สศช.ชงนายกฯ ตั้งบอร์ดคุมเขตเศรษฐกิจ หนุนพัฒนาเชิงพื้นที่ 4 ภาค
นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ใช้เป็นเครื่องมือในการชักจูงการลงทุนของภาคเอกชน การกระจายความเจริญ และสร้างรายได้ในภูมิภาค
ล่าสุดรัฐบาลกำลังจะมีกลไกในการบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุดสำหรับบริหารนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นใหม่ทั่วประเทศในอนาคต
เอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ ให้พิจารณาเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.... เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) แทน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่ถูกยุบเลิกไป
คณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย กรรมการ 25 คน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ 13 คน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข
หัวหน้าส่วนราชการอีก 6 หน่วยงานได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
รวมถึงตัวแทนของภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิิน 3 คน
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ กพศ.จะครอบคลุมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเดิมและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ตามแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ กำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการดำเนินงาน และการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ การให้ความเห็นชอบ และประกาศกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการ
รวมทั้งอนุมัติแผนงาน โครงการ และงบประมาณในในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ตลอดจนกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานตามแผนพัฒนาตลอดจนพิจารณาสั่งการหรือให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงาน ให้ความเห็นชอบ ปรับปรุง หรือยุบเลิกแผนพัฒนา แผนงานและโครงการ หรือยกเลิกเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเสนอแนะต่อที่ประชุม ครม.เพื่อให้มีกฎระเบียบ หรือปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบที่จำเป็นต่อการจัดตั้งและดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ส่วนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในระยะต่อไปจะต้องคำนึงถึงกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหลักเชิงพื้นที่ ในระดับภาคที่มีการอนุมัติจาก ก.บ.ภ.แล้วโดยคำนึงถึงจุดเด่น ศักยภาพ ของแต่ละพื้นที่และอยู่ระหว่างการยกร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาค พ.ศ.2565-2570
“ในระยะต่อไปการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การชักจูงนักลงทุนของบีโอไอ รวมทั้งมาตรการทางภาษีของกระทรวงการคลัง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณ จะต้องดูกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหลักเชิงพื้นที่ของแต่ละภาคด้วย เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศได้สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ซึ่งต่อเนื่องจากที่มีการลงทุน”
สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศที่อยู่ในแผนการพัฒนาเพิ่มเติมทั่วประเทศประกอบไปด้วย
1.เขตเศรษฐกิจพิเศษในระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC) ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย ซึ่งจะพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Lanna) ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องงานฝีมือหัตถกรรม (craft)
2.เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตก (Central - Western Economic Corridor : CEWEC) ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี โดยพื้นที่นี้มีความโดดเด่นและหลากหลายทั้งเรื่องการเกษตร เทคโนโลยีการผลิต การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ
3.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC)ในพื้นที่จังหวัด อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา โดยพื้นที่นี้มีความโดดเด่นในเชิงพื้นที่ โลจิสติกส์ และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Economy) ซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่างที่มีการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังในหลายพื้นที่มีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบและเชื่อมโยงกับตลาดและการผลิตในจีนตอนใต้
4.เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor : SEC) ในพื้นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐบาลสนับสนับสนุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟทางคู่ ท่าเรือระนอง ถนนเรียบชายหาด (Royal Coast) รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับฐานการผลิตไบโอที่ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบหลัก
ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นโดยการใช้จุดเด่นและศักยภาพของพื้นที่ รวมถึงการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พัฒนาภายใต้กรอบสามเหลี่ยนเศรษฐกิจ และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่รัฐบาลเคยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ในปัจจุบันพบว่าศักยภาพที่แท้จริงของเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน คือ การเป็นรับและกระจายสินค้า จึงต้องพัฒนาให้ตอบสนองต่อการพัฒนาโลจิสติกส์ที่จะสนับสนุนการส่งออกและการค้าชายแดนในอนาคต