เปลี่ยนเกมผู้ซื้อเป็น ‘เจ้าของ’ ดีไซน์ธุรกิจวิถี ‘นวัตกร’

เปลี่ยนเกมผู้ซื้อเป็น ‘เจ้าของ’ ดีไซน์ธุรกิจวิถี ‘นวัตกร’

ภาคธุรกิจต้องปรับตัว ต้องดีไซน์ธุรกิจใหม่ พอดีไซน์เสร็จก็ต้องรีสกิลพนักงานเราให้รองรับกับธุรกิจใหม่ด้วย คนที่ดูแลอินโนเวชั่นต้องมาคิดเรื่องพวกนี้ ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามีบทบาทอย่างมากและสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นมากมาย

ยิ่งเวลานี้โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงัก เราจะสร้างความต่อเนื่องให้ธุรกิจได้อย่างไร จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสได้อย่างไร ไม่ใช่คิดแค่อยู่ให้รอด


“ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายถึงภารกิจของตัวเอง ซึ่งมีหน้าที่มองหาเทรนด์หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆที่กำลังเข้ามาดิสรัปธุรกิจเดิม และให้สอดรับกับทิศทางของเครือซีพีที่กำลังปรับตัวก้าวไปสู่การเป็น “เทคคัมพานี” ในเวลานี้กลุ่มทรูกำลังขยับจาก “คอนเน็คทิวิตี้” ไปสู่ “เทคโนโลยี โพรวายเดอร์” เป็นองค์กรดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ


อาจเรียกว่าเขาก็คือพ่อครัวที่คุ้กกิ้งเรื่องใหม่ๆ อาหารเมนูใหม่ๆ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะถ้าหันกลับไปมองเมื่อ 7-8 ปีก่อน ก็จะพบว่าเวลานั้นเขากำลังปั้นในเรื่องของไอโอที แต่เมื่อยุคไอโอทีเกิดขึ้นจริงก็มีการตั้งหน่วยงานที่ขับเคลื่อนไอโอทีโดยเฉพาะ หรือเขาก็เคยนำร่องทำทรูดิจิทัลพาร์ค เวลานี้ก็มีหน่วยงานทรูดิจิทัลพาร์คเพื่อลุยเต็มตัว


“วันนี้ผมทำเรื่องนี้ แต่วันหนึ่งข้างหน้าผมเองก็ต้องไปทำเรื่องใหม่ที่คาดว่าเป็นเทรนด์ที่จะเกิด ถ้ามาเจอผมอีกที ตอนนั้นผมอาจบอกว่ากำลังทำจรวดยิงขึ้นอวกาศอยู่ก็ได้”


แต่การเป็นนวัตกร ผู้บุกเบิกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาบอกว่าการคิดเรื่องใหม่ๆ หานวัตกรรมมาตอบโจทย์โลกในอนาคตความท้าทายว่าด้วยเรื่องของ “ความเร็ว” เพราะหลายๆครั้งที่มองเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ก็อย่าลืมว่าทุกคนในโลกยุคดิจิทัลก็แชร์ข้อมูลเดียวกัน ดูทีวี ดูอินเตอร์เน็ตเหมือนกัน ดูข่าวเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าสปีดไม่ทัน มัวแต่รำมวยอยู่ คนอื่นหรือคู่แข่งก็คงทำเสร็จและขายได้ก่อน


"ดังนั้นถ้าอยากทำอะไรก็ต้องทำเลย ต้องทำงานแบบสปรินท์ (Sprint) ทุก ๆสองสัปดาห์ต้องออกโปรดักส์ ถ้ามีปัญหาก็รีบแก้ ออกเป็นเวอร์ชั่นสอง ถ้าสังเกตุโปรดัส์ของต่างประเทศมักจะมีเวอร์ชั่น 2.1หรือ 2.2 ก็เป็นการทำไปแก้ไปเรื่อยๆ ออกไปเรื่อยๆ"


