมทั้งติดปัญหาเรื่องการขนส่งในประเทศจีนที่ขนส่งเฉพาะสินค้าที่จำเป็นก่อน

'การขายในจีนหยุดชะงักหลังทีมงานต้องหยุดทำงานในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่สามารถออกมาสำรวจการตลาดได้ รวมถึงภาครัฐบาลจีนสั่งห้ามรถขนส่งนอกเหนือจากยาและอาหาร'

ทว่า หลังจากจีนเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์แล้ว และให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ทำให้ยอดขายเดือนเม.ย. เริ่มกลับมาแล้ว แต่ยังไม่เหมือนเดิม เนื่องจากระบบขนส่งสินค้าของจีนกลับมาแค่ 80% เท่านั้น

'ปัจจุบันยอดขายในจีนถือว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้น จากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ก.พ.-มี.ค.) แม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่กลับมาเท่ากับค่าเฉลี่ยที่เราเคยทำได้ปกติ'

ขณะที่ สถานการณ์ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ยอดขายในประเทศที่มาจาก 'นักท่องเที่ยวจีน' คิดเป็น 10-15% ของยอดขายในประทศ ในส่วนนี้ยอดขายหายไปทั้งหมด ส่วนยอดขายคนไทย 'ลดลง' เนื่องจากคนอยู่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าเดือนมิ.ย. จบบริษัทจะเริ่มทำการตลาดและออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ รวมทั้งปัจจุบันหันมาเน้นทำการตลาดในออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อรับกับ 'พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป' (New Normal)

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ โดยย้ายโรงงานผลิตจากนพวงศ์มาอยู่ที่โรจนะแทน จะทำให้กำลังการผลิต (Capacity) จากเดิมทำได้ 8,250 ตันต่อปี เหลือ 6,000-7,000 ตันต่อปี ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำค่าไฟลง ส่วนที่โรงงานผลิตที่นพวงศ์จะเปลี่ยนเป็นที่ R&D , โกดังสินค้า คาดสรุปได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563

158842734389

คู่สูรย์ รัตนะพร

'ชนกนันท์ เทียมรัตน์' นักลงทุนสัมพันธ์ บมจ. ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสเนลไวท์ เล่าให้ฟังว่า แม้ว่าตอนนี้ประเทศจีนจะกลับมาเปิดประเทศแล้ว แต่ประเทศไทยยังห้ามอากาศยานต่างชาติเข้าไปประเทศอยู่ ทำให้ 'ส่งออก' ยังทำได้ลำบาก ประกอบกับสินค้าของบริษัทไม่ได้เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้ปัจจุบัน 'ยอดขาย' ของบริษัทที่ส่งออกไปประเทศจีนยังไม่มีเข้ามา

แต่มองว่าหากประเทศไทยเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศได้เช่นเดิม บริษัทจะส่งออกสินค้าไปยังจีนได้เหมือนเดิม เพราะว่ามี 'ตัวแทนจำหน่าย' อยู่ที่จีนอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่ายอดขายจะเริ่มทยอยกลับมา แต่คงอาจจะ 'ไม่หวือหวา' เหมือนสินค้าที่เกี่ยวกับอุปโภคอย่าง อาหาร ซึ่งปี 2562 บริษัทมียอดขายประเทศจีนคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อบริษัทมาก ดังนั้น ทิศทางธุรกิจจะปรับกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการหันมาตลาด 'คนรักสุขภาพ' มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเวลามีวิกฤติอะไรเกิดขึ้นจะได้รับผลกระทบไม่มากเหมือนธุรกิจหลักของบริษัท รวมทั้งลดการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศและหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น

'นันทิกา เวียงเพิ่ม' นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอสวิคเคอร์ส บอกว่า คาดว่ากำไรไตรมาส 2 ปี 2563 ของ บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 เนื่องจาก 'ยอดขาย' จากประเทศจีนกระเตื้องขึ้นมามากนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา

'ไตรมาส 1 ปี 2563 คาดว่ากำไรหลักจะอยู่ที่ 63 ล้านบาท ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 54% เทียบกับไตรมาสก่อน เพราะว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในส่วนธุรกิจในและต่างประเทศ'

อย่างไรก็ตาม มีการปรับลดประมาณการกำไรหลักปีนี้ลง 17% สะท้อนสมมุติฐานที่ระมัดระวังมากขึ้นทั้งยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับลง ยังผลให้กำไรหลักปีนี้ต่ำลง 12% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้บริษัทได้คาดว่าปีนี้รายได้จะอยู่ในเกณฑ์เพียงทรงตัวเพราะตลาดจีนไม่ดีนัก แต่คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกลับมาดีขึ้น ณ ปลายไตรมาส 2 ปี 2563 โดยบริษัทพยายามที่จะลดต้นทุน และขยายอัตรากำไร ทำให้กำไรปีนี้ยังเพิ่มได้เล็กน้อยก็ตาม

ทั้งนี้ ประเด็นบวกคือ 'ไตรมาสแรก' อาจเป็น 'จุดต่ำสุด' แล้ว จากข้อมูลของหลายๆฝ่าย พบว่า ยอดส่งออกไปยังจีนเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติแล้ว เม.ย.-พ.ค.นี้ อยู่ที่ 200 ตู้ต่อเดือน ซึ่งทางผู้บริหารระบุว่า ไตรมาส 1 ปี 2563 อาจไม่ได้แย่อย่างที่คาดการณ์ไว้ โดยผู้บริหารคาดรายได้จะลดลงเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาสก่อน เพราะ Gross profit margin(GPM) และ EBIT Margin เพิ่มขึ้น

'กำไรจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นต้นไป เพราะตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. 2563 ตลาดจีนเริ่มมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) กลับมาอยู่ในระดับปกติ โดยในเดือน เม.ย. คำสั่งซื้อจาก Orion เริ่มฟื้น ผู้บริหารคาดว่า เม.ย.-พ.ค. อยู่ที่ 200 ตู้ต่อเดือน ใกล้เคียงกับเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และฟื้นจากเดือนก.พ.ที่ 40-60 ตู้ต่อเดือน'

สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้จะได้ประโยชน์จากการย้ายโรงงานไปนิคมอุตสาหกรรมโรจนะภายในไตรมาส 3 ปี 2563 ทำให้อัตรากำลังผลิตเพิ่มขึ้น , ต้นทุนสาหร่ายลดลงจากการใช้สต็อกสาหร่ายจากปี 2562 ที่ราคาลดลง , และ SG&A ที่ลดลงจากการเน้นทำตลาดออนไลน์ และลดการใช้พรีเซ็นเตอร์

ดังนั้น ยังคงคำแนะนำ 'ถือ' หุ้น TKN แต่ได้ปรับราคาพื้นฐานใหม่ลดลงเป็น 6.80 บาท สะท้อนการปรับประมาณการลดลง และประเมินด้วย P/E ปี 2563 ที่ระดับ 27 เท่า ซึ่งเป็น -1 SD ของ P/E เฉลี่ย 4 ปีย้อนหลัง

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี ระบุว่า ยังมีมุมมองเป็นลบกับ TKN อยู่ จึงต้องปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563- 2564 ลดลง -17% และ -6% มาอยู่ที่ 382 ล้านบาท (+4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ) และ 546 ล้านบาท (+43% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ตามลำดับ เพื่อสะท้อนเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลต่อการบริโภคอีกทั้งรายได้จีน , รายได้สหรัฐ และรายได้ในประเทศที่ชะลอตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าคาด โดยปรับรายได้และ GPM ลง

ทั้งนี้ พร้อมปรับราคาเหมาะสมลงมาเป็น 9.70 บาท (จากเดิม 10.40 บาท) เทียบเท่า PER ปี 2563 ที่ 35 เท่า

158842711117

+++++++++++++++++++

จีนฟื้นโอกาสธุรกิจไทย !

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า บรรยากาศตลาดโลกระยะข้างหน้าที่การแพร่กระจายของโควิด-19 คงทยอยฉุดเศรษฐกิจและกำลังซื้อในแต่ละประเทศที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปถึง ขณะที่ประเทศจีนแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด แต่ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก่อน พร้อมทั้งมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาจนประสบผลสำเร็จแล้ว ในจังหวะเวลานี้จีนจึงเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยกู้วิกฤติโควิด-19 โลก

โดยน่าจะได้เห็นการเร่งผลิตและส่งออกของจีนไปตลาดโลกในกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ถุงมือทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย หลอดหรือท่อสายยางทางการแพทย์ อุปกรณ์แพทย์สนาม เตียงที่ใช้ในโรงพยาบาล เต็นท์พยาบาลชั่วคราว และชุดป้องกันไวรัส

ดังนั้น จีนจึงนับเป็นตลาดแห่งความหวังของไทยในเวลานี้ โดยสินค้า 'ดาวเด่น' ที่จะกลับมาช่วยกู้วิกฤติส่งออกของไทย จากการฟื้นตัวของ 'กำลังซื้อในจีน' เป็นหลักอยู่ในกลุ่มสินค้าอาหาร , สินค้าที่จำเป็นที่ใช้สำหรับเฝ้าระวังโควิด-19 ได้แก่ อาหาร , ผลไม้ไทย , อุปกรณ์การแพทย์ , ถุงมือทางการแพทย์ รวมทั้งผลบวกทางอ้อมอยู่ในกลุ่มสินค้าขั้นกลางของไทยที่ช่วยสนับสนุนการผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในจีน โดยเฉพาะยางพารา เส้นใยสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

แม้จีนจะเป็นตลาดแห่งความหวังหนึ่งเดียวของไทยในเวลานี้ และมีสัญญาณบวกว่าสินค้าสำคัญบางรายการของไทยสามารถฟื้นกลับมาได้หลังจากนี้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่ดึงให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนตลอดปีกลับมาเร่งตัวได้ เนื่องจากบรรยากาศภายในประเทศที่ยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดรอบ 2 บวกกับตลาดโลกที่อ่อนแรง ล้วนส่งผลให้กำลังซื้อในจีนคงไม่กระเตื้องขึ้นมากนักตลอดช่วงที่เหลือของปี 2563

อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกของไทยไปจีนปี 2563 ไม่น่าจะต่างไปจากที่คาดการณ์เดิมว่าจะ 'หดตัว' ราว 6-9% โดยหดตัวต่อเนื่องจาก 3.9% ในปี 2562 อีกทั้งการฟื้นตัวของกำลังซื้อในจีนหลังจากนี้คงยังไม่สามารถผลักดันให้การส่งออกของไทยไปตลาดโลกในภาพรวมกระเตื้องขึ้น จากที่คาดการณ์ไว้ว่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกจะหดที่ 5.6% ซึ่งความหวังเดียวที่จะช่วยพลิกฟื้นการส่งออกของไทยนั้น คงต้องรอให้ทั่วโลกปลอดจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้เสียก่อน