“เขมทัตต์” จ่ออุทธรณ์ มติกสทช.เยียวยาคลื่น 2600
ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ต้องติดตาม หลังที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พิจาณาเรื่องการทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500- 2690 เมกะเฮิรตซ์
ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ภายใต้วงเงินกว่า 3,235 ล้านบาท โดยมีข้อมูลบางส่วนที่อสมท.ทำจดหมายถึงกสทช. เกี่ยวกับการแบ่งเงินเยียวให้กับเอกชนคู่สัญญา “เท่าๆกัน” จนทำให้เกิด “แรงเสียดทาน” จากคนในองค์กร ผู้ถือหุ้น และการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ที่ไขก๊อกลาออก
บางส่วนมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการ “รักษาผลประโยชน์” ขององค์กรและประเทศ โดยเฉพาะจาก “สภาพแรงงาน” ของอสมท แต่เพื่อเป็นการไขข้อสงสัย และแจงข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว วานนี้ (18 มิ.ย.) เขมทัตต์ พลเดชกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) จึงตั้งโต๊ะให้ข้อมูลการเยียวยาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ โดยเฉพาะการแบ่งเงินเยียวยาให้กับคู่สัญญา “เท่าๆกัน” เป็นการเรียกร้องเฉพาะในส่วนของ “อสมท” เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การเรียกร้องหรืออ้างถึงเอกชนคู่สัญญาแต่อย่างใด
“ที่บอกว่าอสมท ยอมรับแบ่งเงินเยียวยาให้คู่สัญญา 50% เท่ากัน ไม่เป็นความจริง และยืนกรานว่าสิ่งที่พูดทั้งหมดเป็นในนามอสมท ไม่เกี่ยวกับคู่สัญญา หากคู่สัญญาต้องการเงินเยียวยาให้ไปดำเนินการเอาเอง”
นอกจากนี้ การเคาะวงเงินเยียวกว่า 3,200 ล้านบาท กสทช.ได้อ้างถึง “อสมท” ให้ไปดำเนินการเยียวยาแบ่งกับเอกชนด้วย ซึ่งยืนยันว่าบริษัทไม่เคยยอมรับในหลักการนี้
ประเด็นเงินยังไม่หมด เพราะตัวเลขเยียวยาที่กสทช.เคาะมาเป็นวงเงินที่ “ต่ำกว่า” ตัวเลขที่อสมท ประเมินไว้ที่มูลค่า 5,992 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเสียหายที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น เงินลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆวงเงิน 950 ล้านบาท และค่าเสียโอกาส(Opportunity cost)จากการไม่ได้ประกอบธุรกิจมูลค่า 5,842 ล้านบาท หากกสทช.ยังพิจารณาใช้วงเงินกว่า 3,200 ล้านบาท เป็นตัวตั้ง บริษัทไม่ยอมรับและจะดำเนินการอุทธรณ์ทั้งวงเงินรวมถึงการแบ่งเงินเยียวยาให้คู่สัญญาต่อไป
“ตัวเลข 3,200 ล้านบาท เราไม่เคยยอมรับเลย แม้ตัวเลขที่ต้องการจะมีมูลค่าหมื่นล้านบาท แต่เมื่อพิจารณา และคำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้น เงินเยียวที่เหมาะสมอยู่ที่ 5,992 ล้านบาท เนื่องจากมีการคำนวณระยะเวลาการใช้คลื่นที่กสทช.ระบุว่าเหลือ 6 ปี ส่วนอสมทยืนยันอายุคลื่นตามสัญญาคือ 15 ปี ทั้งนี้ขอย้ำประเด็นสำคัญ กสทช.ไม่ควรบอกตัวเลข 3,200 ล้านบาท แล้วให้ อสมท แบ่งกับคู่สัญญาแต่ควรบอกตัวเลขนี้เยียวยา อสมท เท่านั้น คู่สัญญาเยียวยามูลค่าเท่าไหร่ไม่ทราบ และสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดขององค์กรต้องไปดำเนินการล็อกไม่ให้กสทช.อนุมัติตามสัญญาเพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้อสมทเสียเปรียบได้”
อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันการทำหน้าที่ของผู้บริหารในการรักษาผลประโยชน์ให้องค์กร ผู้ถือหุ้น และพนักงานอสมท หากเงินเยียวยา และการแบ่งเงินเยียวยากับคู่สัญญาไม่เป็นไปตามที่อสมทเรียกร้อง จะทำหนังสืออุทธรณ์ถึงกสทช. หลังจากได้รับมติคณะกรรมการ(บอร์ด)ของกสทช. ส่วนกรณีเลวร้ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอาจนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อไป
“ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริษัทได้หารือเกี่ยวกับการรับเงินเยียว 3,200 ล้านบาทมาก่อนแล้วทำการอุทรณ์ภายหลัง ผมไม่เห็นด้วย เพราะหากดำเนินการเช่นนั้นจะถือเป็นการยอมรับมติของกสทช.”
สำหรับการถือครองคลื่น 2600 ที่อสมท ได้ร่วมมือกับเอกชนคู่สัญญาคือ “บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด” เพื่อประกอบธุรกิจทีวีแบบบอกรับสมาชิกสร้างมูลค่าเพิ่ม ท่ามกลางธุรกิจสื่อที่มีการเติบโตลดลง ทั้งนี้ ยังมีการจัดทำประมาณการรายได้และกำไรตลอดอายุคลื่นเป็นเวลา 15 ปี อยู่ที่ 226,830 ล้านบาท และจากการเรียกคืนคลื่นจะเสียโอกาสนำส่งรายได้ให้กสทช.ราว 5 หมื่นล้านบาท