ต้องมีทักษะอะไรเป็นพิเศษ? เขาบอกว่าหลายคนเข้าใจผิดคิดว่านวัตกรหมายถึงคนที่มักคิดนอกกรอบ อยากคิดอะไรก็คิดได้เลย แต่แท้จริงแล้วไม่มีใครเป็นฮีโร่ ผลลัพธ์ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่ง


"จริง ๆ ตัวผมมีหน้าที่มาแชร์ความฝันกับทรู คนที่มีบุคลิกจะมาทำตรงนี้ได้ไม่ใช่เป็นคนที่ต้องคิดเรื่องใหม่ ๆอย่างเดียว แต่ต้องเป็นที่คนมองหาข้อดีของทุกๆเรื่องได้และบายอิน ทั้งยังต้องเป็นคนที่ไปแชร์ความฝันให้คนที่มีพลังที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดได้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์เป็นคนที่มีจินตนาการที่สูงมากและมีแรงขับเคลื่อนด้วย ผมพูดตามตรงถ้าให้ผมทำเอง ก็คงไม่สามารถสร้างหลายๆอย่างให้เกิดขึ้นได้"


สเต็ปจากนั้น ตัวเขายังต้องมาแชร์ความฝันเพื่อให้ทีมบายอินด้วยว่าทำไมต้องทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมา เพราะทำคนเดียวคงไม่ได้จำเป็นต้องมาแชร์ความฝัน และถ้าใครไม่มีสกิลในการแชร์ความฝันแต่ไปบังคับให้คนอื่นฝืนทำแบบไม่มีใจให้ ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ โดยสรุปก็คือ ต้องเป็นคนที่มีจินตนาการ สามารถโน้มน้าวคนอื่นให้สนใจมาร่วมทำเพื่อให้ฝันเป็นจริง


แน่นอนนวัตกรรมยังเป็นเรื่องอนาคต..อาจสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้ จะสร้างพลังไปต่ออย่างไร? ดร.ธีระพลบอกเคล็ดลับว่าหลักการก็คือ ต้องสร้างความสำเร็จเล็กๆควบคู่ไปด้วย อย่ารอแค่ความสำเร็จใหญ่ๆเท่านั้น ไม่ใช้เวลาไป 6 เดือนเพื่อปั้นเรื่องใหญ่ๆ หวังสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ แต่สุดท้ายกลับเฟลก็คงไม่ใช่


"ชีวิตเราจำเป็นมีความสำเร็จเล็กๆ ต้องพยายามหามันควบคู่กับความสำเร็จใหญ่ๆ สองสามเดือนสำเร็จเรื่องนี้ สองสามเดือนสำเร็จอีกเรื่องเพื่อมาให้รู้สึกเอ็นจอยบ้าง ไม่ใช่คิดทำแต่เรื่องใหญ่แล้วก็เฟลตลอด เช่นเดียวกันการบริหารพอร์ตฟอริโอก็ต้องมีโปรเจ็คเล็ก ๆด้วย ไม่ใช่จะทำแต่เรื่องยากๆ การสำเร็จเรื่องเล็กๆ บ่อยๆ มันก็ส่งผลดีนะ"


ปีนี้มีเป้าหมายพัฒนานวัตกรรมอย่างไร คำตอบก็คือ การเป็น “เจ้าของ” เทคโนโลยี เพราะมองว่าประเทศไทยเลยยุคการเป็น “ผู้ซื้อ” เทคโนโลยีแล้ว เริ่มต้นที่ตัวเขาที่เวลานี้คิดค้นผลงานที่ได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาถึง 10 ผลงานเป็นที่เรียบร้อย


"ผมตั้งเป็นเคพีไอตัวเองเลย แปลว่าทุกปีต้องมีผลงานที่จดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาให้ได้อย่างน้อย 2-3 ผลงาน และพยายามสร้างวัฒนธรรมนี้ให้ทีมงานด้วยว่า เราต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเพราะจะทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในระยะยาว เพราะถ้ายังพึ่งพิงต้องซื้อเทคโนโลยี วันหนึ่งจะลำบาก"


ล่าสุดทีมงานนวัตกรของทรู อินโนเวชันและทรู โรโบติกส์ก็เพิ่งคว้ารางวัลจากเวทีนวัตกรรมระดับโลกก็คือ “XXIII Moscow International Inventions and Innovative Technologies Salon” (ARCHIMEDES-2020) ซึ่งจัดที่สหพันธรัฐรัสเซีย ได้ทั้งเหรียญทองจากผลงาน HOMEY ROBOT เหรียญเงิน จากผลงาน SERVICE ROBOT และเหรียญทองแดง จากผลงานแพลตฟอร์ม “ช่วยเลี้ยง” เพื่อการปศุสัตว์


“ตอนนี้หุ่นยนต์กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด ผมเชื่อว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์จะเข้ามาดิสรัปการทำงานอย่างมาก สำหรับทรู เราถือว่าเป็นยุคทองของเรา”


เขามองว่าในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนเปรียบเหมือนกับมือถือ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์มีแวลลูเชนค่อนข้างกว้างมาก มีทั้งเรื่องการออกแบบ ,ด้านวิศวกรรม,ด้านไฟฟ้า,ด้านอุปกรณ์ต่างๆที่เวลานี้ประเทศไทยจำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศแทบจะทั้งหมด เรียกได้ว่าไม่มีความมั่นคงและถือเป็นความเสี่ยง


ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นก็คือ ไทยต้องวางโพซิชั่นนิ่งให้ชัดว่าต้องการเป็นผู้เล่นตรงจุดใดของห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ต้องหาจุดเก่งให้เจอ และองค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ คนเก่ง อีโคซิสเต็มและ เงินทุน


"เรื่องแรก คนเก่ง ทุกวันนี้เรามีเด็กไทยที่เก่งและไปชนะประกวดเวทีหุ่นยนต์แทบทุกเวทีทั่วโลก เด็กไทยมีฐานรากที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญในวันนี้ก็คือ เราต้องรู้ว่ามีปรมาจารย์ที่เก่งด้านหุ่นยนต์ คนที่เป็นสุดยอดเทคโนโลยีด้านนี้อยู่ที่ไหนในโลก ต้องดึงพวกเขามาอยู่เมืองไทย ถามว่าจะมาไหม มาแน่นอนถ้าเรามีเงื่อนไขแรงจูงใจดีๆ แต่ทุกวันนี้ที่มันยากลำบากเพราะทุกๆ 3 เดือนเขาต้องไปต่อวีซ่า ต้องทำขั้นตอนเยอะแยะไปหมด แถมเสียภาษีสูงกว่าประเทศอื่น เพราะฉะนั้นเพียงแค่ปรับเรื่องพวกนี้ให้ถูกต้องก็เชื่อว่าคนเก่งๆเขามาแน่ ถ้าเขามาเด็กไทยเราเก่งอยู่แล้วก็จะพากันขึ้นไปได้"


ส่วนเรื่องของอีโคซิสเต็ม หมายถึงประเทศไทยต้องมีระบบนิเวศคือมีโรงงานมีเทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่พร้อมครบถ้วน และแน่นอนไม่มีอะไรเนรมิตขึ้นมาได้หากปราศจาก “เงินทุน”


"วันนี้เรากึ่งๆเป็นเทคโนโลยีอะด็อบเตอร์ เหมือนเรื่องอื่น ๆที่เรารับเทคโนโลยีมาแล้วก็เป็นผู้ใช้ที่ดี กลุ่มทรูเองช่วงแรกๆ ก็มีการนำเข้าหุ่นยนต์มาจากหลายประเทศ เราไปดีลกับเทคโนโลยีลีดเดอร์เพื่อช่วยให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยี เรียนรู้การเขียนซอฟท์แวร์ แต่มาถึงวันนี้เราเป็นเจ้าของหุ่นยนต์ เป็นเจ้าของเทคโนโลยี หุ่นยนต์ที่ไปชนะมาเราก็ทำเองทั้งหมด เป็นเจ้าของไอพีตั้งแต่การเคลื่อนไหว อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ เราออกแบบเองทั้งหมด เราเดินมาถึงขั้นพัฒนาหุ่นยนต์ของตัวเองได้แล้ว"