'เรดาร์' ส่องอนาคต องค์กร 'รอด' หลังวิกฤติ
แม้วิกฤติโควิด-19 ยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่กลับพบว่าผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ในเวลานี้มอง “ข้ามชอต” ไปถึงอนาคตแล้ว ว่าจะรับมืออย่างไรกับความท้าทายที่อาจทวีคูณกว่านี้อีกหลายเท่า
อนาคตเป็นเรื่องทีคาดเดาได้ยาก เห็นชัดว่าไม่ใครสักคนที่รู้ล่วงหน้าถึงการเกิดขึ้นของโควิด-19 อย่างไรก็ดี มนุษย์เราจำเป็นต้องหาทางมองอนาคตให้แม่นยำยิ่งขึ้น เป็นที่มาของความร่วมมือของ “สลิงชอท กรุ๊ป” กับสถาบัน “The Futures Platform” แห่งประเทศฟินแลนด์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์ (Futurists)
“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง สลิงชอท กรุ๊ป อธิบายว่า อาจมีหลายสำนักที่ทำการวิจัยเพื่อคาดการณ์อนาคต แต่ความแตกต่างของThe Futures Platform อยู่ที่การชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นพร้อม กับการอัพเดทเทรนด์ต่าง ๆตลอดเวลาแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ผลลัพธ์ทุกอย่างยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักอนาคตศาสตร์ กับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไออีกด้วย
“จะมีเครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนเรดาร์ ที่คอยตรวจจับเวลาเครื่องบินกำลังบินเข้าสนามบิน แต่เป็นเรดาร์ที่คอยจับเหตุการณ์ ปรากฏการณ์หรือเทรนด์ต่างๆที่กำลังวิ่งเข้ามาหาเรา ทั้งเป็นวันสต็อปที่ให้องค์กรได้ใช้ติดตามเหตุการณ์หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแต่ละปรากฏการณ์โดยไม่ต้องไปค้นหาที่อื่น และ Customizable ให้สามารถดีไซน์เรดาร์ของแต่ละองค์กรได้เอง เพราะแต่ละปรากฏการณ์อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมเหมือน ๆกัน ถือเป็นเครื่องมือที่เข้าใจง่ายและชวนให้อยากติดตามต่อ”
ซึ่งผลการสํารวจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ภายหลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไปในระดับโกลบอลของสถาบัน The Futures Platform พบว่ามีอยู่ 60 ปรากฏการณ์ที่กำลังเคลื่อนเข้าจอเรดาร์ (ผู้สนใจคลิก Futures Platform.com หรือติดต่อสลิงชอท กรุ๊ป)
และล่าสุดสถาบันฯกับ สลิงชอท กรุ๊ป ก็ได้ทําการสํารวจออนไลน์กับ CEO และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในประเทศไทยกว่า 300 คน เพื่อดูว่าจาก 60 ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีปรากฏการณ์ใดที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ผลการโหวตก็คือ Top 10 ของสิ่งปกติใหม่ (New Normal)ที่ผู้บริหารมองว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตินี้ ได้แก่
1. Teaching & Learning 2.0 รูปแบบการสอนและการเรียนรู้จะเปลี่ยนไป การสอนที่เน้นความจําและการหาคําตอบที่ถูกต้อง จะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีจะมีมาก
ขึ้น การเรียนรู้จากเพื่อน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นของจริง จะเข้ามาแทนที่
2. Online Stores การซื้อขายออนไลน์ จะเติบโตแบบก้าวกระโดด นับแต่นี้เป็นต้นไป
3. Telepresence การเจอกันแบบไม่เจอตัว จะมีมากขึ้น ไม่ว่าเรื่องงาน เช่น การประชุมออนไลน์ การพบปะพูดคุยกันออนไลน์ หรือเรื่องส่วนตัว เช่น การหาหมอผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
4. Need for the Culture of Preparation ความตื่นตัวในเรื่องของการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤติ เช่นการทํา BCP (Business Continuity Plan) จะเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม และกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่สําหรับการทํางานในอนาคต
5. Collapse of World Economy หลังวิกฤติครั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกจะเกิดการถดถอยอย่างรุนแรงและอาจนําไปสู่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจของบางประเทศด้วย
6. Industrial Revolution 4.0 เทคโนโลยีอย่างเช่น หุ่นยนต์(Robotics) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเตอร์เน็ตสําหรับทุกอย่าง (Internet of Things) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นต้นจะถูกนํามาใช้ในกระบวนการผลิตและในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อไปสู่ดิจิทัลในยุค4.0อย่างแท้จริง
7. Platform Economy ธุรกิจที่ทําหน้าที่เป็นตัวกลางหรือที่เรียกทับศัพท์ว่าแพลตฟอร์ม (Platform) อย่างเช่น Facebook, WhatsApp, LinkedIn, Airbnb,Alibaba, Amazon, eBay เป็นต้น จะเติบโตแบบก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกหลายเท่า
8. Nature and Food as Remedies คนจะสนใจและใส่ใจดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ (Wellness) ยิ่งขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแทนการกินยา และหันไปใช้วิธีธรรมชาติบําบัดกันอย่างแพร่หลาย
9. Retail in Brick & Mortar Stores -การค้าขายและให้บริการหน้าร้ าน (Offline) ยังคงมีอยู่ เพราะยังมีลูกค้าอีกจํานวนหนึ่งที่ต้องการซื้อของ ณ สถานที่ขาย เนื่องจากอยากได้บรรยากาศและประสบการณ์จากการจับจ่ายใช้สอยและการใช้บริการ มากกว่าแค่อยากได้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ ช่องทางหน้าร้านยังจะทําหน้าที่เป็นเสมือนโชว์รูมแสดงสินค้าของการค้าออนไลน์อีกด้วย เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์จะมีน้อยลงมาก แนวโน้มในอนาคตข้างหน้าจะเป็นแบบผสมผสานกัน ( Omni-Channel)
10. Geopolitical Impacts ภูมิศาสตร์การเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป อิทธิพลของจีนมีมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะอ่อนแอลง โลกจะเกิดการรวมตัวแบบกลุ่มเล็ก ๆ หลาย ๆ กลุ่ม (Blocs) ตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และสภาพการเมือง มากกว่าจะแบ่งเป็นขั้วอํานาจแบบตะวันออกและตะวันตก เหมือนอย่างเดิม
"ถามว่าในเวลานี้จะฝ่าวิกฤติหรือเซฟประเทศได้อย่างไร ผมมองว่าต้องเริ่มจากตัวเราเอง ดูว่าปรากฏการณ์ไหนที่จะส่งผลกับตัวเรามากที่สุด ประเทศจะรอดได้เริ่มจากเราแต่ละคนต้องรอดได้ก่อน เหมือนตอนขึ้นเครื่องบินแอร์หรือสจ๊วตก็แนะนำให้เราใส่เครื่องช่วยหายใจตัวเราก่อน เมื่อรู้ว่าอะไรเกิดเราก็ต้องปรับตัวเอง เตรียมตัวให้พร้อม ถ้าตัวเราเข้มแข็งได้ก็จะช่วยเหลือประเทศชาติได้"