'สงครามไวรัส' กับชีวิตคนอาจผ่านแล้ว แต่กับ 'เศรษฐกิจ' อาจยังไม่ผ่าน
แม้สงครามไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้แผ่วลงไปบ้างแล้ว การดำเนินชีวิตเริ่มกลับมา แม้จะเป็นเปลี่ยนสู่ New Normal แต่ในเชิงเศรษฐกิจ อาจจะยังไม่ได้ผ่านไป แล้วช่วงเวลา เพียงไม่ถึง 2 เดือน ไวรัสส่งผลกระทบขนาดไหน?
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. S&P 500 ปิดที่ระดับ 2,237 จุด หรือร่วงลงมามากกว่า -33% จากจุดสูงสุดที่ระดับ 3,386 จุด เมื่อวันที่ 19 ก.พ.และ ณ จุดนั้นเอง ก็คือ จุดต่ำสุดของตลาด และเกิดการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง จนรอบนี้ S&P 500 ขึ้นมาทำราคาปิดที่จุดสูงสุดของรอบตรงที่ 2,939 จุด เมื่อวันที่ 29 เม.ย.
เมื่อลองคำนวณดู นั่นเท่ากับว่า S&P 500 รีบาวด์ขึ้นมาถึง 700 จุด หรือ มากกว่า +30% ภายในระยะเพียงแค่เดือนเศษๆ ถือเป็นการรีบาวด์ที่แรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหมีในอดีต
และเพราะมันขึ้นมาแรงแบบนี้ มันเลยทำให้เราเริ่มลังเลกันว่า ทำไมตลาดหุ้นโลกถึงรีบาวด์ได้ ทั้งๆ ที่ครึ่งหนึ่งของประชากรสหรัฐไม่ได้ทำงาน และเกินกว่า 20% ของประชากรวัยทำงานในยุโรป ก็ไม่มีงานทำอยู่ตอนนี้ แถมผลประกอบการที่ทยอยประกาศกันออกมาในไตรมาส 1Q2020 ก็สวนทางที่นักวิเคราะห์คาดไว้ไม่น้อย รวมถึงถูกปรับลดประมาณการอย่างต่อเนื่อง
และอีกเรื่องที่เราเห็น ก็คือ ดอกเบี้ยนโยบายลงไปสู่จุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ และขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการคลังและแบงก์ชาติก็มากมายมหาศาล
หรือเรากำลังเข้าสู่ New Normal ของตลาดหุ้น คือ ไม่ต้องสนใจอะไร ตราบใดที่เจ้ามือ (ธนาคารกลางและรัฐบาล) เข้ามาอุดรูรั่วและแก้ปัญหาสภาพคล่องได้?
ไปดูกันครับ ว่า เจ้าเชื้อไวรัส Covid-19 นั่นสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจไปแล้วขนาดไหนในเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน
วันที่ 1 เม.ย. Dean & Deluca ร้านขายของชำระดับพรีเมียมอายุ 40 กว่าปี ของสหรัฐ ซึ่งมีเจ้าของเป็นบริษัทในไทยคือ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ได้ยื่นเรื่องขอล้มละลายภายใต้ Chapter 11 ต่อศาลล้มละลายสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของนิวยอร์ก (แมนฮัตตัน) หลังประสบปัญหายอดขายตกในช่วง Lockdown เพื่อสู้กับวิกฤติ Covid-19
วันที่ 20 เม.ย. Hin Leong Trading ยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจซื้อขายน้ำมันระดับตำนานของสิงคโปร์ ได้ยื่นฟ้องขอป้องกันการล้มละลาย โดยผู้บริหารสารภาพว่าบริษัทได้ปิดบังข้อมูลผลขาดทุนถึง 800 ล้านดอลลาร์ในการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า (Oil Futures)
วันที่ 23 เม.ย. สายการบินใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลียอย่าง Virgin Australia กลายเป็นสายการบินแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เข้าสู่กระบวนการ “ล้มละลาย” และทำให้พนักงานกว่าหมื่นคนเสี่ยงตกงานกะทันหัน
วันที่ 27 เม.ย. Diamond Offshore บริษัทขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐที่มีประวัติยาวนานเกือบ 60 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของแท่นขุดเจาะที่สามารถเจาะในน้ำได้ลึกกว่า 2 ไมล์ แต่น้ำมันนอกชายฝั่งเป็นหนึ่งในการผลิตที่มีต้นทุนแพงที่สุด ทำให้บริษัทเสียเปรียบเมื่อราคาลดลงเหลือน้อยกว่า 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้ยื่นขอคุ้มครองทรัพย์สินในฐานะผู้ล้มละลาย
วันที่ 4 พ.ค. J. Crew บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าชื่อดังของสหรัฐได้ยื่นขอล้มละลายต่อศาลในรัฐเวอร์จิเนีย และได้บรรลุข้อตกลงกับผู้ให้กู้ยืมเงิน เพื่อแปรสภาพหนี้กว่า 1,650 ล้านดอลลาร์ หรือราว 52,800 ล้านบาท ให้กลายเป็นสินทรัพย์สุทธิ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เหล่าบรรดาเจ้าหนี้จะกลายมาเป็นเจ้าของ J. Crew แทนเจ้าของเดิม
วันที่ 5 พ.ค. มีข่าว บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ยื่นคำร้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านวิธีการฟื้นฟูกิจการในศาล โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2563
วันที่ 8 พ.ค. Neiman Marcus เชนห้างสรรพสินค้าหรู กลายเป็นค้าปลีกรายที่สองของสหรัฐที่ต้องตัดสินใจยื่นล้มละลายภายใต้ Chapter 11 หลังมีปัญหาเรื้อรัง ต้องแบกหนี้สินระยะยาวมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.29 แสนล้านบาท และจ่ายดอกเบี้ย 300 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเกือบ 1 หมื่นล้านบาท จนสร้างความยากลำบากในการทำกำไร
วันที่ 11 พ.ค. “เอเวียงกา” สายการบินเก่าแก่ของโคลอมเบีย ยื่นขอความคุ้มครอง “ล้มละลาย” ทั้งนี้ เอเวียงกา มีฝูงบินกว่า 173 ลำ เผชิญปัญหาทางการเงินมาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยเมื่อปีที่แล้วมีหนี้อยู่มากถึง 7,300 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 230,000 ล้านบาท
ในวันเดียวกัน Chesapeake Energy Corp ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน shale oil ของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ทางบริษัทกำลังพิจารณายื่นเรื่องต่อศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
วันที่ 16 พ.ค. J.C. Penney ค้าปลีกของสหรัฐเก่าแก่อายุ 118 ปี ประกาศล้มละลาย หลังจากบริษัทได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และปัญหาที่มีมาอยู่ก่อน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะพยายามฟื้นฟูกิจการของบริษัทให้กลับมามีกำไร แต่ด้วยผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่หมด
ล่าสุดขณะที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่นี้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ คนร.จะเสนอมติการประชุมครั้งนี้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 19 พ.ค. แล้วเราก็จะทราบผลกัน
ในฐานะของนักลงทุน เราคงต้องมาประเมินสถานการณ์กันว่า นี่คือจุดที่แย่ที่สุดของวิกฤตครั้งนี้แล้ว หรือมันกำลังจะมีมาอีกเรื่อยๆ ให้เราได้เห็น