'เรียลแอสเสท' เบรก 2 โครงการ พิษโควิดชะลอแผนเข้าตลาด
เรียลแอสเสท เผยแผนครึ่งปีหลังชะลอลงทุนแนวราบ 2 โครงการ เบรคแผนเข้าตลาดไม่มีกำหนด หลังเผชิญพิษโควิด เศรษฐกิจไม่เอื้อ ระบุภาพรวมอสังหาฯปี 63 วิกฤติสุดรอบ 10 ปีคาดใช้เวลา 2 ปีฟื้นตัว
นายบดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายเป็นลำดับ แต่ผลกระทบกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นคาดว่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกจากยอดขายและยอดเข้าชมโครงการที่เพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค.และมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ในระยะยาวคงต้องลุ้นกันต่อกับสถานการณ์โควิด-19ว่าจะกลับมาระบาดในระลอกที่ 2 หรือไม่หลังคลายล็อกดาวน์
“ในสภาวการณ์เช่นนี้จึงจำเป็นที่ต้องเลื่อนเปิดตัวโครงการแนวราบ2 โครงการคือโครงการบ้านเดี่ยว แบรนด์ วิรัณยา จำนวน150 ยูนิต รวมทั้ง 2 โครงการมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท และทาวน์โฮม แบรนด์สตอรี่ส์ ย่านลำลูกกา คลอง5 ออกไปก่อนเพื่อให้เหมาะกับดีมานด์และกำลังซื้อในแต่ละทำเล ส่วนโครงการทาวน์โฮมบริเวณสุขาภิบาล 2 ภายใต้แบรนด์ เพล็กซ์ จำนวน 227 ยูนิต มูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท กำลังจะเปิดพรีเซล 11-12 ก.ค.นี้ เพื่อรองรับกับความต้องการผู้ที่ต้องการบ้านแนวราบมากขึ้นหลังจากที่เกิดโควิด-19”
สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ “เดอะ สเตจ”มูลค่า 4,000 ล้านบาทในย่านห้วยขวาง ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มทุนอสังหาฯระดับกลาง จากเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการเปิดตัว คาดว่าน่าจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาส4 ปีนี้ โดยมีขนาดพื้นที่ใช้สอยเริ่มต้นที่ 27 ตร.ม. ราคาขายประมาณ 100,000 บาท/ตร.ม.
ส่วนผลการดำเนินการปีนี้ ประเมินว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี โดยจะปรับตัวลดลง50%จากยอดขาย4,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ชะลอแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างไม่มีกำหนดไปก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการระดมทุน
นายบดินทร์ธร ยังคาดว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯปีนี้ตัวเลขยอดขายและยอดการเปิดตัวโครงการลดลงมากที่สุดในรอบ10 ปี จากปกติที่ยอดการเปิดตัวเฉลี่ยปีละ8-9หมื่นยูนิตแต่ในปีนี้คาดการณ์ว่าลดลงเหลือแค่5หมื่นยูนิต ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 คาดว่าต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว2-3 ปีกว่าตลาดจะกลับมา ขณะเดียวกันรูปแบบการทำตลาดต้องปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย อาทิ การให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยในโครงการมากขึ้นนอกเหนือจากฟังก์ชั่นพื้นฐานที่ต้องมีอยู่แล้ว
“แนวทางการทำตลาดในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กรจำเป็นที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นพร้อมกับการสร้างการจดจำแบรนด์ เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ ในกลุ่มลูกค้าทั้งวัยทำงาน คนรุ่นใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็ว พร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสื่อสารไปยังคนใกล้ชิดญาติ พี่น้องเพื่อนฝูงมากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้และความคุ้นเคยมากขึ้น การทำงานในรูปแบบดังกล่าช่วยทำให้ได้ไอเดียที่แปลกใหม่พร้อมกับการสร้างแบรนด์ไปด้วย”