การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ หลังรัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
พร้อมงัดยาแรงประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากบ้านในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. รวมทั้งสั่งล็อกดาวน์หลายธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค
ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศไทยลดลงต่อเนื่อง เหลือตัวเลขหลักเดียวมาหลายวันติดต่อกัน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จึงตัดสินใจผ่อนเข็มขัด คลายล็อกดาวน์ระยะแรกไปแล้ว 6 กิจการ เช่น ตลาดสด, ร้านอาหารขนาดเล็ก, ร้านตัดผม, สวนสาธารณะ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.
และ วันนี้ (15 พ.ค.) ที่ประชุมใหญ่ศูนย์โควิดเตรียมพิจารณา “ปลดล็อกดาวน์เฟส 2” ซึ่งคาดว่า 1 ในกิจการที่จะได้รับไฟเขียว คือ ห้างสรรพสินค้า หลังถูกปิดมานานกว่า 1 เดือน แน่นอนว่าในมุมเศรษฐกิจย่อมเป็นข่าวดีที่กิจการขนาดใหญ่จะกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันรูปแบบการให้บริการจะเปลี่ยนไปตามยุคความปกติใหม่ หรือ New Normal
โดยจะให้ความสำคัญกับสุขอนามัยมากขึ้น มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าศูนย์การค้า บังคับให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ แต่ละร้านค้าต้องมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ให้ลูกค้า จำกัดเวลาและจำนวนผู้ใช้บริการเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing
ไล่ดูหุ้นศูนย์การค้าในบ้านเรามีอยู่หลายห้างที่กำลังรอข่าวดี นำโดยพี่ใหญ่กลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ มี 2 หุ้น บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ดูในส่วนของธุรกิจค้าปลีก และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN บริหารพื้นที่เช่า
นอกจากนี้ มีห้างสรรพสินค้าเอ็มบีเค, พาราไดซ์ พาร์ค, พาราไดซ์ เพลส, เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK ด้านบริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PLAT มีศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์, เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก, เดอะ นีออน ไนท์ บาซาร์
บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF เจ้าของเมกาบางนา, เอสพละนาด, ลา วิลล่า ฯลฯ ส่วนกลุ่ม "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีสิริ" ภายใต้บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC มีหลายโครงการ เช่น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกทเวย์, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ฯลฯ ส่วนห้างใหม่อย่างสามย่านมิตรทาวน์ เป็นของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD
แน่นอนว่าเมื่อห้างเปิด ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ภายในศูนย์การค้าคงจะคึกคักขึ้น สามารถกลับมานั่งรับประทานภายในร้านได้ แต่ยังต้องรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัย ซึ่งจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ในการรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่ละร้านจะรองรับผู้ใช้บริการได้น้อยลง กระทบต่อรายได้ในอนาคต
ดังนั้น แม้กลับมาเปิดให้บริการแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้จะยังกดดันผลประกอบการต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่หลายบริษัทยอดขายหดตัวหนักเซ่นพิษโควิด ไล่มาตั้งแต่ร้านสุกี้ขวัญใจคนไทย “เอ็มเค” บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M แม้จะออกโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายถี่ยิบ จนฮือฮาไปทั้งบ้านทั้งเมืองอย่าง “เป็ดย่าง 1 แถม 1” จนทำไม่ทัน แต่สุดท้ายยังไม่พอ
ประกาศกำไรสุทธิเหลือ 340 ล้านบาท ลดลง 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 709 ล้านบาท เพราะหน้าร้านที่ปิดทั้งหมด ส่งผลให้รายได้จากการขายเหลือเพียง 3,795 ล้านบาท ลดลง 557 ล้านบาท หรือ 12.8% จากช่วงปีก่อน
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นเซน, ปิ้งย่างอากะ, ตำมั่ว, ออน เดอะ เทเบิล, เขียง ฯลฯ อาการหนักยิ่งกว่า พลิกขาดทุนไป 44 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรอยู่ 32 ล้านบาท โดยรายได้รวมเหลือ 730.50 ล้านบาท ลดลง 86.80 ล้านบาท หรือ 11.9% จากงวดปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 198.20 ล้านบาท เป็น 215.70 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 8.8% สาเหตุหลักมากจากค่าคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายให้กับบรรดาผู้ประกอบการดิลิเวอรี่ค่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นถึง 7 ล้าน
ส่วนร้านขนมหวานเจ้าดัง “อาฟเตอร์ยู” บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU มีกำไรสุทธิ 13 ล้านบาท ลดลงถึง 78% จากช่วงปีก่อนอยู่ที่ 59 ล้านบาท โดยรายได้หดตัวเหลือ 219 ล้านบาท จากงวดปีก่อนที่ 287 ล้านบาท
ขณะที่ค่ายใหญ่บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL โดน 2 เด้ง ทั้งจากธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร พลิกขาดทุน 45 ล้านบาท จากงวดปีก่อนมีกำไร 825 ล้านบาท ซึ่งถ้าโฟกัสที่ร้านอาหารมีหลายแบรนด์ดัง เช่น เคเอฟซี, มิสเตอร์โดนัท, อานตี้ แอนส์, โยชิโนยะ ฯลฯ รายได้เหลือ 2,804 ล้านบาท ลดลง 82.9 ล้านบาท หรือ 2.9%
เห็นตัวเลขไตรมาสแรกว่าแย่แล้ว แต่อาจยังไม่ใช่จุดต่ำสุด เพราะยังนิ่งนอนใจไม่ได้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ 100% เมื่อไหร่ และแน่นอนว่าเมื่อ New Normal ใหม่เกิดขึ้น ถ้าใครปรับตัวไม่ทันรับรองเหนื่อย !