‘อายโฮม’ฉีกตำราร้านแว่น เปิด24ชั่วโมงจำกัดวันละ5คน
‘EyeHome’แบรนด์ร้านแว่นตาน้องใหม่ที่‘ฉีกแนว’ในการบริการที่สร้างความแตกต่างจากร้านแว่นตาทั่วไปด้วยการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงแต่‘จำกัด’จำนวนลูกค้าเข้ามารับบริการแค่วันละ 5 รายเท่านั้น!!! ลูกค้าต้องนัดก่อนล่วงหน้า และระหว่างรอจะมีน้ำ ขนม เกมส์ แก้เบื่อ
จากแนวคิดที่ ‘ทำลาย’ ทุกกฎของการเป็นร้านแว่นตา ทั้งทำเลร้านที่ตั้ง มีแว่นตาให้ลองที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งาน ‘ไม่’ เน้นแฟชั่นน้ำหนักเบา ใส่สบาย‘ไม่มี’แว่นตากันแดดจำหน่าย ระยะเวลาการบริการที่นานเป็นชั่วโมงกว่าปกติที่เคยไปใช้บริการตามร้านแว่นตา รวมถึงรายละเอียดความใส่ใจต่างๆ ที่ผู้ใช้บริการร้านแว่นตาไม่เคยได้รับมาก่อน กลายเป็น Word of Mouth
ธนิดา ผดุงเกียรติสกุล และประมาณ ภัทรชัยวงศ์ เจ้าของร้านแว่นตา EyeHome เล่าว่า จากพื้นฐานของครอบครัวธนิดา ทำร้านแว่นตามาก่อน แถวสามย่าน เธอเติบโตมาจากร้านแว่นตาและใส่แว่นตาตั้งแต่เด็ก หลังจากจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ลองทำงานที่สำนักงานกฏหมายต่างชาติ รู้สึกว่าไม่ใช่ งานที่อยากทำหลังจากนั้นออกมาช่วยงานในร้านแว่นตาของครอบครัว พร้อมกับเรียนปริญญาตรี คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงต่อเพราะตั้งใจว่าจะทำงานในร้านแว่นตาจริงจัง
“หลังจากเรียนรู้สึกชอบ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตั้งแต่ขวบครึ่งเริ่มใส่แว่นตาแล้ว เนื่องจากสายตาสั้น 800 ปัจจุบันสายสั้น1,800 เอียง250 ในระหว่างเรียนช่วยงานที่บ้านทำให้ได้ฝึกไปด้วยทำให้สามารถผสมผสานความรู้จากทบ.และประการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาใช้ได้ดียิ่งขึ้นเหมือนเป็นการเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ในการทำงานของนักทัศนมาตร”
หลังจากเธอแต่งงานกับประมาณ ภัทรชัยวงศ์ จึงตัดสินใจเปิดร้านแว่นตา “EyeHome” ขึ้นมา เพื่อสนองตอบความต้องการของตนเองที่ต้องการวัดสายให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการได้เต็มที่เริ่มจากซักประวัติ ตรวจสุขภาพตา แทนที่จะวัดแค่สายตาอย่างเดียว เพราะไหนลูกค้าก็มาตรวจตาทั้งที ซึ่งถือเป็นด่านแรกในการดูแลสุขภาพสายตา เพราะจากประสบการณ์พบว่า ร้านแว่นตาในห้างมี‘ข้อจำกัด’ เรื่องบริการลูกค้านานไม่ได้ เพราะลูกค้าเข้ามารอจำนวนมาก โดยเฉพาะวันเสาร์ -อาทิตย์
จึงอยากให้บริการลูกค้าเต็มที่ หากเจอปัญหาจะได้รีบส่งต่อไปยังจักษุแพทย์ได้ทันเวลา เพราะถ้าตรวจแค่ค่าสายตาอาจไม่รู้ปัญหาสายตาอย่างอื่น เสมือนเป็นการตรวจสุขภาพสายตาประจำปี เพราะปัญหาเกี่ยวกับโรคตาไม่สามารถแก้ไขให้หายได้แค่ชะลอไม่ให้แย่ไปกว่าเดิมถ้าไม่รีบป้องกันรักษาอาจไม่ทันเวลา จึง‘จำเป็น’ต้องใช้เวลานานประมาณ45นาที ชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาสายตาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จากประสบการณ์ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการรู้สึกชอบ เพราะต้องการมาตรวจให้ละเอียด
“ไม่ใช่กิมมิกทางการตลาด เพื่อใช้ดึงดูดความสนใจของคนไข้ให้เข้ามาใช้บริการ เพราะกำไรน้อยมาก เนื่องจากจำนวนลูกค้าแค่หยิบมือเดียว วันหนึ่งละ 4-5 คนเท่านั้นถ้าใจไม่รักจริงทำไม่ได้ ในช่วงโควิด-19 ลดจำนวนลงเหลือวันละ 4 คนเพื่อเข้ากับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจากเฉลี่ยคนละ2 ชั่วโมง เป็นคนละ3 ชั่วโมงในการตรวจและเลือกแว่นตา ให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อคิวถัดไปมาไม่ต้องมานั่งรอ ”
