'บัตรเครดิต' คิด 'ดอกเบี้ย' อย่างไร? ทำความเข้าใจก่อนรูด

'บัตรเครดิต' คิด 'ดอกเบี้ย' อย่างไร? ทำความเข้าใจก่อนรูด

เปิดวิธีคิด "ดอกเบี้ย" ของ "บัตรเครดิต" ที่ควรทำความเข้าใจก่อนใช้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และใช้ให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของวงจรหนี้บัตรเครดิต

"บัตรเครดิต" ผลิตภัณฑ์ทางการเงินในมือของใครหลายๆ คนที่สามารถเป็นได้ทั้งตัวช่วยชั้นดี หากใช้อย่างเข้าใจ แต่ก็กลายเป็นศัตรูการเงินตัวฉกาจได้ง่ายๆ ถ้าใช้ไม่เป็น!

"กรุงทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดูหลักการคิด "ดอกเบี้ยบัตรเครดิต" เบื้องต้นที่คนใช้บัตรเครดิตทุกคนควรรู้ก่อนใช้ เพื่อให้เข้าใจหลักการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่อาจทำให้คุณกลายเป็นหนี้โดยไม่จำเป็นได้ง่ายๆ หากละเลยการทำความเข้าใจเรื่องนี้.. 

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า โดยทั่วไปบัตรเครดิตจะมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 18% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการชำระคืนของผู้ใช้บัตรเครดิตเอง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ 

159134225231

  •  จ่ายเต็มจำนวน จ่ายตรงเวลา ไร้ดอกเบี้ย 

วิธีใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้องและควรทำทุกครั้งที่ใช้ คือ "รูดเท่าไร จ่ายเท่านั้น" เนื่องจากบัตรเครดิตจะมี "ระยะปลอดดอกเบี้ย" ทำให้เราสามารถเลื่อนระยะเวลาการใช้เงินออกไปได้ โดยไม่เสียดอกเบี้ยใดๆ เลย 

เช่น บัตรเครดิตสรุปยอดทุกวันที่ 2 กำหนดชำระในทุกวันที่ 22 ของทุกเดือน เมื่อใช้บัตรเครดิตหลังจากวันที่สรุปยอดตั้งแต่แรกๆ เช่น หลังวันที่ 3 ของเดือนถัดไปเท่ากับว่ายอดหนี้ที่ใช้จะไปรวมกับยอดหนี้ในเดือนถัดไป นั่นเท่ากับว่าเรามีเวลาร่วม 1 เดือน ก่อนจะนำเงินไปชำระเงินคืนโดยไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการใช้เงินในแต่ละเดือนได้สบายๆ 

ทั้งนี้ ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยของบัตรเครดิตแต่ละใบ จะมีแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขของบัตร และธนาคารด้วย

สำหรับปัญหา "หนี้บัตรเครดิต" ที่หลายคนกำลังประสบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการชำระไม่ตรงเวลา หรือไม่เต็มจำนวน ซึ่งนำไปสู่การคิดดอกเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลา จนกว่าจะชำระหนี้หมดเต็มจำนวน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งลักษณะการชำระคืนที่ไม่เต็มจำนวน หรือไม่ตรงเวลา ส่งผลให้ถูกคิดดอกเบี้ยต่างกันออกไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  •  จ่ายเต็มจำนวน แต่ไม่ตรงเวลา โดน "ดอกเบี้ย 2 เด้ง" 

เด้งที่ 1 : ดอกเบี้ยของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตร

หากจ่ายช้ากว่าวันครบกำหนดชำระที่ธนาคารกำหนด แม้จะชำระเต็มจำนวนแต่จะต้องถูกคิดดอกเบี้ยของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันที่ชำระคืนครบทั้งหมด

วิธีคิด : ยอดที่ใช้จ่ายทั้งหมด x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันจากวันที่ทำรายการถึงวันที่สรุปยอดบัญชี / จำนวนวันใน 1 ปี

เช่น ซื้อสินค้า 20,000 บาท จะถูกต้องคิดดอกเบี้ยดังนี้ 20,000 x 18% x 22 (วันที่ใช้ 12 ม.ค. ถึงวันสรุปยอดบัญชี 2 ก.พ.) / 365 ดอกเบี้ยเด้งแรก = 216.99 บาท

เด้งที่ 2 : อาจมีค่าทวงถามหนี้ และอาจมีผลต่อประวัติชำระหนี้

อัตราค่าทวงถามหนี้เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด โดยส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/รอบบัญชี ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคารซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไข อัตราค่าธรรมเนียมติดตามทวงถามหน้ีสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ

เพราะฉะนั้น หากผู้ใช้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตรงตามเวลา และจ่ายครบทั้งหมด จะต้องถูกคิดดอกเบี้ย และค่าทวงถามเบื้องต้นใน 1 รอบบิล เป็นเงิน 216.99 + 100 บาท = 316.99 บาท ที่สำคัญคือตราบเท่าที่ยังไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ครบทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย บัตรเครดิตจะเรียกเก็บดอกเบี้ยด้วยวิธีการนี้ไปเรื่อยๆ 

  •  จ่ายตรงเวลา แต่ไม่เต็มจำนวน โดนดอกเบี้ย 3 เด้ง 

พฤติกรรมการชำระบัตรเครดิตที่พบบ่อยที่สุดคือ "จ่ายไม่เต็มจำนวน" "จ่ายแค่ขั้นต่ำ 10% ของยอดหนี้" หรือ "จ่ายน้อยกว่าขั้นต่ำ 10% ของยอดหนี้" ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรหนี้บัตรเครดิตที่ยากจะหลุดรอด ตราบใดที่ยังมีพฤติกรรมการจ่ายเหมือนเดิมต่อไปเรื่อยๆ

หลักการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตเมื่อชำระไม่เต็มจำนวน แม้จะไม่เสียประวัติการชำระหนี้แต่จะต้องถูกคิดดอกเบี้ย และค่าทวงถามเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ได้ไม่คุ้มเสียในระยะยาว

ตัวอย่างเช่น รูดเงินซื้อสินค้า 20,000 บาท และชำระคืนขั้นต่ำเพียง 10% เป็นเงินจำนวน 2,000 บาท ผู้ใช้จะต้องเสียดอกเบี้ย 2 เด้งในกรณีที่ชำระขั้นต่ำเพียง 10% หรือเสียดอกเบี้ย 3 เด้งในกรณีที่ชำระน้อยกว่า 10% ของยอดหนี้ทั้งหมด

เด้งที่ 1 : ดอกเบี้ยของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตร

วิธีคิด : ยอดที่ใช้จ่ายทั้งหมด x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันจากวันที่ทำรายการถึงวันที่สรุปยอดบัญชี / จำนวนวันใน 1 ปี

ในกรณีนี้จะถูกคิดดอกเบี้ยเด้งแรกจากยอดที่ใช้ไปทั้งหมด คือ 20,000 x 18% x 22 / 365  = 216.99 บาท

เด้งที่ 2 : ดอกเบี้ยของยอดที่ยังไม่ได้ชำระ หรือยอดคงค้าง

นอกจากการคิดดอกเบี้ยจากยอดทั้งหมดแล้ว หากชำระไม่ครบทั้งจำนวน จะต้องถูกคิดดอกเบี้ยเด้งที่ 2 จากยอดหนี้ที่เหลือ หรือยอดที่ยังไม่ได้ชำระด้วย โดยจะถูกตามวิธีดังต่อไปนี้ 

วิธีคิด : ยอดที่ยังไม่ได้ชำระ (ยอดคงค้าง) x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันจากวันที่ชำระคืนบางส่วน ถึงวันสรุปยอดบัญชีครั้งถัดไป / จำนวนวันใน 1 ปี

จากกรณีตัวอย่าง มียอดคงเหลือ 18,000 บาท (ยอดเต็ม 20,000 บาท ชำระขั้นต่ำไป 2,000 บาท) สามารถคำนวณตามวิธีคิดได้ดังนี้ 18,000 x 18% x 12 /365 = 168.66 บาท 

เพราะฉะนั้น ผู้ใช้จะต้องถูกคิดดอกเบี้ยในยอดบิลถัดไป เป็นเงิน 216.99 (เด้งที่ 1) + 168.66 (เด้งที่ 2) = 385.65 บาท และจะถูกคิดดอกเบี้ยด้วยวิธีการนี้ไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ครบทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย

นอกจากการชำระขั้นต่ำ 10% แล้ว ในกรณีที่ผู้ใช้ชำระเงินคืนไม่ถึง 10% ในแต่ละรอบบิล จะถูกคิดดอกเบี้ยตามวิธีข้างต้นทั้ง 2 เด้งแล้ว ยังจะโดน เด้งที่ 3 คือ อาจมีค่าทวงถามหนี้เพิ่มขึ้นมาตามเงื่อนไขของธนาคารเฉลี่ยประมาณ 100 บาท/รอบบิล (ตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร) รวมถึงมีผลต่อประวัติชำระหนี้ ที่อาจส่งผลต่อเครดิตในการของสินเชื่อในอนาคตได้