ครม.ไฟเขียวกรมโรงงาน จับมือ องค์กร UNIDO ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก1.3 ล้านตันใน 5 ปี
ครม. เห็นชอบกรมโรงงานฯร่วมยูนิโดลดก๊าซเรือนกระจก 1.3 ล้านตัน เลิกใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน620 ตัน ใน 5 ปี
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (12 พ.ค.) มีมติเห็นชอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ดำเนินโครงการการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนและการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเลิกใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน
วัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ( GHG) รวมถึงการปล่อยสารมลพิษ ที่ตกค้างยาวนาน ( POPs) และสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง ด้วยการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน และการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยการใช้ผลิตผลหรือผลพลอยได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมหนึ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอื่นหรือชุมชนใกล้เคียง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกสิ่งแวดล้อมโลก ในรูปแบบเงินสด (In cash) จำนวน 8.966 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 273 ล้านบาท และจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 120 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,840 ล้านบาท
“โครงการ ฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปี 2563-2567) เป้าหมายจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และลดสารพิษที่ตกค้างยาวนาน จำนวน 620 ตัน ”
องค์ประกอบหลักของการดำเนินโครงการ เช่น นโยบายและกฎหมาย การเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ กิจกรรมสาธิตการประยุกต์ใช้แนวทางการผลิตที่สะอาด การบริหารจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานชนิดใหม่ การพัฒนากรอบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศ และระบบสนับสนุน และการติดตามและประเมินผล