ทำให้ไอเดียทำธุรกิจร้านแว่นตาของ EyeHome สอดรับกับความปกติรูปแบบใหม่จากโควิดทำให้คนที่เข้ามาใช้บริการเกิดความสบายใจ เพราะใช้ระบบนัดไม่ต้องรอให้เสียเวลา ส่งผลให้8 เดือนที่ผ่านมา ได้ผลการตอบรับดีมากมีคนไข้เข้ามาใช้บริการประมาณ600-800รายจากที่ตอนแรกคิดว่า แค่พออยู่รอด เพราะไม่เคยมีใครทำร้านแว่นตาแบบนี้มาก่อนกลับกลายเป็น ‘ผู้มาก่อนกาล’ ที่สามารถแก้ Pain Point ของลูกค้าให้ถูกจุดจนประสบความสำเร็จเติบโตอย่างรวดเร็ว
“ ทีแรกคิดว่า วันละคนก็เก่งแล้วแค่จ่ายค่าน้ำค่าไฟก็พอ แต่ปรากฏว่ามีคนจองเข้ามาเรื่อยๆ วันละ 4-5 คนทำให้มีรายได้อยู่ได้ล่าสุดสามารถคืนทุนค่าเครื่องตรวจสายตาราคาหลักหลักล้าน เพราะเราไม่มีต้นทุน ค่าเช่าพื้นที่เหมือนกับร้านแว่นตาในห้างทำให้สามารถลดราคาให้ลูกค้าได้ ”ประมาณ กล่าว
สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการช่วงแรกเป็นกลุ่มวัยรุ่น หลังจากผ่านไป 4-5เดือนกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นเหล่านั้นจะชวนพ่อแม่ พี่น้องเพื่อนฝูง มาใช้บริการมากขึ้น เริ่มมีการบอกต่อปากต่อปาก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพตาของตนเองและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ‘ไม่ใช่’แค่วัดสายตาเพื่อตัดแว่น เพราะตามีอยู่คู่เดียวเขาอยากรักษาดวงตาของเขาไว้ให้นานที่สุด จึงอยากให้ตรวจละเอียดและพิถีพิถันมากที่สุด ยอมใช้เวลาในการตรวจนานขึ้น ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นลูกค้าที่มีปัญหาสายตาเยอะ
“ไม่น่าเชื่อว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ มีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตั้งแต่เหนือจรดใต้ เพราะเป็นระบบจองทำให้ลูกค้าสามารถเลือกวันที่เขาสะดวกเดินทางมาหาเราตามนัด ทั้งจากเชียงใหม่ เชียงราย ตราด ระยอง สุราษฎร์ธานี”
ธนิดา กล่าวว่า ตามปกติ1-2 ปีลูกค้าที่มีปัญหาสายตามักจะมาเปลี่ยนแว่นหรือเลนส์ แต่ร้านเพิ่งเปิดมาได้8เดือนฉะนั้นลูกค้าคนแรกของทางร้านจึงยังไม่ถึงรอบที่จะเข้ามาเปลี่ยนแว่นหรือเลนส์ แต่เขาเริ่มจะพาคนอื่นเข้ามาหรือบางคนกลับมาทำแว่นเพิ่มหลังจากที่ใส่ไปแล้วชอบกลับมาทำอันที่สอง อันที่สามเพราะไม่ต้องวัดสายตาแล้ว ถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นที่ให้ดูแลสุขภาพสายตาให้เขา หากเป็นไปได้อยากตรวจสุขภาพตาให้ทุกปีเหมือนกับการที่ทุกคนควรตรวจสุขภาพร่างกาย
“เราตั้งใจทำธุรกิจแบบครอบครัวไม่ได้หวังจะรายได้เติบโตไปมากมายแค่อยากดูแลคนไข้ที่เป็นลูกค้าประจำไปเรื่อยๆเหมือนญาติ ในอนาคตอาจจะลดจำนวนลูกค้าขาจรลงเพราะปริมาณลูกค้าประจำเพิ่มขึ้นต้องมีสเปซให้กับลูกค้าประจำมากขึ้น ” นักทัศนมาตรสาวกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากกระแสการตอบรับที่ดี จนมีลูกค้าเรียกร้องให้ขยายสาขาไปในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการเดินทางจากปัจจุบันที่อยู่ในซอยอุดมสุข (สุขุมวิท103) ทำให้ต้องศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการขยายบริการ หรือขยายสาขาเพื่อรองรับลูกค้า แต่ด้วยมาตรฐานที่ ธนิดา และประมาณ วางไว้คือ ต้องการนักทัศนมาตร เข้ามาร่วมงาน เป็นเรื่องยาก เพราะปริมาณนักทัศนมาตร ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยประมาณ300 คนขณะที่ร้านแว่นตาในประเทศมีจำนวนกว่า1หมื่นร้าน จึงเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง ทำให้แผนการขยายสาขายังไม่มีบทสรุป
“จุดแข็งสำคัญของร้านแว่นตาเราคือประสบการณ์การบริการที่ไม่เหมือนใคร จนลูกค้าบอกต่อ แต่ที่ทำมาทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจการทำงานที่ชอบ บวกความกล้าที่ลงมือทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น ที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน ”