กฟผ.รอเคาะ 'เอสพีพี' เลื่อนจ่ายไฟ
กฟผ.ส่งแผนเจรจาโรงไฟฟ้ารายเล็กเลื่อนจ่ายไฟเข้าระบบช่วงปี63-64 ให้ กกพ. แล้ว รับมือโควิด-19 ฉุดดีมานด์การใช้ไฟ เผยรอรัฐกำหนดนโยบายต่อ
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแนวทางเจรจาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ SPP (กำลังผลิต 10-90 เมกะวัตต์) ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ตามแนวทางของภาครัฐ เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในปี 2563 จากผล
กระทบของโรคโควิด-19 นั้น ทาง กฟผ.ได้ส่งแผนแนวทางปฏิบัติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณาแล้ว และกกพ.จะไปหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน ต่อไป
เบื้องต้นเสนอแนวทาง 2 เรื่องหลัก คือ การเจราขอให้โรงไฟฟ้า SPP ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ในช่วงปี 2563-2564 เลื่อนกำหนด COD ออกไป 1-2 ปี ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการเจรจาขอให้เลื่อนกำหนด COD ออกไปนั้น ผู้ผลิตไฟฟ้า SPP จะมีผลกระทบอย่างไร และมีข้อแลกเปลี่ยนให้รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ หรือ ชดเชยผลกระทบอย่างไร
“ตอนนี้ กฟผ.ก็เจรจากับ SPP ไปแล้วหลายราย มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกัน หลักเป็นร้อยเมกะวัตต์ แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะเลื่อน COD โรงไหน ออกไปอย่างไร เพราะต้องรอให้รัฐเคาะแนวนโยบายออกมาก่อน กฟผ.ถึงจะรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ”
อย่างไรก็ตาม จากการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้า SPP เบื้องต้นพบว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ยังมีข้อกังวลเนื่องของผลกระทบหากจะต้องเลื่อนกำหนด COD โรงไฟฟ้าออก เช่น ผลกระทบด้านการเงิน ภาระการชำระดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน ซึ่งรัฐจะมีแนวทางเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบได้อย่างไร เป็นต้น
สำหรับการเจรจาขอเลื่อนกำหนด COD โรงไฟฟ้า SPP นั้น เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงกว่าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) โดยปัจจุบัน โรงไฟฟ้า SPP มีต้นทุนหน้าโรงไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 2.50-3 บาทต่อหน่วย ขณะที่ โรงไฟฟ้า IPP (กำลังการผลิตขนาด 600-700 เมกะวัตต์)มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2 บาทต่อหน่วย จึงควรเลือกโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเข้าระบบก่อน