เปิดอาณาจักร ‘เครื่องปรุงรส’ ไทย วัตถุดิบเล็กๆ ที่ครองเบอร์ 3 ตลาดโลก

เปิดอาณาจักร ‘เครื่องปรุงรส’ ไทย วัตถุดิบเล็กๆ ที่ครองเบอร์ 3 ตลาดโลก

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ตลาด "เครื่องปรุงรส" ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยครองตลาดเป็น "เบอร์ 3 ของโลก" มาดูกันว่าในตลาดไทย มีแบรนด์ใดบ้างที่เข้ามาช่วงชิงตลาดนี้

หนึ่งในวัตถุดิบการทำอาหารที่ทุกบ้านต้องมีติดไว้ นั่นคือเครื่องปรุงรส ที่เข้ามาช่วยสร้างรสชาติให้ดีขึ้น และยิ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการทำอาหารสำหรับเครื่องปรุงรสสำเร็จรูป ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมทำอาหารเองมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤติที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทำให้ปัจจุบันตลาดเครื่องปรุงรสในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก และยังเติบโตในตลาดต่างประเทศด้วย

สะท้อนจากเมื่อเร็วๆ นี้อรมน ทรัพย์ทวีธรรมอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ออกมาตอกย้ำประเด็นนี้ว่า สินค้าเครื่องปรุงรสอาหาร เป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นของไทย และมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้คนหันมาทำอาหารเองมากขึ้น โดยเครื่องปรุงรสประกอบอาหารสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา เครื่องแกงปรุงรส  ผงปรุงรส เป็นต้น

ตัวเลขการส่งออก ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ไทยครองผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเป็นอันดับ 3 ของโลก มูลค่าสูงถึง 135.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเพิ่มขึ้นราว 18% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่าการส่ง 790 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองสหรัฐและจีน โดยตลาดสำคัญเติบโตทั้งหมด เช่น เกาหลีใต้ ขยายตัวสูงสุด 33% อาเซียนและออสเตรเลีย ขยายตัว 25%

    

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนการส่งออกนั้น เกิดจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับ 15 ประเทศ ทั้งหมด 13 ฉบับ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม บูรไน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ชิลี และเปรู ส่งผลให้ได้รับการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเครื่องปรุงรสจากไทย

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวปิดท้ายว่า ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เนื่องจากความนิยมอาหารไทยที่เพิ่มขึ้น พร้อมแนะว่าผู้ประกอบการไทยเองควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย และมองหาตลาดใหม่ๆ ที่ตลาดไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย

159420800950

ทั้งนี้หากเจาะลึกไปที่เครื่องปรุงรสอย่างผงชูรสและผงปรุงรส จะเห็นว่าแบรนด์หลักๆ ก็คือ บริษัท อายิโนะโมโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผงชูรสแบรนด์ถ้วยแดง แต่ผู้คนมักติดปากว่าเป็นแบรนด์อายิโนะโมโต๊ะ ที่ก่อตั้งขึ้นราว 60 ปีก่อน หรือประมาณปี 2503 โดยจากข้อมูลเมื่อปี 2561 บริษัท อายิโนะโมโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ครองตลาดเป็นอันดับ 1 ในไทย ด้วยมาร์เก็ตแชร์ราว 75%

นอกจากนี้ภายใต้บริษัทนี้ยังแตกไลน์ผลิตภัณฑ์สร้างความหลากหลาย ทั้งผงปรุงรสแบรนด์รสดี, รสดีเมนู, รสดีซุปก้อน และต่อยอดสู่เครื่องปรุงรสสำหรับอาหารจีนแบรนด์กุ๊กดู ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตรวมทั้งหมด 6 แห่ง

หากดูรายได้ปี 2563 พบว่า บริษัท อายิโนะโมโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวม 2.60 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 5.10 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 957 ล้านบาท หรือมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 23.09%

159420818924

ขณะที่มาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ในตลาดผงชูรส เป็นของ บริษัท ไทยชูรส จำกัด ที่ครองตลาดไทยอยู่ราว 20% ทิ้งห่างจากเบอร์ 1 ค่อนข้างมาก โดยมีแบรนด์ในเครืออย่าง ตราชฎา ถ้วยไทย และเรือปลา รวมถึงมีการแตกไลน์การผลิตไปสู่ผงปรุงรสสำเร็จรูปเช่นเดียวกันภายใต้แบรนด์โอชา

รวมถึงยังมีแบรนด์ชฎาทองที่ผลิตน้ำมะขามเปียก และเข้าไปแจมในตลาดน้ำยาล้างจานด้วยภายใต้แบรนด์วีแมกซ์

ปี 2562 บริษัท ไทยชูรส จำกัด โกยรายได้ไปราว 1.07 พันล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 201 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 59.23% ซึ่งอยู่ที่ 126 ล้านบาท

159420834543

ขณะเดียวกันยังมีผงชูรสแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ในท้องตลาดอีกและครองมาร์เก็ตแชร์รวมราว 5% อย่างเช่น บริษัท ราชาชูรส จำกัด ที่ผลิตผงชูรสตราช้อนออกสู่ท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2562 บริษัท ราชาชูรส จำกัด มีรายได้รวมอยู่ที่ 2.96 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ราว 4.52% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 493 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 8.43%

รวมถึงยังมีผงชูรสแบรนด์ภูเขา ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เค ที เอ็มเอสจี จำกัด หรือ "อายิโนะทาการะ" ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสมาด้วยภายใต้แบรนด์รสหนึ่ง ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 โดยปีที 2561 บริษัทมีรายได้รวม 318 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 755,366 บาท

และอีกหนึ่งบริษัทที่เป็นที่รู้จัก และเพิ่งเปิดตัวในปี 2542 คือ บริษัท เอฟ-พลัส จำกัด ผู้ผลิตผงชูรสตราต้นไม้แดง หรืออากาเนะ และผงปรุงรสแบรนด์ฟ้าไทย เติมทิพ และพ่อครัวทอง นอกจากนี้ยังโปรดักส์ เช่น น้ำชงสำเร็จรูปชนิดผงแบรนด์สวีทตี้

โดยข้อมูลจากปี 2562 บริษัท เอฟ-พลัส จำกัด มีรายได้รวม 1.54 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 16% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 179.85%

อย่างไรก็ตามยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เข้ามาช่วงชิงตลาดเครื่องปรุงรสอยู่อีกมาก จึงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างมาก เพราะแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและดูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์นั่นเอง 

ที่มา : dtn, NFI.FICbrandage,