ทางเลือก 'การบินไทย' ท่ามกลางสายการบินโลกล้มละลาย

ทางเลือก 'การบินไทย' ท่ามกลางสายการบินโลกล้มละลาย

คำว่า "ล้มละลาย" ทางธุรกิจน่าจะมีให้เห็นมากขึ้นจากนี้ เพราะมาตรการเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การประกอบธุรกิจหยุดชะงัก ไม่มีรายได้เข้ามาท่ามกลางรายจ่ายและดอกเบี้ยเงินกู้ยังเดินหน้าต่อเนื่อง

จนทำให้บางธุรกิจมาถึงทางตัน อย่างสายการบิน ด้วยหนี้สินมากเสียจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเพื่อหาวิธีการที่ทำให้บุคคลดังกล่าวหลุดพ้นจากหนี้นั้นคือการเข้าขอยื่นล้มละลาย เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หรือบางสายการบินก็ล้มหายตายจากไปเลยก็มี

ขณะที่ บริษัท บินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เผชิญภาวะขาดทุนมานานถึง 8 ปี อยู่ในแผนการฟื้นฟูกิจการมาถึงเกือบ 5 ปี แต่ยังไม่สามารถผ่าตัดองค์กรแห่งนี้ให้สำเร็จได้จริง จนไวรัสโควิด-19ทำให้ต้องหยุดให้บริการตั้งแต่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมาและยังไม่มีสัญญาณว่าจะกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบได้เมื่อไร

ด้วยฐานะทางการเงินบวกกับภาวะในอุตสาหกรรมการบินอาจจะเรียกได้ว่า 'การบินไทย' ได้เข้าสู่ภาวะล้มละลายทางเทคนิคไปเรียบร้อยแล้ว แต่ที่ยังดำรงสถานะไม่ต้องเข้ายื่นขอล้มละลายเพียงแค่ปัจจัยเดียว คือ การเป็นสายการบินแห่งชาติในรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นมากกว่า 50 % เท่านั้น

ปัจจุบันสิ้นปี 2562 ด้วยรายได้ 1.88 แสนล้านบาท ขาดทุน 12,042 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 19,383 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 2.44 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องชำระภายใน 1 ปี จำนวน 21,730 ล้านบาท

หากแต่บริษัทมีกระแสเงินสดในมือแค่ 21,663 ล้านบาท ส่งผลทำให้เมื่อไม่มีรายได้เข้ามาจึงประสบปัญหาสภาพคล่องจนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ถือใหญ่ด้วยการค้ำประกันเงินกู้ล็อตแรก 50,000 ล้านบาท

เมื่อประเมินจากเม็ดเงินกู้ดังกล่าวอาจจะหล่อเลี้ยงบริษัทให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 3-4 เดือน เนื่องจากการบินไทยมีรายได้จ่ายคงทีประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่มีหนี้ที่ต้องชำระ 240,000 ล้านบาท

ยังไม่นับรวมกับแผนการจะซื้อฝูงบินเพิ่มเติมก่อนหน้านี้แล้วต้องพับแผนออกไปเพราะไม่มีรายละเอียดรายได้ที่ชัดเจน จึงทำให้การอุดรูรั่วครั้งนี้มีความสุ่มเสี่ยงหากเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ (กระทรวงการคลัง)ไม่ดำเนินการผ่าตัด เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อนับหนึ่งใหม่ (SetZero)

158926871970

กรณีการบินไทย ประสบปัญหาขาดทุน ขาดสภาพคล่อง เป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมการบินกำลังเผชิญไม่แตกต่างกัน แต่อยู่ที่การแก้ไขปัญหาที่จะยอมอุ้มจนนำไปสู่การล้มละลายเต็มรูปแบบหรือยอมเปลี่ยนแปลงวันนี้เพื่อให้ฟื้นได้ในวันหน้า

โดยสายการบินที่ยอมประกาศยื่นล้มลายจากวิกฤติไวรัสแล้วมีถึง 2 สายการบิน ประกอบไปด้วย สายการบินอาเวียงกา (Avianca Airlines) ซึ่งเก่าแก่เป็นอันดับสองของโลกและใหญ่เป็นอันดับสองในลาตินอเมริกายื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะล้มละลาย เพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเส้นตาย และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเรื่องผลกระทบจากโควิด-19 มีมูลค่าหนี้มากกว่า 2.3แสนล้านบาท

ก่อนหน้านี้คือ สายการบินเวอร์จิ้น ออสเตรเลีย(Virgin Australia) ซึ่งถือเป็นสายการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศออสเตรเลีย เข้าสู่กระบวนการขอล้มละลาย หลังจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลทำให้สถานการณ์การเงินย่ำแย่ มีปัญหาหนี้สินจำนวนมากมายาวนานนับ 5,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 3.17 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 101,000 ล้านบาท)

และย้อนไปในปี 2554 ข่าวที่สร้างความตื่นตกใจคือการยื่นขอล้มลายของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ (American Airline) สายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีทรัพย์สินขณะยื่นขอล้มละลายอยู่ที่ 24,720 ล้านดอลลาร์ หนี้สินในความรับผิดชอบ 29,550 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 9.4 แสนล้านบาท และมีเงินสด 4,100 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.31 แสนล้านบาท

รวมทั้งสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) ในปี 2553 จากรัฐวิสาหกิจที่มีพนักงานมากถึง5 หมื่นคน มีหนี้สินล้นพ้นตัวมากถึง 7 แสนล้านบาทตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยื่นล้มละลายเพื่อปรับวิธีบริหารและบริการ ลดพนักงานครั้งมโหฬาร เพื่อให่องค์คลีนมากที่สุด จนสามารถกลับมามีกำไรกลับเข้าตลาดหุ้นได้อีกครั้งในปี 2560

บทเรียนต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต แม้จะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วก็ตาม ซึ่งการบินไทย จะทำตามบทเรียนดังกล่าวเชื่อว่านาทีนี้ คนนอกองค์กรล้วนสนับสนุนแทนที่จะให้กลายเป็นสายการบินในตำนานในท้ายที่สุด