โควิด-19 ฉุดถุงยางขาดแคลนทั่วโลก
"พาณิชย์" เผย ผู้ผลิตถุงยางอนามัยในมาเลเซียปิดโรงงานจากล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 ระบาด ทำถุงยางอนามัยขาดแคลนทัั่วโลก 100 ล้านชิ้น บริษัทไทยเพิ่มกำลังผลิต 1.9 พันล้านชิ้น รับออร์เดอร์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การผลิตและส่งออกถุงยางอนามัยได้รับผลกระทบอย่างหนักจนเกิดภาวะขาดแคลนทั่วโลกถึง 100 ล้านชิ้น เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกในมาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่สั่งให้หยุดงาน ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกหยุดชะงัก
“ขณะนี้ ถุงยางอนามัยขาดตลาดทั่วโลกถึง 100 ล้านชิ้น เพราะผู้ผลิตในมาเลเซีย ผลิตไม่ได้ ทำให้ผู้ผลิตของไทย คือ บริษัท ไทย นิปปอน ฉวยจังหวะนี้วางแผนการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,900 ล้านชิ้นในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 27% ซึ่งคำสั่งซื้อ 90% มาจากสหรัฐ ญี่ปุ่น และจีนรวมกัน ถือเป็นโอกาสดีของผู้ส่งออกไทยที่จะขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 ระบาด ความต้องการใช้ถุงยางอนามัยในจีนเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยในปี 2564 มูลค่าตลาดถุงยางอนามัยจะอยู่ที่ 9,410 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.07% จากปี 2563
ส่วนปี 2562 จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัยจากไทย 50.7 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าน้ำยางธรรมชาติ เพื่อใช้ผลิตถุงยางอนามัยกว่า 443 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 76.50% ของการนำเข้าจากทั่วโลก ที่มีมูลค่า 580 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ.2563 จีนนำเข้าน้ำยางธรรมชาติจากทั่วโลก 63 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากไทย 55 ล้านดอลลาร์
สนใจสั่งซื้อทางออนไลน์ คลิก
ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ยังมีโอกาสสำหรับผู้ผลิต และผู้ประกอบการไทยเสมอ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามโอกาสนี้ และติดตามสถานการณ์การตลาดและการบริโภคในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีความแตกต่าง และมีความโดดเด่น รวมถึงมองหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ อย่างตลาดออนไลน์ เพื่อให้สินค้าไทย เป็นที่รับรู้ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
โดยในช่วงโควิด-19 ระบาดนี้ กรมได้รวบรวมข้อมูลข่าวสาร และมาตรการด้านการค้าของประเทศต่างๆ รวมถึงโอกาส และลู่ทางการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ เผยแพร่บนเว็บไซต์กรมที่ www.ditp.go.th ในหัวข้อ ศูนย์ข้อมูลสถานการณ์การค้าจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ซึ่งผู้ผลิต ผู้ส่งออก รวมถึงผู้สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อให้สามาถปรับตัวรองรับการสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที